วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ฟังก์ชั่น RIT คืออะไร

 

โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) 

นักวิทยุสมัครเล่นไทยส่วนใหญ๋แล้วอยู่ในขั้นที่เรียกว่า ขั้นต้น (Basic) ซึ่งมักจะคุ้นเคยกับย่านความถี่ 2 เมตร (145 MHz รับ/ส่ง) และ 70 เซนติเมตร (430 MHz รับเท่านั้น) ที่จริงแล้วเมื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นที่สูงขึ้น (เช่น ขั้นกลางหรือสูง) จะมีย่านความถี่ให้เราได้เลือกใช้มากมายนับสิบย่านความถี่ (ดูหมายเหตุ 1) 

นอกจากนั้นยังมีโหมดต่างๆ ให้เราเลือกเล่นอีกนอกไปจาก FM เช่น AM SSB CW เป็นต้น นี่ไม่รวมถึงการผสมสัญญาณที่ไม่ใช่แต่เพียงเสียงพูด แต่อาจจะเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้อีก 

ในบางโหมดของการสื่อสาร เช่น CW (Continuous Wave หรือรหัสมอร์ส) หรือ SSB (Single Side Band) ความถี่ของทั้งสองสถานีจะต้องค่อนข้างตรงกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเสียงพูดที่ได้ยินก็จะเพี้ยน (เสียงออกแนว บี้ๆ) ในโหมด SSB หรือถ้าเป็นโหมด CW ก็อาจจะถึงกับรับกันไม่ได้ถ้าฝ่ายรับตั้งช่วงกว้างของการกรองความถี่ไว้แคบมาก ในการติดต่อสื่อสารจึงอาจจะจำเป็นต้องมีการปรับความถี่ไปด้วย (ดูหมายเหตุ 2) 

การติดต่อแบบรหัสมอร์สหรือ CW

การติดต่อในโหมดนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก เครื่องส่งกำลังน้อยๆ ก็อาจจะติดต่อได้หลายพันกิโลเมตรในย่านความถี่ HF ที่เหมาะสม หรือแม้แต่ย่านความถี่ VHF ก็ยังติดต่อได้ไกลกว่าโหมด FM มาก  การเคาะก็มีช้าหรือเร็วไปตามความชำนาญของคู่สถานีที่ติดต่อกัน รวมไปถึงข้อความที่จะสนทนากันด้วย สมมติว่าเมื่อเราเริ่มการติดต่อ ทั้งสองสถานีปรับความถี่จนตรงกันที่สุด (มีเทคนิกที่เรียกว่า zero beat) แล้วก็เคาะรหัสมอร์สติดต่อกันไป 

ถ้าเป็นบรรดาเซียนที่เคาะแบบแข่งขัน ก็อาจจะใช้ความเร็ว 35-40 คำ/นาที ซึ่งทำได้เนื่องจากข้อมูลที่ต้องการมีเพียง สัญญาณเรียกขาน รายงานสัญญาณที่รับได้ (ในทางปฏิบัติมักให้เป็น 599 ในโหมด CW อยู่แล้ว) และสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งก็คงใช้เวลาไม่กี่วินาที ก็คงจะไม่ได้เดือดร้อนว่าความถี่ของเครื่องส่งเครื่องรับของแต่ละสถานีจะเปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไรนัก 

แต่ถ้าเป็นการคุยแบบเอาเรื่องเอาราว มีการส่งข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างซับซ้อน อาจจะถามเรื่องกำลังส่ง สายอากาศ สภาพดินฟ้าอากาศ และจิปาถะ (ก็เคาะมอร์สคุยกันได้นะครับ) ก็คงเคาะเร็วด่วนแบบ 35 ถึง 40 คำต่อนาทีไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์จิ้มเพื่อบันทึกข้อความ (ก็ต้องพิมพ์สัมผัสเป็นอีกนะ) แต่มีแค่กระดาษกับปากกา ถึงจะฟังออกที่ความเร็วขนาดนั้นก็คงจดไม่ทันอยู่ดี (คนเราปกติแล้วเขียนได้ด้วยความเร็วไม่น่าจะเกิน 30 คำต่อนาที) ในทางปฏิบัติก็มักจะงลดความเร็วลงมาซัก 20 ถึง 25 คำต่อนาทีเป็นอย่างมาก (ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็เกือบจะจดไม่ทันอยู่แล้ว) ทีนี้เวลาคุยกันก็อาจจะใช้เวลานานขึ้นมาก บางทีอาจจะนานถึง 10 ถึง 15 นาทีหรือมากกว่านั้นก็มี

