วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

มารู้จักวิทยุสื่อสารระบบ DSTAR กันเถอะ


การสื่อสารระบบต่างๆ ที่นักวิทยุสมัครเล่นสามารถใช้งานได้ ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยด้วยกันเอง ถ้ามองในมุมกว้าง เมื่อก่อนเราใช้การสื่อสารด้วยรหัสมอร์สและเสียงพูดเท่านั้น ต่อมาราว 20 ปีที่แล้วก็มีระบบแพ็คเก็ตเรดิโอ (Packet Radio ปัจจุบันไม่นิยมใช้งานแล้ว) ตามด้วยระบบดิจิตอลต่างๆ (FT8, PSK31, JT65 และอื่นๆ อีกมากมาย) เพิ่มขึ้นมา รวมทั้ง SSTV (Slow Scan TV) ที่สามารถส่งภาพผ่านวิทยุสื่อสารที่เราใช้กันอยู่ได้ด้วย

DSTAR คืออะไร

คำหนึ่งที่เพื่อนๆ อาจจะได้ยินบ่อยมากในช่วงหลังๆ นี้อีกคำว่า DSTAR พอได้ยินคำนี้หลายคนอาจจะนึกไปถึงดวงดาว ดาวเทียม อะไรไปโน่นเลย ที่จริงแล้วตัวหนังสือนี้เป็นคำย่อที่มาจาก Digital Smart Technology for Amateur Radio มีความหมายรวมความว่าเป็นเทคโนโลยีดิจิตอลแบบฉลาดที่นำมาใช้ในระบบวิทยุสมัครเล่น เริ่มต้นพัฒนาร่วมกันระหว่าง JARL และ ICOM ส่วนสิทธิบัตรการเข้าและถอดรหัสเสียงมาจาก บริษัท DVSI ซึ่งรู้จักกันในชื่อของชิพ AMBE ซึ่งระบบดิจิตอลในวิทยุสื่อสารส่วนใหญ่เลือกใช้
วิทยุสื่อสาร DSTAR
Icom ID-51A Plus2
ที่สามารถจดทะเบียน มี/ใช้ ได้
นักวิทยุไทยสามารถใช้งานได้

ใครใช้ได้บ้าง

เพื่อนหลายคน เมื่อได้ยินคำนี้ ประกอบกับระบบเองยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แล้วยังเห็นเพื่อนนักวิทยุด้วยกันที่บางท่านเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง หรือ ขั้นสูง ใช้งานระบบ DSTAR อยู่ อาจจะเข้าใจไปเองว่าผู้ที่จะใช้ระบบนี้ต้องเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางขึ้นไป ทั้งที่จริงแล้วนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นก็สามารถใช้งานได้ เพราะ "ขั้น" ของนักวิทยุเป็นสิ่งกำหนดความถี่และกำลังส่งที่สามารถใช้งานได้ ระบบ DSTAR ที่เราเริ่มใช้งานอยู่ (เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย) ในปัจจุบันใช้งานที่ความถี่ย่าน 2 เมตร (145MHz) และกำลังส่ง 5-10 วัตต์ นั่นคือนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นสามารถใช้งานได้นะครับ

