วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การขานสัญญาณเรียกขานที่ถูกต้อง

สัญญาณเรียกขานของเรา


เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นกิจการสากลที่มีอยู่ในเกือบทุกประเทศในโลกจะเว้นก็เพียงแต่สองประเทศก็คือเยเมนและเกาหลีเหนือเท่านั้นที่ไม่มีกิจการวิทยุสมัครเล่น ในแต่ละประเทศจะมีสัญญาณเรียกขานของนักวิทยุสมัครเล่นของตัวเองที่เป็นมาตรฐานมีการตกลงกันโดยหน่วยงานนานาชาติคือ ITU (The International Telecommunication Union) เช่นประเทศไทยขึ้นต้นด้วย HS และ E2 ประเทศมาเลเซียคือ 9M และ 9W ฮ่องกงก็ขึ้นต้นด้วย VR เป็นต้น

การมีสัญญาณเรียกขานก็เพื่อการระบุตัวตนของนักวิทยุสมัครเล่นคนนั้นให้เป็นการแน่นอนเมื่อก่อนนี้สำหรับประเทศไทยเราอาจจะยึดติดอยู่กับคำว่าสัญญาณเรียกขานเป็นของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะโดยที่บางท่านจากโลกนี้ไปแล้วก็ไม่เอาไปให้คนอื่นใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไป ที่จริงแล้วก็คงแค่เหมือนกับประเทศอื่นที่ไม่ได้ให้คนใดคนหนึ่งเป็นการถาวร ก็เพียงเหมือนกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เราแค่ยืมมาใช้ เมื่อไรก็ตามที่เรายกเลิกการใช้รถยนต์คันนั้นไป เราก็ต้องเอาทะเบียนไปคืนกับทางราชการเพื่อให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป  ดังนั้นเวลาที่เราเรียกขานเพื่อน เรา (เขา) อาจจะถามว่าชื่ออะไร (อ่านเรื่อง ชื่ออะไรหรือครับ ประกอบ) เนื่องจากว่าชื่อของตัวเองจึงจะติดตัวไปตลอด ไม่เหมือนสัญญาณเรียกขานที่สามารถคืนได้ ขอใหม่ได้ เพื่อนวิทยุสมัครเล่นในหลายประเทศอาจจะมีสัญญาณเรียกขานมาแล้ว 5-6 สัญญาณเรียกขานก็ได้ (คือ เปลี่ยนมาหลายครั้ง) ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

ต้องขานให้เต็มและบ่อยตามควร

ไม่ว่าเราจะมีสัญญาณเรียกขานปัจจุบันเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้มาตลอดหรือถูกเปลี่ยนมาแล้วก็ตาม สิ่งที่ควรจะทำคือการขานให้ครบทั้งหมด ทั้งหมวดประเทศ หมวดตัวเลข/เขต และอักษรชุดหลัง ทั้งของตัวเองและของเพื่อนที่เราสนทนาด้วย เนื่องจากหลายๆ ครั้งเราอาจจะได้ยินเพื่อนบางท่านเรียกเพียงบางส่วนของสัญญาณเรียกขานเช่นตัวหนังสือภาษาอังกฤษสองหรือสามตัวหลังโดยละหมวดประเทศ และหมวดตัวเลข/เขต เอาไว้ การทำอย่างนั้นถือว่าผิดทั้งกฏระเบียบ และอาจจะเลยไปเป็นการพาดพิงเพื่อนนักวิทยุท่านอื่นที่เป็น “คู่แฝด” ก็ได้

เช่น แทนที่จะเรียก (สมมติ)
HS1ZYX กลับเรียกเป็น ZYX เฉยๆ ซึ่งต้องไม่ลืมว่ายังมี HS0, 2-9, E20, 1-4 (นับถึงปัจจุบัน) ที่มีตัวลงท้ายเป็น ZYX เหมือนกัน คือตกลงไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่นั่นเอง  ดังนั้นในการเรียกขาน จะต้องเรียกให้ครบ และ ตามปกแล้วจะต้องขานด้วยความถี่อย่างน้อยทุกๆ 10 นาทีหรือถี่กว่านั้น โดยอาจจะใช้รูปแบบเป็น
  • E26XYZ จาก HS0DJU <ข้อความสนทนา>
  • <ข้อความสนทนา> E26XYZ จาก HS0DJU
  • E26XYZ จาก HS0DJU <ข้อความสนทนา> E26XYZ จาก HS0DJU
เป็นต้น

ก็มันยาว ทำอย่างไรดีล่ะ

หลายท่านอาจจะบอกว่าสัญญาณเรียกขานมันยาวเหลือเกินทำอย่างไรดีถึงจะเรียกสั้นๆ ได้ การเรียกด้วยตัวอักษรไม่กี่ตัวก็เพราะมันสั้นกว่ามาก วิธีการไม่ยากเลยครับ เชื่อว่าท่านคงมีชื่อเล่นกันอยู่แล้ว ดังนั้นเราเรียกขานก็เรียกและขานให้เต็ม แต่ระหว่างที่เราสนทนาก็เรียกชื่อเล่นได้  การเรียกชื่อเล่นนี้ไม่ได้มีกฎว่าห้ามเรียกนะครับ เพียงแต่ต้องขานสัญญาณเรียกขานด้วย และต้องขานให้เต็มด้วยเท่านั้นเองครับ

เป็นมาตรฐานของนักวิทยุทั่วไป

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกระทำเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เป็นมาตรฐานปฏิบัติโดยทั่วไป แม้กระทั่งคู่มือนักวิทยุสมัครเล่นของประเทศสหรัฐอเมริกา (Ethics and operating procedures for the radio amateur Edition 3 June 2010 โดย IARU - คลิกที่นี่) ก็ยังเขียนอย่างชัดเจนว่าต้องขานสัญญาณเรียกขานให้ครบถ้วนห้ามตัดส่วนใดส่วนหนึ่งทิ้งไปครับ

ภาพที่ 1 คำแนะนำจากคู่มือจริยธรรมและ
การสื่อสารสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นของ IARU
(The International Amateur Radio Union)

เมื่อทุกท่านปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นต่อๆ ไปให้ทำตามได้อย่างถูกต้องครับ สำหรับวันนี้ต้องขอบอกว่า
QRU 73
DE HS0DJU / KG5BEJ
แล้วพบกันใหม่ในเรื่องต่อไปนะครับ