แล้วติดต่อ CW กันนานๆ เนี่ยจะมีปัญหาอะไร

เครื่องวิทยุที่ผลิตขายกันในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่ถ้าเราใช้เครื่องสมัยนี้คุยกับเครื่องสมัยก่อน หรือเครื่องสมัยก่อนคุยกันเอง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสร้างเครื่องส่งหรือรับเอาไว้ทดลอง เวลาใช้วิทยุไปนานๆ มีความเป็นไปได้มากที่ "ความถี่จะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากที่ตั้งเอาไว้"  ยิ่งเป็นเครื่องวิทยุที่ออกแบบและสร้างขึ้นมาทดลองใช้เอง ยิ่งเป็นไปได้มาก ที่ความถี่จะเคลื่อนไป เพราะการควบคุมความถี่ให้คงที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอก

ทีนี้ ลองนึกเล่นๆ ว่าในขณะติดต่อกัน ถ้าแต่ละสถานีพยายามปรับความถี่ทั้งภาคส่งและรับของตัวเอง (ก็คือการหมุนปุ่มปรับความถี่รวม ซึ่งเป็นปุ่มใหญ่ที่สุดในวิทยุส่วนมากนั่นแหละ) ไปตามความถี่ของคู่สถานี พอขยับหน่อยอีกสถานีก็หมุนตาม อีกข้างก็ขยับตามไปทั้งความถี่ส่งและรับ พอคุยไปเรื่อยๆ สถานีที่หมุนตามก็ขยับไปอีกหน่อย อีกข้างหนึ่งก็หมุนปรับความถี่ตามไปสุดท้ายหลังจากคุยกันไปสัก 20 นาทีอาจจะพบว่าความถี่สุดท้ายกับความถี่เริ่มต้นผิดกันไปมาก แล้วความถี่ที่ใช้ก็อาจจะค่อยๆ ขยับเคลื่อนไปรบกวนเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นคนอื่นที่กำลังใช้ความถี่อื่นอยู่ก็ได้ 

แล้วโหมดเสียงพูดล่ะเป็นแบบเดียวกันไหม

อีกกรณีที่เป็นไปได้ก็คือโหมดเสียงพูดเช่น SSB (Single Side Band) ที่เสียงจะเปลี่ยนไปถ้าเราปรับความถี่ภาครับต่างไป บางทีในขณะที่สนทนากันนั้นเราอาจจะฟังบางคำไม่ออกเพราะสภาพการแพร่กระจายคลื่นเปลี่ยนไป หรือสำเนียงภาษาที่เราไม่คุ้นเคย เราอาจจะต้องการปรับความถี่ภาครับเพื่อให้โทนเสียงที่เราได้ยินเปลี่ยนไป และเข้าใจคำพูดได้ดีขึ้น ถ้าเราปรับปุ่มปรับความถี่ปุ่มใหญ่ที่ทำให้ความถี่ภาครับเราเปลี่ยนไป แต่ภาคส่งก็เปลี่ยนไปด้วย คราวนี้ล่ะคู่สถานีของเราก็อยากฟังโทนเสียงของเราในแบบที่เขาชอบ เขาก็จะปรับปุ่มความถี่ใหญ่ตาม สุดท้ายก็จะทำให้ความถี่ที่สนทนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เกะกะระรานเพื่อนฝูงที่ใช้อยู่วุ่ยวายไปหมด

สิ่งที่เกิดนี้เรียกว่า run-away คือความถี่ "วิ่งหนี" ไปเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้น หรือเราอาจจะเรียกว่า กู่ไม่กลับ นั่นเอง

ปุ่ม RIT จึงถือกำเนิดขึ้นมา

เพื่อป้องกันการปรับทั้งความถี่รับเพื่อให้ตัวเองรับได้เสียงที่พอใจแต่ไม่ไปปรับความถี่ส่งจนเพลินไปด้วย วิศวกรจึงออกแบบให้วิทยุสามารถปรับความถี่เฉพาะภาครับให้แตกต่างจากความถี่ของภาคส่งของตัวเองได้โดยการสร้างปุ่ม RIT (Receiver Incremental Tuning) ขึ้นมา เมื่อเราปรับปุ่ม RIT ความถี่ภาคส่งของเครื่องของเราจะคงที่ (อย่างน้อยมันก็คิดว่ามันคงที่ของมันแหละ คืออาจจะขยับบ้างตามคุณภาพ และความสมบูรณ์ของเครื่อง แต่ก็ไม่ใช่ขยับเพราะเราไปปรับมัน) 

เมื่อเรารับคู่สถานี (หรือ อยากรับคู่สถานีให้) ได้เสียงโทน (CW) ที่เปลี่ยนไป หรือเสียงพูดในโหมด SSB ที่เราเข้าใจง่าย เราจะปรับเฉพาะปุ่ม RIT บนเครื่องของเราเพื่อให้ได้โทนเสียงที่เราพอใจ 

เมื่อทั้งสองด้านของคู่สถานีทำเหมือนกันเช่นนี้ผลโดยรวมคือ ความถี่ในการสนทนาจะไม่เคลื่อนเลื่อนไปเรื่อยๆ แต่จะถูกตรึงเอาไว้ที่ความถี่ส่งของทั้งคู่ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

