สายนำสัญญาณเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการต่อเชื่อมระหว่างอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ สิ่งที่สายนำสัญญาณทำคือการส่งผ่านพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างอุปกรณ์ สิ่งที่ติดตามมากับการต่อเชื่อมด้วยสายนำสัญญาณคือ "การแปลงอิมพิแดนซ์อันเนื่องมาจากสายนำสัญญาณ" ซึ่งไม่ได้เป็นความลับดำมืดแต่อย่างใด จะว่าแล้วนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรค้นพบและอธิบายได้อย่างทะลุปรุโปร่งมาเป็นร้อยปีแล้วมั้งครับ และเป็นไปตามความสัมพันธ์ใน ภาพที่ 1 (เห็นแล้วอย่าเพิ่งตกใจนะครับ ไม่ยากอย่างที่คิด ผมจะพยายามอธิบายให้ง่ายๆ)
ภาพที่ 1 สายนำสัญญาณที่มีอิมพิแดนซ์
จำเพาะ Z0 จะแปลงอิมพิแดนซ์ ZL ไปเป็น
อิมพิแดนซ์ Z(ℓ) ซึ่งจะแปลงไปเป็นเท่าไร
ขึ้นกับ Z0 , ความยาวของสายนำสัญญาณ ℓ
(ในหน่วย λ), และ ZL โดยที่ k เป็น wave
number บอกว่าในหนึ่งเมตร เฟสของคลื่น
เปลี่ยนไปกี่เรเดียน k = 2π/λ (หน่วย rad/m)
หมายเหตุ
- ในสมการด้านบน ZL คืออิมพิแดนซ์ของโหลด (เช่น สายอากาศของเรา) เป็นจำนวนเชิงซ้อน (คือ ZL = RL+jXL แทนอิมพิแดนซ์ แต่ถ้า XL เป็น 0 Ω ก็จะเหลือแต่ RL กลายเป็นจำนวนจริง เป็นความต้านทานล้วน), Z0 เองโดยทั่วไปมักเป็นจำนวนจริง คือ เป็น pure resistive (เช่น 50 Ω ซึ่งคือ 50 + j0 Ω) แต่ก็อาจจะเป็นจำนวนเชิงซ้อนได้ด้วยในสายนำสัญญาณบางยี่ห้อ/รุ่น (เช่น 49 + j3 Ω), ส่วน Z(ℓ) เป็นผลจากส่วนประกอบต่างๆ ในสมการ ซึ่งเป็นจำนวนเชิงซ้อนได้เช่นกัน
- ในสมการด้านบน ℓ จะมีค่าเป็นจำนวนเทียบกับ λ เช่น 0.3 λ , 1.3 λ หรืออื่นๆ (คิดตัวคูณความเร็วแล้ว) เช่น สายนำสัญญาณที่ทำงานกับความถี่ 145MHz ตัวคูณความเร็ว 0.66 จะมีความยาว 1 λ เป็น (300/145)×0.66 = 1.3655 เมตร (โดยประมาณ) ดังนั้นถ้าสายนำสัญญาณนี้ยาว 1 เมตร จะคิดได้เป็น 1/1.3655 = 0.7323 λ = ℓ และทำให้ kℓ = 2π / λ × 0.7323 λ = 1.4646 π = 4.6030 radian และ tan(kℓ) = 9.1076 ทำให้สามารถคำนวณสิ่งต่างๆ ต่อไปได้
- ดังนั้น ในการคูณหรือหารกันของ ZL และ Z0 เพื่อให้ได้อิมพิแดนซ์ที่ปลายสายที่มีความยาวเป็น ℓ อีกด้านหนึ่งหรือ Z(ℓ) อาจจะต้องทำใจก่อนว่าในกรณีทั่วไปจะต้องคูณหารแบบจำนวนเชิงซ้อน
คราวนี้มาดูการใช้งานปกติ ถ้า ZL มีค่าคงที่, Z0 , ℓ เป็นค่าใดๆ จะทำให้อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ Z(ℓ) เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตาม Z0 และความยาวของสายนำสัญญาณ ℓ (ดูภาพที่ 2) ซึ่งถ้าของทั้งสองอย่างนี้เป็นค่าที่เราไม่รู้แน่ จะทำให้เราทำงานได้ยากมาก ในการที่จะทำให้ Z(ℓ) มีค่าเป็น 50 Ω เพื่อให้สามารถต่อเชื่อมกับอุปกรณ์อื่น (ที่ถูกออกแบบให้มีอิมพิแดนซ์เป็น 50 Ω)
ภาพที่ 2 การจะทำให้อิมพิแดนซ์ Z(ℓ)
มีค่าเป็น 50 Ω นั้นไม่ง่ายนัก เพราะมี
ตัวแปรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Z0 ที่เรา
มักเชื่อว่ามีค่าเป็น 50 Ω แต่มักไม่เคย
รู้ด้วยการวัดจริงๆ ว่าเป็นเท่าไร
(คลิก ดูบทความเรื่องการวัด Z0)
ดังนั้น ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เราจึงไม่พยายามแมทช์อิมพิแดนซ์ของสายอากาศ (และ สายนำสัญญาณที่ต่อจากสายอากาศมาหาเครื่องส่งของเรา) ด้วยการทริม/ตัดสายนำสัญญาณหรอกครับ แต่แมทช์ด้วยวิธีอื่นที่มาตรฐานและถูกต้องกว่า (เช่น ใช้ Stub matching, L-C network matching เป็นต้น) ณ โคนของสายอากาศเอง จึงถูกต้องที่สุด (อ่านเรื่อง ATU อยู่ตรงไหนดี ประกอบ)กรณีพิเศษ
คราวนี้ สมมติว่าเราตัดสายนำสัญญาณให้มีความยาว ℓ เป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่น เช่น 0.5 λ , 1 λ , 1.5 λ , 2 λ ,.... เป็นต้น เมื่อแทนค่าลงในสมการในภาพที่ 1 (ยกตัวอย่าง ℓ เป็น 0.5 λ หรือ λ / 2) จะได้ kℓ = (2π / λ) × (λ / 2) = π ซึ่ง tan (π) = tan 180ᴼ = 0 ทำให้ Z(ℓ) = ZL เสมอไม่ว่า Z0 จะมีค่าเป็นเท่าไร (รวมทั้งค่าที่เป็นจำนวนเชิงซ้อนด้วย) นั่นคือการตัดสายนำสัญญาณให้ลงเป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่น ทำให้อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งมีค่าเท่ากับอิมพิแดนซ์ที่ต่ออยู่อีกข้างหนึ่ง (ถือว่า สายนำสัญญาณนั้นเป็นแบบ lossless คือไม่สูญเสียกำลัง) ดูภาพที่ 3
ภาพที่ 3 เมื่อสายนำสัญญาณยาว ℓ เป็น
จำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่น ไม่ว่าสาย
นำสัญญาณนั้นจะมี Z0 เป็นเท่าไร
อิมพิแดนซ์ที่เห็นอีกข้างหนึ่งจะเป็น ZL
ในการวิเคราะห์ต่อไป เราจะมีการใช้สมิทชาร์ท ผมนำคลิปที่เคยทำเอาไว้มาให้เพื่อนๆ ได้ดูกันว่าเราใช้สมิทชาร์ทในการช่วยหาผลการแปลงอิมพิแดนซ์ของสายนำสัญญาณนั้นทำอย่างไร ดู นาทีที่ 39:33 - 56:30 ในคลิปด้านล่างนี้นะครับ
นาทีที่ 39:33 - 56:30
ผมได้อธิบายการใช้สมิทชาร์ท
ในการหาผลจากการแปลงอิมพิแดนซ์
ของสายนำสัญญาณไว้
การทริมสายนำสัญญาณ
โดยปกติแล้วถ้าสายนำสัญญาณของเรามาตรฐานสูงจริงคือมี Z0 = 50 Ω เราไม่ต้องทริม เพราะถ้า ZL มีค่าไม่เท่ากับ Z0 การตัดสายนำสัญญาณไปๆ มาๆ จะไม่มีทางทำให้ Z(ℓ) เป็น 50 Ω ได้เลย อธิบายได้ตามภาพที่ 4 ซึ่งเป็นสมิทชาร์ของการต่อสายนำสัญญาณ Z0 = 50 Ω เข้ากับโหลด ZL (ZL ≠ 50 Ω) ณ จุดต่อกัน คือจุดสีส้ม (ไม่ได้อยู่ที่จุดศูนย์กลาง) และเมื่อสายนำสัญญาณยาวออกห่างจากโหลด อิมพิแดนซ์ที่ปลายอีกด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณจะอยู่บนเส้นสีชมพูที่วนในทิศตามเข็มนาฬิการอบจุดศูนย์กลาง ครึ่งรอบคือสายนำสัญญาณยาว ¼λ และหนึ่งรอบคือสายนำสัญญาณยาว ½λ โดยไม่มีทางผ่านจุดศูนย์กลางได้เลย (จุดศูนย์กลางคือจุดสีแดง เเป็นจุดที่ r=1, x=0 ของ normalized impdance z = r+jx สังเกตว่าเขียนด้วย z ตัวเล็กเพราะเป็นค่า normalized คือค่าที่เทียบกับ Z0 ดังนั้นอิมพิแดนซ์จริงของจุดสีแดงก็ต้องคูณกลับด้วย Z0 เป็น Z(ℓ) = z × Z0 = (1+j0 Ω) × 50 Ω = 50 Ω) อ่านเรื่อง การใช้งานสมิทชาร์ท ประกอบ