DSTAR มีข้อดีอย่างไร

ที่จุดนี้ นับว่ามีหลายสิ่งที่แตกต่างจากระบบวิทยุแบบอนาล็อก (ไม่ว่าจะผสมความถี่แบบใด คือ AM, FM, SSB เป็นต้น) ที่เราต้องทำความเข้าใจ เช่น
  1. ตัวเครื่องวิทยุ จะต้องถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ในระบบ DSTAR อาจจะเป็นเครื่องที่ออกแบบมาเฉพาะเลย เช่น Icom ID-51 หรือที่ออกแบบเตรียมไว้โดยต้องซื้อแผงวงจรพิเศษเล็กๆ (option) มาใส่ เช่น Icom IC-2200T (ใส่แผงวงจร UT-118) ก็จะทำงานในระบบ DSTAR ได้ (และยังใช้ระบบอนาลอกเดิมในตัวมันได้อยู่) วิทยุที่มีระบบ DSTAR เองเลยก็มักจะสามารถทำงานในระบบอนาล็อกได้ด้วย Icom ID-51A ก็เช่นกัน สามารถทำงานในระบบอนาล็อกธรรมดาได้ ผู้ใช้สามารถเลือกได้
  2. เสียงของผู้พูด จะถูกเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิตอลก่อน จากนั้นจึงถูกผสมเข้ากับคลื่นพาหะ (โดยมีบิตของข้อมูลทางคอมพิวเตอร์อื่น ที่บอกว่าใครเป็นผู้ส่ง ตั้งใจส่งผ่านอะไรอย่างไร ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบ ปนอยู่ด้วย) แล้วถูกส่งออกอากาศไป ในทางด้านรับก็ทำกลับด้านกัน คือถอดรหัสดิจิตอลออกมา แล้วเปลี่ยนกลับเป็นเสียงพูด
  3. สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ นอกจากการให้เครื่องวิทยุติดต่อกันเองได้แล้ว ข้อดีที่เด่นชัดของระบบนี้คือสามารถต่อออก Internet ได้ (ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า อะไรที่ออกอินเตอร์เน็ตได้ คือมันมีความสามารถที่จะไปได้ทั่วโลกนั่นเอง) 
  4. จากเครื่องวิทยุ (ระบบ DSTAR) ของเรา เราสามารถ "บังคับ" ว่าเส้นทางของข้อมูลที่เราพูด/ส่งนั้น วิ่งไปในทิศทางใด ไปผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างไร 
  5. นอกจากการคุยระหว่างเครื่อง DSTAR ด้วยกัน, การคุยผ่านระบบโดยผ่านระบบรีพีทเตอร์ที่ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ แล้ว เรายังสามารถสร้าง Hotspot ส่วนตัวเล็กๆ ไว้ในบ้านของเรา (กำลังส่งต่ำมาก ไม่เกิน 10mW) แล้วต่อเชื่อมไว้กับอินเตอร์เน็ต เพื่อรับสัญญาณดิจิตอลจากเครื่องวิทยุของเรา จากนั้นมันจะส่งข้อมูลออกไปอินเตอร์เน็ตเลยโดยตรง (ต่อเข้า Reflector) จะต่อไปจังหวัดไหน หรือต่างประเทศก็ยังได้
ลักษณะโครงสร้างของระบบ DSTAR

จากที่อธิบายมาทั้งหมด เรียกว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น นี่เขียนเป็นตัวหนังสือไม่มีปากสักปาก คงเข้าใจยากหน่อย เอาเป็นว่ากระโดดไปให้ตาเห็นเลยน่าจะดีกว่า มาดูรูปลักษณะของระบบกันนะครับ
ภาพที่ 1 โครงสร้างทั่วไป
ของโครงข่ายวิทยุสื่อสาร
แบบ DSTAR โดยที่
Repeater และ Reflector
แต่ละตัว อาจจะอยู่คนละจังหวัด
หรือแม้แต่คนละประเทศกันเลยก็ได้

จากโครงสร้างโดยทั่วไปของระบบ DSTAR เราพยายามใช้งานให้เต็มที่ เราจึงออกแบบ (และบังคับ) ให้ระบบทำงานได้ในหลายรูปแบบ เช่น

1. วิทยุแบบ DSTAR สามารถติดต่อกันได้โดยตรง จากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง (ไม่ต้องผ่านรีพีทเตอร์ หรือระบบอินเตอร์เน็ตใดๆ) ดูภาพที่ 2
ภาพที่ 2 เครื่องวิทยุรับ/ส่งแบบ
DSTAR สามารถติดต่อกันเอง
โดยตรงได้ โดยใช้ความถี่เดียว
ทั้งรับและส่ง (simplex) คลื่นวิทยุ
ผสมด้วยข้อมูลดิจิตอล ไม่สามารถ
รับฟังได้ด้วยเครื่องวิทยุแบบอนาล็อก

