* ในความเป็นจริงแล้ว สายอากาศไม่ได้มี VSWR ในตัวของมันเอง แต่ VSWR นั้น เกิดบนสายนำสัญญาณที่มาต่อกับสายอากาศนั้น ต่างหาก และค่าจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่าอิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนของสายอากาศต่างจากความต้านทานจำเพาะของสายนำสัญญาณที่นำมาต่อเข้าด้วยกันอยู่เท่าไร
เครื่องวัด VSWR
VSWR meter ที่นักวิทยุสมัครเล่นใช้กันส่วนมากจะใช้หลักการของ Directional Coupler (ดูหมายเหตุด้านล่าง) คือเขาทำวงจรพิมพ์ (PCB) เป็นลวดลายของสายนำสัญญาณที่มีอิมพิแดนซ์จำเพาะของระบบ (Zo, characteristic impedance, ทำนองเดียวกับของสายนำสัญญาณแหละ เช่น 50Ω)
จากนั้นก็ "coupling" (เหนี่ยวนำ) สัญญาณออกมาโดยใช้ลวดลายวงจรพิมพ์ที่วางไว้ใกล้ๆ กัน (sensing line) โดยการ coupling นี้กำหนดทิศทางได้ว่าเป็นคลื่นที่วิ่งไปข้างหน้าหรือไปข้างหลังด้วยการวางทิศทางของไดโอด ดูรูปที่ 1
เครดิตภาพ: wikipedia
สัดส่วนของโวลเตจที่วัดได้ระหว่างคลื่นที่ไปข้างหน้ากับไปข้างหลังคือ Г (แกมมา ตัวหนังสือภาษากรีก หมายถึงสัมประสิทธิการสะท้อนกลับ จริงๆ เป็นปริมาณเวคเตอร์ มีทั้งขนาดและทิศทาง อาจจะเขียนในรูป phasor ได้เป็น Г=|Г|∠θ)
จากนั้นเราจะคำนวณ SWR จากเฉพาะขนาดของ Г คือ (1 + |Г|)/(1 - |Г|) ซึ่งใน SWR meter ที่นักวิทยุสมัครเล่นใช้กันอาจจะอาศัยเข็มไขว้แล้ววาดแนวเส้น SWR (จะเห็นว่าเส้น SWR บนหน้าปัดของมิเตอร์แบบเข็มไขว้เป็นเส้นโค้ง คือไม่เป็นเชิงเส้น เพราะสมการ SWR = (1 + |Г|)/(1 - |Г|) ไม่ใช่สมการเชิงเส้น) ถ้าเป็นแบบเข็มเดี่ยวก็ใส่วงจร calibrate เข้าไป
จะเห็นว่าที่จริงก็เป็นวงจรง่ายๆ (และที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายรูปแบบมากซึ่งคงนำมาให้ดูไม่ครบ แต่เทคนิคการทำให้ดีคือขนาดของลายเส้น ตำแหน่งต่างๆ และอุปกรณ์ที่ใช้ต้องดี (แหมก็มันมีอยู่แค่นั้นอะนะ 55)
หมายเหตุ
คำว่า Coupling (คับปลิ้ง) นี้ นักวิทยุฯ นักอิเล็กทรอนิกส์ คงจะได้ยินบ่อย ซึ่งหมายถึง “การเชื่อมโยงทางไฟฟ้า/แม่เหล็ก/พลังงานใดๆ (เช่น แสง) อาจจะโดยตรงคือมีการสัมผัสกัน, ผ่านอุปกรณ์บางอย่าง (เช่น L, C, R), หรือผ่านการเหนี่ยวนำแบบไม่สัมผัส ก็ได้”
Directional coupling (ไดเร็กชันนั่ล คับปลิ้ง) คือการเชื่อมโยงแบบมีทิศทาง คือ จะเชื่อมเฉพาะทิศที่ออกแบบไว้เท่านั้น
ในกรณีของ SWR meter นี้คือเชื่อม 2 ทิศทางแยกกัน ทั้งไปข้างหน้า (forward) และไปข้างหลัง (backward ซึ่งคือ reflect) นั่นเอง