ภาพที่ 4 การนำโหลด ZL ที่มีอิมพิแดนซ์
ไม่เท่ากับ 50Ω มาต่อกับสายนำสัญญาณ
ที่มี Z0 เป็น 50Ω จริงๆ ไม่ว่าจะตัดหรือ
ทริมสายนำสัญญาณนั้นอย่างไร ก็จะไม่
มีทางจะทำให้อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่ง
Z(ℓ) มีค่าเป็น 50Ω ได้
สรุป
ถึงตรงนี้ เรามาสรุปกันคร่าวๆ จากสมการในภาพที่ 1 และตัวอย่างที่ผ่านมา ก่อนที่จะว่ากันต่อไปสักนิดนะครับ
- เมื่อโหลดมีอิมพิแดนซ์ ZL เป็น 50 Ω ต่ออยู่ด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ แต่สายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์จำเพาะ Z0 ไม่เป็น 50 Ω การตัดสายนำสัญญาณให้ยาวเป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่นสามารถทำให้มองเห็นอิมพิแดนซ์อีกข้างหนึ่ง ( Z(ℓ) ) เท่ากับอิมพิแดนซ์ที่ต่ออยู่อีกด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณนั้น ก็คือ 50 Ω ได้
- เมื่อโหลดมีอิมพิแดนซ์ ZL เป็น 50 Ω ต่ออยู่ด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ แต่สายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์จำเพาะ Z0 ไม่เป็น 50 Ω การตัดสายนำสัญญาณที่ยาวไม่เป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่นจะทำให้มองเห็นอิมพิแดนซ์อีกข้างหนึ่ง ( Z(ℓ) ) ไม่เท่ากับอิมพิแดนซ์ที่ต่ออยู่อีกด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณนั้นคือ 50 Ω
- เมื่ออิมพิแดนซ์ของโหลด ZL ที่ต่ออยู่ด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณไม่ใช่ 50 Ω แต่สายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์จำเพาะ Z0 เป็น 50 Ω ไม่ว่าจะตัดสายนำสัญญาณยาวเท่าไร ก็ไม่สามารถทำให้อิมพิแดนซ์ที่มองเห็นอีกด้านหนึ่ง ( Z(ℓ) ) เป็น 50 Ω ได้
- เมื่อทั้งโหลด ZL ที่ต่ออยู่ด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณไม่ใช่ 50 Ω และสายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์จำเพาะ Z0 ก็ไม่เป็น 50 Ω ด้วย การตัดสายไปมามีความเป็นไปได้ที่จะ "บังเอิญ" ทำให้อิมพิแดนซ์ที่มองเห็นอีกด้านหนึ่ง ( Z(ℓ) ) เป็น 50 Ω ได้ แต่ในหลายกรณี ตัดๆ ต่อๆ อย่างไรก็ไม่สามารถทำให้อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่ง ( Z(ℓ) ) เป็น 50 Ω ได้เช่นกัน
การทริมสายนำสัญญาณได้ผลจริงหรือไม่และด้วยเงื่อนไขอย่างไร
จากหลักการและข้อสรุปข้างต้น ถ้าสายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์เป็น 50 Ω จริงและโหลดเป็น 50 Ω ก็คงไม่ต้องทริมอะไรเพราะอิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งจะเป็น 50 Ω เสมอไม่ว่าสายนำสัญญาณนั้นจะยาวเท่าไร ต่อแล้วใช้ได้เลย มีความสุข!