ประสบการณ์

ผู้เขียนเองเคย "ไม่ใช้" ฟังก์ชั่น RIT ในการติดต่อกับเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นจากต่างประเทศในย่านความพี่ HF ซึ่งเขาทำเครื่องใช้เอง ก็ไม่รู้ว่าจะเพราะความถี่ของเขาก็ไม่คงที่ หรือเขาปรับความถี่ (ทั้งส่งและรับ เพราะเป็นเครื่องทำเองก็คงไม่ได้มีฟังก์ชั่นปุ่ม RIT แยกออกมา) ให้รับเสียงผมได้เสนาะหูของเขา พอเขาเปลี่ยนความถี่ไป ผมก็หมุนความถี่ปุ่มใหญ่ที่เครื่องของผม (ก็คือทั้งภาคส่งและภาคครับ) ตาม (ก็อยากรับเสียงเขาให้เพราะเหมือนกันไงล่ะ) เขาไป คุยกันไปความถี่เขาก็ขยับหนีไปเรื่อยๆ ผมก็ปรับตามไปเรื่อย สุดท้ายกว่าจะคุยจบ ความถี่ขยับไปจากตอนแรกหลาย KHz ดีนะที่ไม่มีใครใช้ความถี่อยู่ข้างๆ ไม่อย่างนั้นคงไปรบกวนคนอื่นเขาไปทั่ว

ถ้าแต่ละสถานี "ตรึง" ความถี่ส่งเอาไว้ แล้วคุยๆ ไป แล้วอยากรับโทนเสียงที่ตัวเองต้องการก็ปรับเพียงปุ่ม RIT ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้  


หมายเหตุ 1
เพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือสูง แต่ต้องการเรียนรู้ หรือทดลองใช้งานย่านความถี่อื่น สามารถทดลองได้ที่สถานี "คลับสเตชั่น" ที่เป็นขั้นกลางขึ้นไป ภายใต้ระเบียบและการดูแลของเพื่อนๆ ในคลับนั้น The Dxer (E20AE) เองก็เป็นคลับสเตชั่นที่ยินดีให้เพื่อนๆ ได้ทดลองและเรียนรู้เช่นกัน 

หมายเหตุ 2
ในการติดต่อในย่านความถี่ HF (หรือ VHF บางแบนด์ บางโหมด) เราจะไม่กำหนดขั้นหรือ step ของความถี่ เพื่อนๆ อาจจะคุ้นเคยว่าในย่านความถี่ 2 เมตร (145 MHz) โหมดเสียงพูด FM เรากำหนดขั้นไว้เป็น 12.5 KHz แต่ในย่าน HF จะไม่มีขั้นเช่นนี้ คือปรับตรงไหนก็ได้ ครึ่งๆ กลางๆ ก็ได้ไม่ว่ากัน


สรุป

  1. ในการติดต่อ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนความถี่ในการรับสักเล็กน้อยเพื่อให้ฟังเข้าใจขึ้น หรือหนีการรบกวนจากความถี่ข้างๆ หรือรู้สึกว่าความถี่คู่สถานีเปลี่ยนไปให้เราปรับปุ่ม RIT เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ การทำเช่นนี้จะทำให้ความถี่ส่งของเราเองไม่ขยับไปไหน 
  2. คู่สถานีของเรา ก็ต้องทำแบบเดียวกัน คือปรับเฉพาะปุ่ม RIT ของเขา เพื่อไม่ให้ความถี่ส่งของเขาขยับไปไหน
  3. เมื่อทำตามข้อ 1 และ 2  ความถี่ที่ใช้สนทนาจะไม่วิ่งหนีไปเรื่อย (run-away)


เกร็ดความรู้

บางกรณี ในเครื่องที่ไม่มี "split mode" เรายังสามารถพลิกแพลงใช้ฟังก์ชั่น RIT ในการติดต่อแบบ split ได้ เช่น เพื่อน CQ แบบ Split หรือเขาส่งที่ความถี่หนึ่งและไปรับฟังคนตอบอีกความถี่หนึ่ง สมมติเป็น

7.010 MHz UP 2 (คือคน CQ ส่งมาที่ 7.010 MHz แต่จะไปรับฟังที่ความถี่สูงขึ้นไป 2 KHz คือ 7.012 MHz) เราก็ตั้งเครื่องส่งเราไว้ที่ 7.012 MHz แล้วปรับ RIT ไปทาง -2 KHz เพื่อมาฟังเขาที่ 7.010 MHz ก็ได้

แต่ในเครื่องวิทยุบางรุ่นเช่น IC7300, IC-718 ของ ICOM จะใช้การตั้ง VFO A และ B ไว้ที่คนละความถี่กัน เช่น

VFO A = 7.010 MHz
VFO B = 7.012 MHz
แล้วกดปุ่ม SPLIT
เครื่องก็จะเข้า SPLIT mode ให้เลยก็สะดวกต่อการใช้งานกว่า 

ไว้คราวหน้า นึกอะไรดีๆ ออกก็จะนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันอีกนะครับ สำหรับวันนี้ 

73 DE HS0DJU ครับ