วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

Pile Up คืออะไร


โดย คุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ (E25JRP)
บรรณาธิการ จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) 

วิทยุสมัครเล่นมีหลายความถี่และหลายโหมดในการติดต่อสื่อสาร โหมดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงก็คือโหมด CW หรือที่เรียกกันว่ารหัสมอร์ส และด้วยความมีประสิทธิภาพสูงจึงติดต่อได้ไกลและมากมายหลายสถานีทั่วโลก การติดต่อนี้อาจจะเริ่มด้วยการ CQ เพื่อหาสถานีที่จะมาสนทนาด้วย จะเพื่อการทดสอบสายอากาศใหม่ เพื่อหาเพื่อนใหม่หรือแม้แต่คุยแก้เหงาก็ตาม 

หลายโอกาสเราจะได้ยินคำแปลกๆ พ่วงต่อท้าย CQ ในโหมด CW หรือรหัสมอร์สนี้ต่อท้ายสัญญานเรียกขานด้วย เช่น CQ DX, CQ EU, CQ NA, CQ TEST  โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจะเป็นตัวบ่งบอกความต้องการเฉพาะของการเรียกขานนั้นๆ (ทั้งหมดนี้ใช้การเคาะเป็นรหัสมอร์สนะครับ) 

  • CQ DX เป็นการบอกว่าผู้ CQ ต้องการติดต่อสถานีทางไกล มักหมายถึงสถานีนอกประเทศของตน
  • CQ EU คือต้องการติดต่อกับสถานีในทวีปยุโรป
  • CQ NA เป็นการบอกให้รู้ว่าผู้เรียกต้องการติดต่อกับสถานีจากอเมริกาเหนือ (North America) เท่านั้น เป็นต้น
  • CQ TEST เป็นการบอกให้รู้ว่าสถานีนั้นกำลังอยู่ระหว่างการแข่งขัน (TEST ย่อมาจาก contest หรือ แข่งขัน) 

ในบรรดาตัวพ่วงทั้งหลายนั้น ก็จะมี UP อยู่ด้วย โดยมักจะแจ้งไว้หลังสัญญานเรียกขานของสถานี เช่น CQ CQ DE AA1ABC AA1ABC UP ซึ่งหลายๆ คนมักจะงงว่า คำว่า UP นั้นหมายถึงอะไรและทำไมต้อง UP

Pile Up เพื่อนๆ สุมกองรวมกัน

การจะพูดถึงเรื่อง UP ก็คงหนีไม่พ้นที่จะพูดถึง Pile Up ควบคู่ไปด้วย คำว่า Pile Up แปลตรงตัวคือการเอาอะไรมากองๆ สุมๆ กันไว้ สถานการณ์ Pile up (สามารถใช้ว่า Pileup หรือ Pile-up ได้เช่นกัน) มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีสถานีหายากปรากฏตัวขึ้นบนความถี่แล้ว CQ ให้โอกาสเพื่อนๆ ติดต่อเข้ามา ซึ่งเมื่อสถานีต่างๆ รู้ข่าว ก็จะพากันมาพยายามติดต่อด้วยทำให้สัญญานทับซ้อนกันจนไม่สามารถจับใจความได้ ยิ่งเป็นแบบนี้ทุกคนก็ยิ่งร้อนใจ ยิ่งพยายามส่งกันเร็วขึ้น ถี่ขึ้น แย่งกันแบบใครดีใครอยู่ (อันนี้ล้อเล่นนะครับ ก็มีจังหวะ มารยาทตามสมควรล่ะนะ)  สุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถติดต่อกันได้เลยเพราะสัญญาณของสารพัดสถานีทับซ้อนกันหรือ Pile up ตามความหมายนั่นเอง 

แล้วจะฟังกันรู้เรื่องหรือ 

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นก็มักจะไม่รู้เรื่องไงครับ โดยทั่วไป สถานีที่เรียกขานก็จะมีอยู่ 2 ทางเลือก

1. พยายามเลือกเอาเอง

หากมีสถานีเรียกขานซ้อนกันไม่มากนักก็รับมือกับ Pile up บนความถี่เดิมนั้น โดยการส่งเฉพาะตัวอักษรที่ตัวเองพอจะรับได้เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้เรียกขานลงไปบางส่วนเหลือเฉพาะสถานีที่ต้องการ เช่น เมื่อมีการเรียกขานซ้อนเข้ามาจำนวนมาก สถานีต้นทางสามารถไม่สามารถรับสัญญานเรียกขานของใครได้แบบเต็มๆ แต่บังเอิญรับตัวอักษร RP ในสัญญาณเรียกขานได้ ก็ส่งเฉพาะตัวอักษร RP ออกไป  สถานีอื่นใดที่ไม่มี RP อยู่ในสัญญานเรียกขานจะหยุดความพยายามส่งสัญญาน เพื่อให้เฉพาะสถานีที่มีตัวอักษร RP ในสัญญานเรียกขานมีโอกาสติดต่อเข้าไป (ซึ่งก็อาจจะมีมากกว่า 1 สถานีก็เป็นได้ เช่น RP1ABC มาพร้อมกับ E25JRP และ ZZ7RPQ เป็นต้น)  เมื่อทำแบบนี้ ปริมาณสัญญานที่ทับซ้อนกันจะลดลงทำให้รับข้อความได้ง่ายขึ้น ซึ่งในครั้งนี้

เมื่อสามสถานีต่างส่งสัญญานเรียกขานเข้าไป สถานีต้นทางอาจจะรับได้มากขึ้น จาก RP เป็น RP1 สถานีต้นทางก็ส่งคำว่า RP1 กลับมา สถานีอื่นที่เหลือก็จะต้องหยุดออกอากาศ เพื่อให้ RP1ABC เป็นผู้ติดต่อก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเริ่มกระบวนการคัดกรองใหม่ซ้ำไปจนครบทุกสถานี (หรือจนหมดแรงไปเสียก่อน)