แต่ถ้าโหลดไม่ใช่ 50 Ω แต่สายนำสัญญาณมีอิมพิแดนซ์เป็น 50 Ω เป๊ะ ไม่ว่าจะตัดสายนำสัญญาณนั้นอย่างไรก็คงไม่มีทางทำให้อิมพิแดนซ์ที่ปลายอีกด้านหนึ่งเป็น 50 Ω ไปได้หรอกครับ
ส่วนการที่เพื่อนบางท่านต่อโหลด (เช่น สายอากาศ) ที่ไม่ใช่ 50 Ω ที่ด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ แล้วตัดๆ (คงไม่ค่อยมีใคร ต่อๆ มีแต่ตัดๆ นั่นแหละ) สายนำสัญญาณแล้วทำให้มองเห็นอิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งเป็น 50 Ω (หรือ VSWR เป็น 1:1) ได้ สาเหตุหลักก็เพราะต้วสายนำสัญญาณนั้นไม่ได้มีอิมพิแดนซ์เป็น 50 Ω (และไม่เท่ากับโหลดนั้น เพราะถ้าเท่ากัน สายนำสัญญาณที่ยาวต่างกันจะไม่มีผลอะไร) บวกกับ ความบังเอิญ นั่นเอง (ดู ตัวอย่างความบังเอิญ ในหัวข้อต่อไป) แต่บางทีก็ทริมเท่าไรๆ อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งก็ไม่เป็น 50 Ω หรอกครับ คือมันไม่บังเอิญ ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายได้ทางวิศวกรรมอีก ไม่ต้องหงุดหงิดไป จะเห็นว่าการทริมแล้วใช้ได้นั้นเป็นเรื่องความบังอิญเท่านั้น (ส่วนมากไม่บังเอิญ แต่อาจจะทำให้แย่น้อยลง ได้บ้าง - วิธีการที่ถูกต้องคือการแมทช์สายอากาศให้ดีตั้งแต่แรกเลยต่างหาก อ่านเรื่อง การใช้งานสมิทชาร์ทในการแมทช์อิมพิแดนซ์)
ตัวอย่างความบังเอิญ
สมมติว่าเราต่อโหลด (เช่น สายนอากาศ) เข้ากับสายนำสัญญาณที่อิมพิแดนซ์จำเพาะ (Z0 ) ไม่เป็น 50 Ω และบังเอิญเราตัดสายนำสัญญาณนั้นได้ความยาวเหมาะสมพอดี จะ เป็นไปได้ สามารถแปลงอิมพิแดนซ์ของ ZL ให้กลายเป็น 50 Ω ได้ เช่น ถ้าโหลด ZL มีค่าเป็น 72 Ω และสายนำสัญญาณมีความต้านทานจำเพาะเป็น 60 Ω ถ้าเราตัดสายนำสัญญาณลงจำนวนคี่ของ ¼λ จะทำให้อิมพิแดนซ์อีกด้านหนึ่งเป็น 50 Ω ได้ ดูภาพที่ 5
ภาพที่ 5 เมื่ออิมพิแดนซ์ของทั้งโหลด ZL
และอิมพิแดนซ์จำเพาะของสายนำสัญญาณ
Z0 ไม่เป็น 50Ω (ในตัวอย่าง Z0 เป็น 60Ω
และ ZL เป็น 72Ω) จะเป็นไปได้ที่การตัด
สายนำสัญญาณนั้นจะแปลงให้อิมพิแดนซ์
อีกด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ ( Z(ℓ) )
ถูกแปลงให้กลายเป็น 50 Ω ได้
ภาพที่ 6 การแปลงอิมพิแดนซ์โดย
สายนำสัญญาณตามภาพที่ 5
ข้อสังเกต
