วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สัญญาณเรียกขานนั้นสำคัญไฉน (อะไรกันนักหนา)


โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)

สัญญาณเรียกขานที่ว่านี้ หมายถึงสำหรับนักวิทยุสมัครเล่น และเนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของ ITU ดังนั้นเราจึงใช้สัญญาณเรียกขานเป็นสากล คือขึ้นต้นด้วย HS หรือ E2 นั่นเอง นอกนั้นไม่นับนะครับ (หมีขาวหนึ่ง, ไก่ทหารม้าหนึ่งศูนย์หนึ่ง, บ่อปลาสี่สิบสาม อะไรพวกนี้ ไม่นับนะครับ)

การจะได้มาซึ่งสัญญาณเรียกขาน

สมัยก่อน ในประเทศไทย เมื่อคนคนหนึ่งมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นนักวิทยุสมัครเล่น (คือสอบผ่านข้อสอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข) เขาสามารถขอสัญญาณเรียกขานได้ การจะขอนั้นขอเลยก็ไม่ได้ ต้องซื้อเครื่องวิทยุสื่อสารก่อน ซึ่งราคาแพงมาก ซื้อแล้วถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการ (ซึ่งโดยนัยแล้วต้องมีความประพฤติดี ไว้วางใจได้) ยังต้องรอสอบประวัติกับหน่วยงานตำรวจ ว่าไม่เป็นผู้มีประวัติเสียหาย ใช้เวลาหลายเดือน (ของผู้เขียนเองก็ 4-5 เดือน) สัญญาณเรียกขานจึงเป็นที่หวงแหนของนักวิทยุรุ่นแรกๆ มาก ใครเป็นนักวิทยุสมัครเล่น มีสัญญาณเรียกขาน จะถือว่าเป็นผู้มีเกียรติและ "ไว้วางใจได้" การจะใช้คำพูดต่างๆ จะระมัดระวังมาก ให้สมกับที่ได้รับเกียรตินั้น

จึงจะเห็นว่านักวิทยุสมัครเล่นสมัยก่อน ที่ได้สัญญาณเรียกขาน "เก่าๆ ยุคแรกเริ่ม" ที่นักวิทยุสมัครเล่นไทยได้รับกันมาจึงมีความหมายกับเขามาก เพราะไม่ได้มาง่ายๆ ปัจจุบัน การขอสัญญาณเรียกขานนั้นง่ายกว่าเดิมมาก  ปัจจุบันในบางประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา) หากสอบความรู้ผ่าน จะได้รับสัญญาณเรียกขานเลยโดยไม่ต้องไปขอก็มี หรือในประเทศไทย การขอสัญญาณเรียกขานก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องวิทยุ ไม่ต้องสอบประวัติเหมือนที่ผ่านมา

แง่มุมของสัญญาณเรียกขาน

สัญญาณเรียกขานถูกเข้าใจไปในหลากหลายแง่มุม เช่น เป็นของฉัน (คน) เป็นของคนคนเดียว เป็นชื่อของคน ไปจนถึงเป็นของคนคนเดียวตลอดไป คือแบบเกินกว่าตลอดชีวิตอีก (งั้นก็ต้องถึงชาติหน้าสิ) เขียนไป เล่ามา ชักงงแล้วสิ  เดี๋ยวผมค่อยๆ เล่าเรื่องประกอบความงงไปก่อนนะครับ

นักวิทยุทั่วไปในโลกคุยกันอย่างไร

ปกติแล้วเวลานักวิทยุสมัครเล่นติดต่อกัน ก็ทำได้ในหลายโหมด อาจจะเป็นเสียงพูด (phone, โฟน) ไปจน CW (continuous wave, คอนตินิวอัส เวฟ) หรือก็คือรหัสมอร์ส นอกจากจะบอกสัญญาณเรียกขานของทั้งคู่สถานีให้ครบ บอกระดับสัญญาณ (เป็น RS ในโหมดเสียงพูด หรือ RST ในโหมด CW) แล้ว เพื่อนมักบอกชื่อ อายุ บริเวณที่อยู่ จำนวนปีที่เป็นนักวิทยุ นี่คือเรื่องปกติ ที่เราจะถามหรือบอกเรื่องเหล่านี้กันเป็นสากล  บางที นักวิทยุไทยบางท่านก็แปลก พอถามชื่อ โกรธเลยก็มี  ก็โถท่าน เขาก็ต้องถามสิ เพราะมันสำคัญ เท่าๆ หรือ มากกว่าสัญญาณเรียกขานไง ถึงได้ถาม

สัญญาณเรียกขานเก่ากับใหม่

ในต่างประเทศ บางคนนี่เห็นสัญญาณเรียกขานใหม่ๆ แต่ อายุ 85 เป็นนักวิทยุมา 73 ปีก็มี แหม.. ไม่อยากแก่ไง โธ่วว เพราะสัญญาณเรียกขานน่ะเหรอ... อะไรก็ได้  จิ๊บๆ บางคนได้หรือขอสัญญาณเรียกขานใหม่ จะได้เคาะมอร์สละสลวยสวยกว่าอันเก่าโบราณๆ ก็มีขอบอก (ฮ่าๆ) 

ตัวอย่าง
การติดต่อในโหมด CW หรือรหัสมอร์ส เพื่อนจะถามตอบบอกกันเรื่อง ชื่อ ที่อยู่ อายุ เป็นนักวิทยุมาแล้วกี่ปี ไม่ใช่เรื่องแปลก