2. ติดต่อผ่าน Repeater ที่เป็นภาครับของ DSTAR ด้วยระบบ Duplex จากนั้นก็ให้ Repeater นั้นส่งสัญญาณกลับออกมาที่คนละความถี่ (เป็นสัญญาณแบบดิจิตอล) หรือแม้จะคนละย่านความถี่ก็ได้ ในกรณีนี้เราจะต้องปรับเครื่องให้เป็นแบบ Duplex ด้วย คือส่งและรับที่คนละความถี่กัน ลักษณะนี้จะเป็นการใช้งานในบริเวณเล็กๆ ของ Repeater เดียวกัน ไม่ผ่านระบบ Internet (Gateway ไม่ทำงาน) ดูภาพที่ 3
ภาพที่ 3 การใช้งานผ่าน Repeater
ที่เพิ่มรัศมีการทำงาน ใช้การส่ง/รับ
คนละความถี่แบบ Duplex
สัญญาณที่ส่ง/รับเป็นข้อมูลดิจิตอล


3. ติดต่อผ่าน Repeater ที่เป็นภาครับของ DSTAR ด้วยระบบ Duplex จากนั้นก็ให้ Repeater ส่งสัญญาณออก Gateway เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต ในรูปแบบนี้ สัญญาณจะวิ่งต่อไปยังอุปกรณ์ที่เรียกว่า Reflector (เป็นคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง อาจจะอยู่ที่ data center ซึ่งเป็นห้องแอร์อย่างดีที่ไหนสักที่ในโลก) ซึ่งจะทำหน้าที่ "ส่งต่อ-สะท้อน" (ตามชื่อของมัน) สัญญาณไปยัง Repeater อื่นๆ ทุกตัวที่ต่ออยู่กับ Reflector ตัวนั้น ทำให้ผู้ใช้ที่อยู่ในบริเวณกระจายคลื่นของ Repeater เหล่านั้นสามารถรับฟังได้หมด ดูภาพที่ 4
ภาพที่ 4 เราสามารถใช้งานระบบโดย
ให้เชื่อมต่อสัญญาณเสียงพูด (ในรูป
แบบดิจิตอล) ของเราไปยังระบบ
อินเตอร์เน็ทโดยผ่านเกทเวย์ไปสู่
Reflector ทำหน้าที่สะท้อนไป
Repeater ทุกตัวที่ต่ออยู่กับ
Reflector นั้น ซึ่งจะเอา
ข้อมูลเสียงพูดของเราไปออกอกาศ
ในเวลาเดียวกัน


ความจริงแล้ว ในระบบที่เป็นมาตรฐานในต่างประเทศ Repeater 1 สถานี จะมี Node (หรือ Module ซึ่งคือของอย่างเดียวกัน) สำหรับ รับและส่งคลื่นวิทยุได้หลายความถี่คือ A, B และ C คือทำงานกับย่านความถี่ 1.2GHz, 440MHz, และ 145Mhz ตามลำดับ และ Node G หรือบางคนอาจจะไม่เรียกว่า node ก็ได้ จะมีสภาพคล้ายเป็น node แต่ไม่ได้ส่งหรือรับเป็นความถี่วิทยุ แต่หมายถึง Gateway นั่นคือการส่งออกไปทาง Internet นั่นเอง ดูภาพที่ 5
ภาพที่ 5 ในรีพีทเตอร์ที่สมบูรณ์ของ
ระบบ DSTAR จะมี Node A,
B, C ครบครัน ทำงานกับความถี่
ได้หลายย่าน (โดย Node G แทน
Gateway ส่งข้อมูลผ่าน Internet
ออกไปจากบริเวณ Repeater นั้น