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมจุดสีแดงในภาพที่ 5 จึงมีอิมพิแดนซ์เป็น 50 Ω ได้ทั้งที่ไม่ได้อยู่ที่จุดศูนย์กลางแบบในภาพที่ 4 นั่นก็เป็นเพราะสมิทชาร์ทในภาพที่ 4 เรา normalized กับ Z0 = 50 Ω แต่ในภาพที่ 5 เรา normalized กับ Z0 = 60 Ω หลักการก็คือ เราใช้สายนำสัญญาณที่มีความต้านทานจำเพาะ Z0 เท่าใด เราต้อง normalized กับค่า Z0 นั้นนั่นเอง
ตัวอย่างความไม่บังเอิญ #1
มีคนบอกว่า ชีวิตอาจจะไม่ได้โชดีเสมอไป ส่วนมากก็มักเป็นแบบนั้นเสียด้วยสิ ลองมาดูกรณีอื่นกันบ้างคือ เมื่อ 50 Ω < ZL < Z0 เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าสายนำสัญญาณของเราจะยาวเท่าไร มันจะแปลงอิมพิแดนซ์ ZL ให้มีค่าสูงกว่า Z0 ขึ้นไปอีก (ขึ้นไปมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ว่าความยาวเป็นเท่าไร) ลองดูภาพที่ 7 ที่เป็นตัวอย่างที่เราต่อโหลดที่มีอิมพิแดนซ์ 52 Ω ด้วยสายนำสัญญาณที่มีอิมพิแดนซ์จำเพาะ 55 Ω
ภาพที่ 7 เมื่อ 50 Ω < ZL < Z0
จะเห็นว่า ไม่ว่าสายนำสัญญาณจะยาว
เท่าไร (เส้นประวงกลมสีชมพู) ค่า r
จะเท่าหรือมากกว่า 0.94 เสมอ เมื่อคูณกับ
Z0 คือ 55 Ω แล้ว ย่อมได้ค่าที่เท่ากับ
หรือมากกว่า 52 Ω เสมอ เช่นกัน
ตัวอย่างความไม่บังเอิญ #2
อีกตัวอย่างของความไม่บังเอิญ เมื่อ 50 Ω > ZL > Z0 คราวนี้จะเกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามกันคือ ไม่ว่าสายนำสัญญาณของเราจะยาวเท่าไร มันจะแปลงอิมพิแดนซ์ ZL ให้มีค่าต่ำกว่า Z0 ลงไปอีก นั่นคือ ทริมอย่างไรก็ไม่ลงเช่นกัน ดูภาพที่ 8
ภาพที่ 8 เมื่อ 50 Ω > ZL > Z0
คราวนี้จะเห็นว่าไม่ว่าสายนำสัญญาณจะ
ยาวเท่าใด มันจะแปลงอิมพิแดนซ์ให้
เท่ากับหรือต่ำกว่า 1.04 × Z0 เสมอ
ทำให้อิมพิแดนซืที่เห็นอีกข้างหนึ่ง
เท่ากับหรือต่ำกว่า ZL คือ 46 Ω เสมอ
สรุป - เมื่อใดที่การทริมสายอาจจะช่วยได้
การที่เราทริมสายนำสัญญาณแล้ว ดูเหมือนทำให้ (และมันก็ทำให้ จริงๆ) อิมพิแดนซ์เข้าใกล้ 50 Ω ได้ นั่นคือทำให้ VSWR ที่วัดได้มีค่าใกล้เคียง 1:1 มากขึ้นนั้น (ไม่คิดถึงเรื่องที่มีกระแสไหลที่เปลือกนอกของ shield ของสาย coaxial นะครับ) เป็นเพราะ เป็นกรณีบังเอิญซึ่งจะ เป็นไปได้ คือ
- เมื่อ 50 Ω < Z0 < ZL หรือ
- เมื่อ ZL < Z0 < 50 Ω
และเน้นอีกทีว่า แม้เป็นตามเงื่อนไขหนึ่งในสองข้อนี้ จะมีความ เป็นไปได้ ที่จะทริมสายนำสัญญาณแล้วจะได้ผลดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าทริมแล้วจะได้ค่า 50 Ω แน่นอนเสมอไปนะครับ (คือแค่ เป็นไปได้ เพราะขึ้นอยู่กับค่า ZL และ Z0 ที่แท้จริงว่าเป็นเท่าไร ใกล้ ห่าง กันแค่ไหนด้วย) แล้วจะสังเกตเห็นว่า ทั้งสองเงื่อนไข เกิดเมื่อความต้านทานจำเพาะของสายนำสัญญาณ ( Z0 ) มีค่าไม่เท่ากับ 50 Ω นั่นคือ.. สายนำสัญญาณไม่ได้มาตรฐาน 50 Ω จริงๆ