หากจะยกตัวอย่างเทียบกับการติดต่อด้วยเสียงก็คงจะเหมือนกับการทดสอบสัญญานประจำวันที่แต่ละสถานีก็จะพยายามเรียกขานสถานีควบคุมข่ายจนเสียงทับซ้อนกันไปหมด สถานีแม่ข่ายก็จะตอบกลับสั้นๆ ว่า "ลงท้ายด้วย ....” สถานีอื่นก็จะหยุดการออกอากาศเพื่อให้สถานีผู้ทำการทดสอบสัญญาณระบุเป็นผู้เรียกขานเข้าไปก่อนนั่นเอง

2. ใช้เทคนิค Split Mode

เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรับมือกับ Pile up ก็คือใช้ Split Mode นั่นคือการออกอากาศที่ความถี่หนึ่ง แต่รับฟังที่อีกความถี่หนึ่ง หรือที่เราเรียกกันว่า UP นั่นเอง (ลักษณะเดียวกับ Duplex ที่สถานีทวนสัญญาณทั้งหลายทำงานอยู่นั่นแหละครับ แต่คราวนี้เราเป็นคนทำเอง) เช่น สถานี A ส่งสัญญาน CQ ที่ความถี่ 7.007 MHz โดยลงท้ายว่า UP เป็นการบอกว่าเขาจะไปรับฟังที่ความถี่สูงขึ้น หากเราซึ่งเป็นผู้ตอบเรียกกลับไปที่ความถี่ 7.007 MHz สถานี A จะไม่ได้ยิน เราต้องตั้งวิทยุของเราให้รับฟังสัญญานที่ 7.007MHz เอาไว้ แต่เมื่อเราออกอากาศตอบกลับ ให้เครื่องออกอากาศที่ความถี่ที่สูงขึ้นไป (เป็นที่มาของคำว่า UP คือ ผู้ CQ รับฟังที่ความถี่สูงขึ้น) เช่น 7.008 MHz เป็นต้น ซึ่งความถี่ในการส่งกลับนั้น เราจะต้องสุ่มทดลองเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ โดยจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราส่งสัญญานเรียกขานไปแล้ว สถานี A ส่งสัญญานเรียกขานของเรากลับมา (ก็ต้องส่งกลับไปถึงเขาด้วยอะนะ) แปลว่าเราส่งสัญญานบนความถี่ที่ A มาแอบฟังอยู่พอดี เราก็ดำเนินการในการติดต่อต่อไป

การที่สถานี A ทำเช่นนี้ ก็เพื่อให้สถานีที่กำลังรุมตอบ CQ อยู่ ได้กระจายตัวกันออกไปทดลองตอบสถานี A ที่ความถี่ต่างๆ เพื่อลดปริมาณการทับซ้อนของสัญญาน ทำให้สถานี A สามารถรับข้อความได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

เขา UP มา แล้วเราจะ UP ไป ตรงไหนดี

การที่สถานี A ที่เป็นผู้ CQ ออกอากาศด้วยการลงท้ายว่า UP ผู้ตอบจะไม่รู้ชัดเจนหรอกครับว่าสถานี A ไปคอยรับฟังอยู่ที่ความถี่เท่าไร เพียงรู้ว่าสูงขึ้นไป "ไม่กี่ KHz" (มักจะในช่วง 1-2 KHz) เท่านั้นเอง ให้ไปเดาเอาเอง (ในโหมด CW ถ้าเราเปลี่ยนความถี่ไปเพียง 100 Hz ก็รับกันไม่ได้แล้ว ทำให้ในความถี่ "ไม่กี่ KHz" อาจจะทำให้สถานี 10-20 สถานี กระจายๆ ออกจากกันได้) แล้วทำไมต้องทำเหมือนแกล้งกันด้วย จริงๆ ก็ไม่ได้แกล้งหรอกครับ แต่เพราะถ้ารู้แน่นอนว่าความถี่เท่าไร ทุกสถานีก็จะไปรุมกันอยู่ที่ความถี่นั้นจนสุดท้ายก็รับข้อความไม่ได้เลยอยู่เหมือนเดิม  เว้นแต่บางสถานีที่ CQ จะระบุชัดเจนว่า UP1 หรือ UP2 เขาก็มักจะไปอยู่ "แถวๆ นั้น"

ที่ร้ายกาจกว่านั้นก็คือ เมื่อผ่านไปซักระยะ หลายๆ สถานีก็จะเริ่มจับได้ว่าสถานี A ที่เรียก CQ แอบมารับฟังอยู่ที่ความถี่ไหน ก็จะเริ่มมาออรวมกันจนสถานี A รับข้อความไม่ได้ สถานี A ก็อาจจะเปลี่ยนความถี่ที่รับฟังเพื่อหนีไปอีก สถานีต่างๆ ก็จะต้องตามล่าค้นหากันใหม่อีกรอบ

ดังนั้น เพื่อให้สามารถสื่อสารกับสถานีที่เรียกขานแบบ UP ได้เราก็ต้องศึกษาคู่มือเครื่องวิทยุของเรา เพื่อให้สามารถใช้งาน Split Mode ได้อย่างคล่องแคล่วด้วยนะครับ จะได้ตามล่าสถานีหายากได้สนุกขึ้น และติดต่อกับสถานีหายากได้ครับ 

73 Bangkok CW Group / The DXER Clubstation 
(ขอบคุณภาพประกอบ: hamtoon.net)