ผู้ใช้สามารถตั้งเครื่องวิทยุแบบ DSTAR ของตัวเองว่าจะให้ Repeater ตัวใดและ node ใด เป็นตัวรับ และ node ใด (ของ Repeater ตัวนั้น) เป็นตัวส่งต่อสัญญาณที่ได้รับมา เช่น รับด้วย Node C (145MHz) และส่งออกกระจายในบริเวณนั้น (ไม่ใช้ Node G คือไม่ออก Internet) ด้วย Node B (ย่าน 440MHz) ก็ได้  แต่นั่นคือในต่างประเทศนะครับ เพราะขณะที่เขียนบทความนี้ (สิงหาคม 2561) เรายังไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกอากาศด้วยความถี่ย่าน 440MHz นะครับ

การใช้งานระบบ DSTAR

จากโครงสร้างของระบบ DSTAR ที่อธิบายไปแล้ว ทำให้เราสามารถปรับตั้งเครื่องวิทยุให้สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบ  แต่ก่อนหน้านั้นจะต้องเข้าใจก่อนว่าเรามี Parameter หรือตัวแปรกำหนดค่าต่างๆ ที่สำคัญจำนวน 4 ตัว ที่จะต้องตั้งค่าให้มัน คือ MY, UR, R1 (หรือ RPT1 หรือ Repeater1), และ R2 (RPT2 หรือ Repeater2) ระบบก็จะทำสิ่งต่างๆ สารพัดรูปแบบ ตามสิ่งที่เราตั้งเครื่องไว้ คือ

1. MY คือการบอกว่าเราคือสถานีใด มีสัญญาณเรียกขานว่าอะไร เช่น HS0DJU เป็นต้น ค่านี้ ตั้งแล้ว ตั้งเลย เราก็คงไม่ได้ไปแตะต้องมัน ยกเว้นว่าเครื่องวิทยุ 1 เครื่องถูกใช้งานจากหลายคน ก็คงต้องเปลี่ยนค่าใน MY ไปตามผู้ใช้งานในเวลานั้นๆ

2. UR เป็นการบอกเครื่องว่า เราต้องการคุยกับใคร หรือ ผ่านทางใด เช่น

(2.1) ตั้งเป็น CQCQCQ เพื่อคุยกับใครก็ได้ เช่น
UR: CQCQCQ

(2.2) หรือตั้งเป็นสัญญาณเรียกขานของเพื่อน เช่น HS1ZHY เพื่อต้องการคุยกับ HS1ZHY โดย ระบบจะพยายามค้นหาว่า HS1ZHY คุยครั้งสุดท้ายที่ repeater ใด node ใด แล้วหาทางผ่านข้อมูลไปออกอากาศที่จุดนั้นให้ เช่น
UR: HS1ZHY
(ซึ่งแน่นอนครับ บางทีก็หาตัวไม่เจอ เพราะย้ายสถานที่ไปไกล แต่ไม่ได้กดคีย์ออกอากาศ แบบนี้ระบบก็ไม่ทราบนะครับว่า HS1ZHY ไปอยู่ที่ตรงอื่นแล้ว)

(2.3) ตั้งให้ระบบ Route (สร้างเส้นทาง) ไปออกอากาศที่รีพีทเตอร์อะไร node ไหนโดยกำหนด UR เป็น  /ชื่อสถานีรีพีทเตอร์ node (node คือ A, B, หรือ C ต้องอยู่ตำแหน่งตัวอักษรที่ 8) เช่น
UR: /E24DB C
สังเกตว่ามีเครื่องหมาย / ซึ่งคือคำสั่ง Route
E24DB เป็นชื่อรีพีทเตอร์ระบบ DSTAR ของ จ.ปทุมธานี
C คือ Node C ของรีพีทเตอร์ตัวนี้ ซึ่งทำงานรับความถี่ 145MHz
ข้อเสียของการ route คือ เราส่งสัญญาณออกไปถึงได้ แต่ผู้รับจะส่งกลับมาเลยไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราที่เป็นผู้ส่งอยู่ที่ใด ระบบไม่ได้เชื่อมให้อัตโนมัติ ดังนั้นในขณะที่ทำการเรียก เราจะต้องบอกว่า เราอยู่ที่ รีพีทเตอร์อะไร node ใด ด้วย ผู้รับจะได้ปรับเครื่องวิ่งกลับมาถูกทาง แต่การทำแบบนี้บางทีก็ไม่สะดวก