ตัวอย่างการติดต่อในโหมด CW
นอกจากสัญญาณเรียกขานแล้ว ยัง
มีการถามชื่อ ที่อยู่ อายุ และเป็นนัก
วิทยุสมัครเล่นมานานเท่าไรแล้วด้วย


สัญญาณเรียกขานเก่าใหม่ อะไรเจ๋งกว่ากัน

ที่จริงสัญญาณเรียกขานของแต่ละท่าน ก็มีไว้บอกว่าท่านมีสิทธิใช้ย่านความถี่ใด กำลังส่งเท่าไร, มีไว้ QSL card, ไว้แข่ง, ไว้แทนชื่อสถานี (ซึ่งลงข้อมูลไว้ว่าตั้งอยู่แห่งหนใด) เท่านั้นแหละครับ ไม่มีอะไรเจ๋งไม่เจ๋งหรอกครับ

แล้วนอกความถี่ล่ะ

พวกเอกสาร รางวัล (Awards), ประกาศนียบัตร (Certificates)  ต่างๆ ที่ได้มาตรฐานสากล จะลงชื่อ ลงนามสกุล (ที่พ่อแม่ตั้งให้) เป็นหลัก (เพราะนั่นคือตัวเรา) คู่กับสัญญาณเรียกขาน ทั้งนั้นครับ ไม่มีหรอกที่จะเขียนแต่สัญญาณเรียกขานอย่างเดียว (ยกเว้นที่ไม่ได้มาตรฐานสากล)
เช่นเดียวกับในบทความ หรือประกาศ ต่างๆ ของชมรมฯ เอง เราจะเอา ชื่อ (บางครั้ง นามสกุลด้วย) ขึ้นก่อนเสมอ เพราะแสดงถึงตัวนักวิทยุท่านนั้นๆ จริงๆ แล้วจึงตามด้วยสัญญาณเรียกขาน (ที่อาจจะเปลี่ยนได้ ไม่แปลกอะไร

การเปลี่ยนสัญญาณเรียกขานเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ

ลองเปรียบเทียบสัญญาณเรียกขานกับ ทะเบียนรถ หรือ ตู้ไปรษณีย์ที่เราเช่าไว้ก็ได้  นั่นคือ เปลี่ยนได้ (บางที "จองเลขสวย" ได้ด้วยนะเอ้า) ในต่างประเทศบางคนเปลี่ยนสัญญาณเรียกขาน 5-6 ครั้งหรือมากกว่าแล้ว (เปลืองเนอะ แต่เขาก็คืนอันเก่าไป คนอื่นอาจจะชอบใจขอเอาไปใช้ก็ได้)

สัญญาณเรียกขานแสดงสิทธิการใช้ความถี่

ดังนั้นสัญญาณเรียกขาน เป็นเพียงสิ่งที่บอกว่า ใครมีสิทธิใช้ความถี่วิทยุสมัครเล่น ในย่านที่เขาได้รับอนุญาต ตามที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูลของผู้คุ้มกฏ (Regulator, เรกูเลเตอร์ ในประเทศไทยเมื่อนานมาแล้วคือ กรมไปรษณีย์โทรเลข และปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.)

สัญญาณเรียกขานในฐานะชื่อสถานี

อีกนัยหนึ่ง สัญญาณเรียกขานเป็น "ชื่อสถานี" ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนชื่อเราหรอก เช่น ผมไปออกอากาศที่สถานีของ E25JRP ผมก็ต้องใช้สัญญาณเรียกขานเป็น E25JRP นะครับ ไม่ใช่ HS0DJU จากนั้นอาจจะบอกต่อว่า โอเค Operator คืออ๊อด สัญญาณเรียกขาน HS0DJU แบบนี้จึงถูกต้อง

ดังนั้น สัญญาณเรียกขาน กับ ชื่อ ใช้แทนกันไม่ได้ตรงๆ นั่นเอง และไม่ได้สำคัญไปกว่า ชื่อ นามสกุลจริงๆ ของเรา และเราถือประกาศนียบัตรนักวิทยุสมัครเล่นขั้นใด และเป็นนักวิทยุฯ มานานเท่าใด และอื่นๆ อีกมากมาย

สรุป

สัญญาณเรียกขานมีความสำคัญ เป็นสิ่งที่บอกว่าใครมีสิทธิใช้ความถี่และกำลังส่งใด หรือหมายถึงสถานีหนึ่งๆ (เช่น คลับสเตชั่น หรือ สถานีสัญญาณเรียกขานพิเศษต่างๆ) เมื่อได้รับแล้วควรเป็นผู้มีเกียรติ ใช้งานถูกต้องตามระเบียบและหลักปฏิบัติที่ดี  อย่างไรก็ตามสัญญาณเรียกขานไม่ได้ใช้แทนชื่อเราเพราะมันเปลี่ยนกันได้ ดังที่ยกตัวอย่างไว้ข้างบน ที่เราคงไม่ใช้ทะเบียนรถของเรา หรือตู้ ปณ. ที่เราเช่าเอาไว้แทนชื่อของเราหรอก จริงไหมล่ะครับ

แล้วพบกันใหม่ในเรื่องราวดีๆ ต่อไปนะครับ สำหรับวันนี้ หมดข้อความก่อนนะครับ
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)