"ขอโทษนะครับ ชื่ออะไรหรือครับ"
ถ้าคำถามนี้ถูกถามกับคนทั่วไปในโอกาสที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก ก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับนักวิทยุไทยแล้ว ถ้าเราได้ยินคำถามนี้ในการสนทนาทางวิทยุ (หรือ "ทางความถี่") เราอาจจะรู้สึกแปลก ว่าทำไมต้องถาม ถามทำไม ก็รู้สัญญาณเรียกขานอยู่แล้วนี่ไม่เห็นต้องถามและอาจจะได้คำตอบเป็น
... เอ่อ ก็ (บอกสัญญาณเรียกขานกลับมา) ไงครับ ....
ดังนั้น สำหรับบทความครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังสำหรับธรรมเนียมสากลปกติของเพื่อนๆ นักวิทยุสมัครเล่นของประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ครับ เพื่อเราจะได้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้นต่อไปในอนาคต
โดยปกติแล้ว "ชื่อ" ของนักวิทยุสมัครเล่นไทยเรามักติดยึดกับ สัญญาณเรียกขาน คือใช้แทนชื่อได้ (ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนัก) เพราะเมื่อก่อนสัญญาณเรียกขานนี้จะติดไปกับตัวเรา เปลี่ยนไม่ได่ จะติดตัวเราไปจนตาย ตายแล้วก็ไม่เอาไปให้ใคร (หลังๆ มาชักไม่แน่ อาจจะโดนยึดได้ คงเป็นเพราะว่าเริ่มขาดแคลนด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าไม่ใช้ก็ถูกเรียกคืนได้)
ไม่เหมือนในหลายประเทศที่สัญญาณเรียกขานจะไม่ติดยึดกับคน แถมเลือกหรือเปลี่ยนได้ก็มี ดังนั้นเวลาคุยกันบนคลื่นวิทยุ นอกจาก ถามสัญญาณเรียกขานกันแล้วจึงยังมีการถาม "ชื่อ" กันด้วย ส่วนจะตอบเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริงก็ไม่มีใครว่าอะไร เราจะเห็นธรรมเนียมนี้ได้ชัดเจนจากการพูดคุยกับเพื่อนนักวิทยุต่างประเทศในย่านความถี่ HF (High Frequency) ที่สามารถติดต่อกันได้ไกลทั่วโลก
นั่นคือ การถามชื่อกันจึงเป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ หรือ การติดต่อระหว่างประเทศ นั่นเอง
โดยการถามนี้อาจจะถามตรงๆ ว่า Your name? What is your name? หรือ Handle? ก็ได้ (handle เป็นสแลง ในภาษาวิทยุ หมายถึง name นั่นล่ะครับ)
ทีนี้ บางครั้ง มีนักวิทยุไทยคุยกันแล้วถามชื่อ ก็อย่าหมองใจกัน เพราะเป็นธรรมเนียมอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้แสดงความไม่ไว้ใจ หรืออยากรู้อยากเห็นใดๆ ทั้งสิ้นแต่เป็นธรรมเนียมที่ทำกันเป็นธรรมดา และบางครั้งเมื่อทราบชือแล้วเราก็อาจจะเรียกชื่อบ้างแทนการขานสัญญาณเรียกขาน (ซึ่ง ตามระเบียบสากลคือให้ขานทุก 10 นาทีหรือถี่กว่านั้น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องขานทุกครั้ง)
QRU 73 de HS0DJU / KG5BEJ