วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ชมรม The DXER (E20AE) สอนการใช้งานรหัสมอร์สเบื้องต้น

โดย คุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ (E25JRP)

การสื่อสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นนั้นมีหลายรูปแบบหรือโหมดให้เราเลือกใช้ แต่ละโหมดก็มีข้อดีข้อเสียของตัวเอง โหมดเสียงจะเข้าใจได้ง่ายแต่ใช้พลังงานมากและมีประสิทธิภาพต่ำ โหมดดิจิตอลสามารถทำให้เราสามารถสื่อสารได้ในสภาพที่มีการรบกวนสูงหรือสัญญาณมีขนาดต่ำมากแต่ต้องการเครื่องมือซับซ้อน โหมดคลื่นต่อเนื่อง (CW) หรือที่เรียกว่ารหัสมอร์สใช้เครื่องมือง่ายใช้พลังงานน้อยและมีประสิทธิภาพสูงแต่ต้องการทักษะในการใช้งาน

โหมด CW หรือรหัสมอร์สนี้เองจึงเป็นสิ่งที่เรายังคงเห็นความสำคัญและยังคงอยู่ในการสอบขั้นกลางของนักวิทยุสมัครเล่นไทย

ทำไมรหัสมอร์สจึงมีเสน่ห์ในการเรียนรู้

แม้ว่าหลายประเทศจะนำการสอบรหัสมอร์สออกจากการสอบแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าการสื่อสารในโหมด CW ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในหมู่นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก จนเกิดเป็นกลุ่มชมรมต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเองที่ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีการสอบการใช้งานรหัสมอร์ส ก็มีชมรมที่เน้นการสื่อสารด้วยรหัสมอร์สอยู่ไม่น้อย ชมรมเหล่านี้จัดการเรียนการสอน (ทั้งฟรีและแบบมีค่าใช้จ่าย) รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ ARRL เอง ก็ยังมีการออกอากาศเป็นรหัสมอร์สด้วยความเร็วต่างๆ ผ่านทางสถานี W1AW เพื่อให้นักวิทยุสมัครเล่นสามารถฝึกซ้อม และรับ Certificate สำหรับความสามารถในการรับข้อความที่ความเร็วต่างๆอีกด้วย

ขณะที่ในประเทศไทยเอง แม้ว่าเราจะยังคงให้มีการทดสอบการรับรหัสมอร์สในการสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางอยู่ แต่นักวิทยุสมัครเล่นของไทย กลับหาแหล่งความรู้เกี่ยวกับการฝึกรหัสมอร์สได้ยาก และข้อมูลโดยมากมักเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งยากต่อความเข้าใจ การฝึกจึงมักเป็นการฝึกด้วยตัวเอง หรือมีอยู่ในกลุ่มของคนที่รู้จักสนิทสนมกันในวงจำกัดเท่านั้น อีกทั้งยังมักจะเป็นการฝึกสำหรับเพื่อใช้สอบที่ความเร็ว 8 คำต่อนาที ทำให้บางคนเมื่อสอบผ่านแล้ว ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ เพราะมีปัญหาทั้งด้านความเร็วที่เพื่อนสถานีต่างๆ ใช้งานกันจริงๆ และรูปแบบการสื่อสารว่าคุยกันอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ เพื่อนในชมรม The DXER (E20AE) นำโดยคุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ (E25JRP) และมีคุณจิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) และอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม จัดตั้งกลุ่มการเรียนการสอนรหัสมอร์สขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี Internet มาช่วย เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนแบบสดๆ และรองรับผู้เรียนจำนวนมากได้ โดยใช้เทคนิคการฝึกแบบ Koch Method และ Farnsworth ซึ่งได้รับการยอมรับในปัจจุบันมาใช้ เพื่อให้ผู้ฝึกสามารถพัฒนาทักษะในการรับรหัสมอร์สที่ความเร็วสูงได้ดี

การเรียนการสอน ทำผ่านโปรแกรม Zoom จึงทำให้ข้อจำกัดเรื่องระยะทางหมดไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ชมรม Long Island CW Club ที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ (คุณสุพจน์ ช่วยสอนเพื่อนๆ ต่างประเทศที่ชมรมดังกล่าวแบบทางไกลด้วย) และประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี

นอกจากการฝึกเพื่อให้สามารถรับข้อความรหัสมอร์สได้แล้ว เนื้อหายังคงมีเรื่องของการพัฒนาทักษะการส่ง, ธรรมเนียมปฏิบัติในการสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส, ตัวย่อและศัพท์เฉพาะต่างๆ, รวมไปถึงโครงสร้างในการสนทนาด้วยรหัสมอร์สอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว ผู้เรียนจะสามารถทำการติดต่อสื่อสารด้วยรหัสมอร์สได้เป็นอย่างดี

ทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนการสอน

1. โปรแกรม Zoom (โหลดได้ฟรี ทั้งบน PC และอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ)
2. Internet ความเร็วสูง
3. โปรแกรม G4FON (โหลดได้ฟรี)
4. คันเคาะและ Oscillator (สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกการส่ง)
5. กระดาษ ปากกา
6. เวลาสำหรับฝึกฝนด้วยตัวเอง วันละ 15 – 20 นาที

ภาพที่ 1 คุณสุพจน์ (E25JRP)
กำลังสอนการใช้งานรหัสมอร์ส
ให้เพื่อนๆ แบบออนไลน์

รูปแบบการเรียนการสอน

ผู้เรียนและผู้สอนจะพบกันผ่านโปรแกรม Zoom สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นให้ผู้เรียนทำการทบทวนบทเรียนด้วยตัวเองระหว่างสัปดาห์ วันละ 15 – 20 นาที

ภาพที่ 2 ส่วนหนึ่งของเพื่อน
นักวิทยุสมัครเล่นที่ร่วมเข้าเรียนรู้
การใช้งานรหัสมอร์สกับชมรม

โครงสร้างและเนื้อหา

  •  เรียนรู้ตัวอักษร ตัวเลข และอักขระพิเศษ สัปดาห์ละ 4 ตัว
  • เรียนรู้คำย่อและศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส ให้สอดคล้องกับตัวอักษรที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว
  • ฝึกการรับข้อความเป็นคำ หรือประโยค โดยใช้ตัวอักษรที่เรียนรู้ไปแล้ว พร้อมทั้งส่งข้อความตอบกลับ เพื่อเป็นการฝึกทักษะด้านการส่ง
  • เรียนรู้โครงสร้างของการสนทนาด้วยรหัสมอร์ส พร้อมทั้งอธิบายธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งทดลองสื่อสารด้วยรหัสมอร์สกับสมาชิกด้วยกันในห้องเรียน

ระยะเวลาที่ใช้

ในการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับตัวอักษร ตัวเลข และอักขระต่างๆ ใช้เวลา 10 สัปดาห์ ส่วนเนื้อหาอื่นๆ จะเป็นการสอดแทรกอยู่ในเนื้อหา 10 สัปดาห์นั้น แต่ในอนาคต เมื่อมีผู้เข้าฝึกมากขึ้น อาจจะมีการเรียนการสอนมากกว่า 1 คลาสต่อสัปดาห์ เพื่อลดความแออัด รวมทั้งแยกเนื้อหาส่วนต่างๆ ออกเป็นคลาสเฉพาะออกไป เช่นการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการรับที่ความเร็วสูง, การฝึกเรื่องการส่งโดยเฉพาะ, การทำความเข้าใจในโครงสร้างการ QSO โดยละเอียด ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับทักษะของผู้ฝึกแต่ละคน

สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านรหัสมอร์สมาก่อนเลย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะสามารถเรียนรู้จนสามารถสื่อสารด้วยรหัสมอร์สที่ความเร็ว 10 คำต่อนาทีได้  ซึ่งการเรียนในคลาสแรกนี้จัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2563 

ผู้สอน เพื่อนๆ ผู้เข้าร่วมฝึกในคอร์สนี้ และชมรม The DXER รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมริเริ่มการเรียนการสอนรหัสมอร์สแบบออนไลน์ในไทย ทั้งนี้ น่าจะเป็นคอร์สแรกในประเทศไทยในรูปแบบนี้เลยก็ว่าได้ และเราก็จะร่วมกันสร้างสรร ส่งเสริมกิจกรรม ความรู้อันดีให้กับเพื่อนๆ และวงการวิทยุสมัครเล่นต่อไป

แล้วพบกันทั้งบนอากาศ และในห้องเรียนมอร์สต่อๆ ไปและขอขอบคุณเพื่อนๆ ทุกท่านที่ให้การสนับสนุนชมรมและกิจกรรมองชมรมเสมอมาครับ