(2.4) สั่งให้ Link (เชื่อมต่อ) กับรีพีทเตอร์ โดยกำหนด UR เป็น ชื่อรีพีทเตอร์ node และตัวอักษร L โดย node ต้องอยู่ที่ตัวอักษรที่ 7 และ L เป็นตัวอักษรที่ 8 เช่น
UR: E24DB CL
E24DB C เป็นชื่อรีพีทเตอร์และ node ภาครับของรีพีทเตอร์
L เป็นคำสั่ง Link
การ Link ต่างจากการ Route ในข้อ (2.3) คือ เมื่อ Link คือเชื่อมต่อกันแล้ว ผู้รับสามารถตอบกลับมาได้เลย เพราะเราได้บังคับให้รีพีทเตอร์ในบริเวณที่ผู้รับอยู่ เชื่อมต่อกับรีพีทเตอร์ในบริเวณที่เราอยู่เอาไว้แล้ว (ทำให้ หลังจากที่เราใช้เสร็จ เราต้อง "ปลด" หรือ Unlink ออกด้วย ไม่งั้นเพื่อนๆ จะเดือดร้อนในการใช้งานไปด้วย)

(2.5) สั่งให้ Link (เชื่อมต่อ) กับ Reflector โดยกำหนดให้ UR เป็น ชื่อรีเฟล็กเตอร์ L โดยตัวอักษร L ต้องอยู่ที่ตำแหน่งตัวอักษรที่ 8 ในกรณีนี้ รีพีทเตอร์ทุกตัวที่ต่ออยู่กับรีเฟล็กเตอร์นั้นจะถ่ายทอดสัญญาณออกไปทั้งหมดพร้อมกัน เช่น
UR: REF084CL
REF084C เป็นชื่อรีเฟล็กเตอร์
L เป็นคำสั่ง Link
การ Link Reflector นี้คล้ายกับการ Link Repeater ในข้อ (2.4) แต่ผลลัพธ์ "ใหญ่โต" กว่า เพราะจะทำให้ Repeater ทุกตัวที่ต่ออยู่กับ Relector ที่เรา Link เข้าไป รับสัญญาณและทวนออกไปทั้งหมด ถ้ามี Repeater ต่ออยู่ 20 ตัว ก็ทวนออกไปหมดนั่นแหละครับ

(2.6) สั่งให้ Unlink สิ่งต่างๆ ที่เราเชื่อมต่อเอาไว้
UR: - - - - - - - U
(- คือ Blank จำนวน 7 ตำแหน่ง และตัว U เป็นอักษรตำแหน่งที่ 8)

(2.7) ทดสอบเสียงตัวเอง โดยไม่ไปรบกวนคนอื่น ด้วยฟังก์ชั่น Echo
UR: ชื่อรีพีทเตอร์ E
(ชื่อรีพีทเตอร์เป็นชื่อเดียวกับใน R1 และ E อยู่ที่ตำแหน่งอักษรที่ 8)

(2.8) สั่งตรวจสอบว่ารีพีทเตอร์ที่เราสนใจ ต่อเชื่อมกับอะไรหรือไม่ ด้วยคำสั่ง Information
UR: ชื่อรีพีทเตอร์ I
(ชื่อรีพีทเตอร์เป็นชื่อเดียวกับใน R1 และ I อยู่ที่ตำแหน่งอักษรที่ 8)

