วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เขาคุยอะไรกันใน CW QSO


โดย คุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ  (E25JRP)
บรรณาธิการ จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)

หลังจากบทความเกี่ยวกับการใช้งานรหัสมอร์สที่ผ่านมา เราคุยกันถึงเรื่องการฝึกรับรหัสมอร์ส มีเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นสอบถามเพิ่มเติมในกลุ่มไลน์ (ชมรมของเรามีไลน์กลุ่มสาธารณะด้วยนะครับ แถมยังมีห้องเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องรหัสมอร์สและการสื่อสารในโหมด CW ด้วย โฆษณาซะหน่อย) ว่าฟังแล้วแกะไม่ออก ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน หรือบางคนที่มีเครื่องและคันเคาะอยู่แล้ว ฝึกมาสักระยะหนึ่ง อยากจะลองออกอากาศ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องคุยอย่างไร วันนี้เลยขออนุญาตนำรูปแบบของการติดต่อ (เรียกว่า QSO) ในโหมด CW (Continuous Wave) หรือเรียกง่ายๆ ว่ารหัสมอร์สนั่นล่ะ มาพูดคุยกัน

ที่จริงปัญหาฟังแล้วไม่รู้เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักวิทยุสมัครเล่นไทยที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษเท่านั้นหรอกครับ แม้แต่เจ้าของภาษาเอง เมื่อต้องออกอากาศในโหมด CW ครั้งแรก ก็งกๆ เงิ่นๆ ไม่แพ้พวกเราหรอกครับ เพราะมีทั้งรหัสคิวหรือ Q codes (อันนี้พอทน แต่ที่แปลกมากๆ ก็ทนไม่ค่อยไหวเหมือนกัน) และตัวย่อต่างๆ (อันนี้แหละ เจ้าของภาษาก็ใช่ว่าจะรู้)  มากมายไปหมด จนถึงขั้นในสถาบันที่สอนรหัสมอร์สทั้งหลายยังต้องมี Cheat Sheet หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าโพย เอาไว้ให้นักเคาะมือใหม่ได้ใช้เป็นที่พึ่งกันเลยทีเดียว

ราลองมาดูตัวอย่างโพยของฝรั่งกันครับ

A :    CQ CQ CQ DE A A A K (A คือ
         สัญญาณเรียกขานของสถานี A เช่น
         E25JRP ก็เคาะให้ครบถ้วน)

B :    A DE B K (B คือสัญญาณเรียกขาน
         ของสถานี B เช่น HS0DJU ก็เคาะ
         ให้ครบถ้วน)

A :    <HEADER>  FB GM/GA/GE OM
         TNX FER CALL UR RST 599 599
         QTH ________ (2 รอบ)
         OP/NAME_______ (2 รอบ) HW?
         <FOOTER> K

B :    R R R <HEADER> TNX FER
         INFO UR RST 599 599
         QTH _________ (2 รอบ)
         OP/NAME_______ (2 รอบ) HW?
         <FOOTER> K

A :    R R R <HEADER> TNX FER
         INFO RIG/PWR/ANT/
         WX___________ (2 รอบ)
         HW? <FOOTER> K

B :    R R R <HEADER> TNX FER
         INFO RIG/PWR/ANT/
         WX___________ (2 รอบ)
         HW? <FOOTER> K

A :    R R R <HEADER> TNX FER QSO
         CU AGN 73 73 <FOOTER>
         TU E E (ส่งเสียง ดิ๊ด 2 ครั้ง)

B :    R R R <HEADER> CU AGN 73
        73 TU E E

A :    E E

อธิบายตัวย่อต่างๆ

<HEADER>, <FOOTER> เป็นคำขึ้นต้นและลงท้าย ประกอบด้วยคอลซายน์ของคู่สถานี DE คอยซายน์ของผู้ส่งข้อความ (เช่น E25JRP DE HS0DJU) โดยปกติอาจจะไม่ต้องมีทุกข้อความก็ได้ แต่โดยข้อกำหนด จะต้องใส่ HEADER หรือ FOOTER อย่างน้อยทุกๆ 10 นาทีของการสนทนา และต้องส่งเมื่อสิ้นสุดการสนทนาในครั้งนั้นๆ ด้วย

