เพื่อนหลายคนคงได้ยินหรือแม้กระทั่งเคยได้อ่านบทความเรื่องเกี่ยวกับระบบ DSTAR ในบล็อกของเราไปแล้ว แต่อาจจะยังไม่มีเครื่องวิทยุที่จะใช้กับระบบนี้ได้โดยตรง เราก็มีเทคนิคมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าเราจะเข้าไปคุยกับเพื่อนๆ ได้อย่างไรโดยผ่านคอมพิวเตอร์ ผม (ผู้เขียน: สิปปภาส นิพนธ์กิจ E24MTA) จึงนำมาเล่าให้ได้ฟังกัน โดยแบ่งบทความออกเป็นสองตอน โดยในตอนแรกจะกล่าวถึงการใช้งาน BlueDV และใช้งานเชื่อมต่อโดยตรงกับคอมพิวเตอร์แบบ PC ผ่าน USB port และสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ผ่านสาย OTG (On-The-Go) ในอีกตอนหนึ่งจะคุยเรื่องการใช้งานแบบ AMBE โดยไม่ใช้สายต่อ OTG และช่อง USB ครับ
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
ตอนที่ 1
การใช้งานระบบ D-STAR โดยไม่ใช้งานเครื่องวิทยุรับส่งเป็นอันเข้าใจกันว่าการใช้งานระบบสื่อสารทั่วไป เราจะมีเครื่องวิทยุรับส่งเป็นส่วนหนึ่งในการติดต่อสื่อสารเป็นหลัก (และแทบจะเป็นตัวเดียว) แต่รูปแบบการสื่อสารปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เราได้รวบรวมเอาเทคโนโลยีการสื่อสารหลายรูปแบบมาผสมผสานกัน ก็สุดแต่จะออกแบบกันไปได้ล่ะครับ หนึ่งในผลพวงการออกแบบเหล่านั้นคือระบบ D-STAR (Digital Smart Technology for Amateur Radio) ที่ผสมระหว่างการสื่อสารด้วยวิทยุรับส่งแบบดิจิตอลและระบบ Internet เข้าด้วยกัน
ที่นี้ถ้าเราไม่มีเครื่องวิทยุแบบ DSTAR ที่ว่าล่ะ จะทำอย่างไร เพราะสนนราคาก็ไม่ได้ถูกนักในเวลานี้ เราก็มีวิธีที่จะร่วมติดต่อสื่อสารแบบไม่ใช้เครื่องวิทยุรับส่งได้อยู่ เพื่อให้หลายๆ ท่านได้เข้าถึงระบบนี้ได้ในงบประมาณที่ไม่สูงนัก โดยใช้อุปกรณ์ช่วงในการเข้ารหัสและถอดรหัสสัญญาณที่ชื่อว่า ThumbDV ราคาประมาณสี่พันบาท (ขณะที่เขียนบทความนี้ ผู้จำหน่าย จำหน่ายในราคาพิเศษ ที่ 99USD ไม่รวมค่าส่งอีกประมาณ 15 USD) ข้อดีของอุปกรณ์ที่ว่านี้คือเรายังสามารถใช้ติดต่อสื่อสารในระบบอื่นได้อีกเช่น DMR และ Fussion ในอนาคตด้วย
ส่วนประกอบที่ต้องมีได้แก่
- ThumbDV หรือ DV Mega Dongle แบบ USB
- สายเชื่อมต่อ OTG สำหรับผู้ใช้งานผ่าน Smart Phone (แบบ Android นะ ส่วน IOS จะใช้อุปกรณ์ในรูปแบบนี้ไม่ได้นะจ๊ะ)
- เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ PC หรือ Smart Phone ที่ลง โปรแกรม BlueDV ได้
เมื่อต่ออุปกรณ์และลงโปรแกรมต่างๆ ครบถ้วน ตั้งค่าต่างๆ ที่ท่านได้ลงทะเบียนกับระบบไว้ จากนั้นเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเน็ตบ้าน หรือเน็ตจาก hotspot ที่ใช้มือถือแจกออกมา ท่านก็สามารถใช้งานได้ทันที เป็นไงครับ ดูอะเมซิ่งลิงโลดมากเลยใช่ไหมครับ
และใน ตอนที่ 2 เราจะมาคุยเรื่องการตั้งค่าใช้งานให้ละเอียดขึ้น ติดตามกันนะครับ
73 สิปปภาส นิพนธ์กิจ (E24MTA)