3. R1 เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งให้กับเครื่องเพื่อบอกว่าเราต้องการให้ repeater ใดและภาครับ node ใด ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเครื่องวิทยุของเรา เช่นเราต้องการให้ node C (ความถี่ย่าน 145MHz) ของรีพีทเตอร์ของสถานี E24DA รับสัญญาณจากเรา ก็ตั้งเป็น
R1: E24DA  C
R1: - - - - - - - - (ปล่อยว่าง กรณีคุยเครื่องต่อเครื่อง)
E24DA เป็นชื่อรีพีทเตอร์ระบบ DSTAR ของ จ.กรุงเทพมหานคร
C คือ node ต้องอยู่ตำแหน่งตัวอักษรที่ 8
ถ้าจะคุยกันตรงๆ ไม่ต้องใส่ R1 และ R2 ปล่อยว่างๆ ไว้ก็ได้

4. R2 เพื่อบอกว่า หลังจากที่ node และชื่อรีพีทเตอร์ใน R1 รับสัญญาณจากเราแล้ว จะให้ส่งสัญญาณไปออกที่ไหน เช่น
R2: E24DA C (ให้ทวนสัญญาณออกมาในย่าน 145MHz ในรีพีทเตอร์นั้น)  หรือ
R2: E24DA G (ให้ออก Gateway ไปยังอินเตอร์เน็ต)
R2: - - - - - - - (ปล่อยว่าง กรณีคุยเครื่องต่อเครื่อง)
เป็นต้น
C คือ node ของความถี่ย่าน 145MHz
G คือบอกว่าให้ส่งออก Gateway ไปอินเตอร์เน็ต
ตัวอักษรบอก Node (C, G ในตัวอย่าง) ต้องอยู่ตำแหน่งตัวอักษรที่ 8

จะเห็นได้ว่า การตั้งใช้งาน UR, R1, R2 ทำได้หลากหลายส่วนผสม (MY เราไม่เปลี่ยนมันอยู่แล้ว) ทำให้เราได้ลักษณะการใช้งานมากมาย เรียกว่าคุยกันได้ทั้งโลกก็ว่าได้เลยทีเดียว

การต่อไปยังอินเตอร์เน็ตแบบส่วนตัว

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เรายังสามารถสร้างจุดเชื่อมต่อเข้าสู่ Internet ที่เป็นส่วนตัวของเราเองได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างไกล Repeater ของระบบ DSTAR แต่ว่าอยู่ในบริเวณที่เข้าสู่ระบบ Internet ได้ ไม่ว่าจะเป็น Internet แบบมีสายตามบ้าน หรือแบบผ่านสัญญาณโทรศัพท์  โดยสร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า Hotspot ซึ่งในตัว Hotspot จะมีภาครับ/ส่งวิทยุเล็กๆ (กำลังส่งต่ำมาก ไม่เกิน 10mW ทำงานกับวิทยุของเราแบบ Simplex), มีคอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ (เช่น Rasberry Pi), และภาคเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (เปรียบเหมือน Gateway) โดย Hotspot ของเราจะต่อตรงเข้ากับ Reflector ที่เรากำหนดไว้ (ต้องรู้ชื่อ Reflector) ดังนั้นเมื่อเรากดคีย์พูด เครื่องวิทยุของเราก็จะส่งคลื่นที่มีข้อมูลแบบดิจิตอลไปให้ Hotspot ซึ่งจะรับคลื่นแล้วเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิตอล แล้วส่งไปให้คอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ ส่งข้อมูลออกอินเตอร์เน็ทไปยัง Relector ทำการ "สะท้อน-ส่งผ่าน" ไปยัง Repeater ทุกตัวที่ต่อกับมันเอาไว้ทันที ดูภาพที่ 6 และ 7
ภาพที่ 6 การทำงานของ Hotspot
ที่รับ/ส่ง ข้อมูลเสียงในรูปแบบ
ดิจิตอลกับเครื่องวิทยุ (Simplex)
และส่งไปยัง Reflector ผ่าน
อินเตอร์เน็ตที่อาจจะเป็นแบบมีสาย
หรือไร้สายผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้


ภาพที่ 7 Hotspot สำหรับรับ
ความถี่วิทยุในบริเวณใกล้ๆ (มาก)
แล้วส่งออก Internet มีขนาด
เล็ก สามารถวางบนฝ่ามือได้