จากประสบการณ์ สายนำสัญญาณบางเส้นอาจจะมีอิมพิแดนซ์จำเพาะสูงกว่า 50 Ω เล็กน้อย เช่นอยู่ในช่วง 53-57 Ω ดังนั้นการทริมสายนำสัญญาณอาจจะช่วยทำให้ ZL ที่มีค่าประมาณ 56-65 Ω ถูกแปลงให้มีอิมพิแดนซ์ที่ปลายสายอีกด้านหนึ่งเข้าใกล้ 50 Ω ได้ดีขึ้น (เข้าเงื่อนไขความ เป็นไปได้ ข้อ 1 ด้านบน)
สายครู?!?
คราวนี้ บางคนอาจจะพยายามตัดสายนำสัญญาณให้มีความยาวหนึ่ง (ส่วนมากคือ ให้เป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่น) ซึ่งวิธีการที่ได้มาอาจจะโดยการคำนวณ ก็จะมีปัญหาอีกว่า ค่าตัวคูณความเร็วนั้นถูกต้องไหม เป็นอย่างที่เราคิดว่ามันเป็นจริงหรือ (เราเคยวัดกันแล้ว ก็เพี้ยนไป เพี้ยนมา บ้าง)
เพื่อนบางท่านสร้างสายนำสัญญาณที่ว่าขึ้นมาด้วยการใช้โหลด 50 Ω ต่อด้านหนึ่ง แล้วตัดจนอ่านค่า VSWR ได้ 1:1 ที่อีกด้านหนึ่ง คราวนี้ยิ่งแปลก เพราะถ้าด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณเป็น 50 Ω แล้วถ้าสายนำสัญญาณที่ยาวต่างกันทำให้ VSWR ที่มองเห็นอีกด้านหนึ่ง (เป็นคนละเรื่องกับ VSWR ในสายนำสัญญาณเองนะครับ) เปลี่ยนไปมาได้แล้วล่ะก็ สายนำสัญญาณนั้นมีค่าความต้านทานจำเพาะไม่ใช่ 50 Ω แล้วล่ะ แม้อิมพิแดนซ์อีกข้างหนึ่งจะเป็น 50 โอห์ม แต่ VSWR ในตัวสายไม่เป็น 1:1 นะครับ (คือ มีคลื่นนิ่งในสายนำสัญญาณ) ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนความถี่ สายที่ตัดไว้นั้นก็ไม่ได้ยาวลงเป็นจำนวนเท่าของครึ่งความยาวคลื่นอีกต่อไป และด้วยความที่ตัวมันมีความต้านทานจำเพาะไม่เท่ากับ 50 Ω มันย่อมพร้อมจะแปลงอิมพิแดนซ์ได้เสมอ แล้วมันจะเป็นครูใครได้ล่ะครับ
นั่นคือ เมื่อเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราต้องเข้าใจอย่างแท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง การจะตัดจะทริมอะไรหรือไม่อย่างไรทำไปทำไม เพื่ออะไร มีเหตุผลหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นการทำสิ่งต่างๆ ก็อยู่ที่ว่าโชคดีหรือไม่เท่านั้นเอง จริงไหมครับ แล้วพบกันในบทความต่อๆ ไปนะครับ
QRU 73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)