ลักษณะข้อมูลของระบบ DSTAR

เล่ามาจวนจบเรื่องอยู่แล้ว ยังไม่ได้นำลักษณะข้อมูลของระบบ DSTAR มาให้เพื่อนๆ ดูกัน จะเห็นว่าถ้าไม่นับบรรดาที่มาที่ไปของการส่งทั้งหลายแล้ว สิ่งที่ส่งยังเป็นได้ทั้งเสียง (voice) และข้อมูลอื่น (เช่น พิกัด GPS) ก็ได้ (ส่วนสีเขียว) แสดงได้ดัง ภาพที่ 8
ภาพที่ 8 ลักษณะของข้อมูลดิจิตอล
ที่ส่งไปมาในระบบ DSTAR
จะเห็นว่ามีทั้งข้อมูลผู้ส่ง ผู้รับ
และรีพีทเตอร์ที่อยู่ระหว่างทาง


ข้อเสียของ DSTAR

แน่นอนว่าระบบที่มีความสามารถรอบตัว และได้รับการพัฒนามาหมาดๆ (ที่จริงสำหรับผู้ที่ติดตามใกล้ชิดก็จะทราบว่า DSTAR ได้รับการพัฒนามา 3-4 generation หรือ "ยุค" ของมันแล้วนะครับ) ย่อมมีข้อเสียอยู่บ้าง ซึ่งข้อแรกนี่ดูจะชัดเจนที่สุดเลยสำหรับเราๆ คือ
  1. เครื่องมีราคาสูง
  2. ต้องเรียนรู้การใช้งานเพิ่มขึ้น จำคำสั่งต่างๆ ได้
  3. ต้องจำชื่อของ Repeater, Reflector ได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องให้เครื่องวิทยุจำ (ตั้ง memory) แทนเรา  
  4. ต้องระวังการใช้งานมากขึ้น เพราะอาจจะไปตั้งหรือตัดการเชื่อมต่อต่างๆ ที่เพื่อนๆ ใช้อยู่ได้
สรุป

ในระบบวิทยุ DSTAR นั้น สัญญาณที่ออกจากวิทยุถูกแปลงเป็นดิจิตอลมาตั้งแต่ต้น ทั้งเสียง ข้อมูล รวมทั้งถูกเพิ่มเติมด้วยข้อมูลโปรโตคอลด้วย (แต่ตัวเครื่องวิทยุเอง อาจจะถูกออกแบบให้ทำงานแบบ อนาล็อก ได้ด้วย) การออกแบบเพื่อต่อเชื่อมกับระบบอินเตอร์เน็ทได้ง่าย ทำให้การติดต่อกว้างไกลมากขึ้น (พูดแบบไม่ต้องคิดมากได้ว่า อะไรที่ออกอินเตอร์เน็ทได้ ก็ไปได้ทั่วโลก เปรียบไปคือลักษณะเดียวกับ Echolink แต่ใน Echolink นั้นสัญญาณจากวิทยุของเรายังเป็นอนาล็อกอยู่)  DSTAR ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยผู้ผลิตวิทยุสื่อสาร ICOM ในการเข้ารหัสเสียงที่แทรกอยู่ใน protocol (รูปแบบการจัดและรับ/ส่งข้อมูล) นั้นเป็นวิธีการของ ICOM ที่ผู้อื่นละเมิดลอกเลียนไม่ได้ จึงต้องใช้กับระบบ DSTAR ด้วยกันเอง  นอกจาก DSTAR แล้วยังมีวิทยุสื่อสารระบบดิจิตอลจากผู้ผลิตอื่นอีก เช่น DMR และ Fusion ที่เป็นระบบเปิด ผู้อื่นสามารถใช้ protocol ร่วมได้ จึงมีผู้ใช้งานอยู่มากเช่นกัน แต่ก็มีข้อดีข้อเสียปลีกย่อยต่างกันไปอีกด้วย

73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)