DE = From
K = เป็นการลงท้ายข้อความ เพื่อให้คู่สถานีตอบกลับ
FB = Fine Business หมายถึง โอเคดี รับสัญญาณได้ทั้งหมด
R = Roger คือรับทราบ รับข้อความได้ (ถ้ารับได้ไม่ครบ บางส่วนขาด อย่าเคาะ R)
GM = Good Morning, GA = Good Afternoon, GE = Good evening
OM = Old Man (แสลงของนักวิทยุสมัครเล่น หมายถึงเพื่อนรัก แต่ก็มักใช้เรียกกันทั่วไป แม้จะเจอกันครั้งแรกก็ตาม)
TNX = Thanks
FER = For (เราจะเคาะ FOR ก็ได้ แต่ไม่นิยม เพราะตัว O เคาะแล้วใช้เวลามากกว่า E)
UR = Your หรือ You Are (ได้สองความหมาย)
OP = Operator ผู้ควบคุมสถานี
HW = How (เมื่อใช้เป็น HW? มักหมายถึง รับข้อความเป็นอย่างไรบ้าง)
RIG = เครื่องรับส่งวิทยุ
PWR = Power
ANT = Antenna
WX = Weather
CU = See You
AGN = Again
? = คำถาม อะไรที่มี ? ตามหลังคือคู่สถานีถามถึงสิ่งนั้นของเรา
E E = หรือ การส่งเสียง ดิ๊ด สองครั้ง เป็นการบอกว่าจบการสนทนา

จะเห็นได้ว่า รูปแบบการติดต่อหรือ QSO ของนักวิทยุสมัครเล่นในโหมด CW ก็ไม่ได้ต่างไปจากโหมดเสียงพูดปกตินัก โดยมากจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเรียกขาน ระดับสัญญาณที่รับ/ส่งได้ ข้อมูลสถานีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้ง ชื่อผู้ควบคุมสถานี เครื่องรับส่ง สายอากาศ กำลังส่ง สภาพอากาศ และอื่นๆ ซึ่งหากสนิทสนมคุ้นเคยกันแล้ว อาจจะมีการพูดคุยสัพเพเหระทั่วไปเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้ เช่นเรื่องหมาแมวที่เลี้ยงไว้ เล่าเรื่องชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่นินทา XYL ก็ตาม (อันนี้ผมทำบ่อย) หรือหากเป็นการแข่งขัน การสนทนาก็จะสั้นกว่านี้มาก เพื่อเป็นการแข่งกับเวลา
เพียงแต่สิ่งที่ต่างไปจากการ QSO ในโหมดเสียงพูดปกติก็คือ การสื่อสารในโหมด CW นั้น จะใช้ตัวย่อ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Abbreviation อยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และรักษาไขข้อของเรานั่นเอง (ผมเคยเคาะคุยกับ HS0DJU อยู่เกือบ 40 นาที เล่นเอาต้องนวดข้อมืออยู่พักใหญ่ทีเดียวครับ แต่อย่าถามนะครับ ว่าคุยอะไรกันบ้าง เดี๋ยวหัวแตก 55555)

ดังนั้น การที่เราจะสามารถเข้าใจการสนทนาของชาว CW Mode ได้ จำเป็นที่เราจะต้องศึกษาตัวย่อต่างๆ ที่ใช้ รวมถึงรูปแบบการสนทนาในโหมด CW ด้วย ซึ่งเท่าที่มีอยู่ในโพยนี้ จริงๆ ก็ครอบคลุมตัวย่อส่วนใหญ่ที่ใช้ประจำเกือบทั้งหมดแล้ว แต่หากต้องการทราบมากกว่านี้ ลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า CW Abbreviation ได้เลยครับ

และเมื่อเราเห็นโครงสร้างของการสนทนาแล้ว แม้ว่าเราจะไม่สามารถจับข้อความได้ทุกตัวอักษร เพราะนักวิทยุสมัครเล่นแต่ละคนก็อาจจะใส่เครื่องประดับลงไปในข้อความของตัวเองต่างกันไป (เช่น QSL, FB, ALL CPI, SOLID CPI, ฯลฯ) แต่เนื้อหาหลักก็จะยังคงอยู่ในโครงสร้างลักษณะนี้ ซึ่งก็น่าจะทำให้เราสามารถตามเนื้อหาการสนทนาได้อยู่ และยิ่งเราฟังมากเท่าไหร่ ทักษะของเราก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น ผมเองในตอนที่เริ่มฝึกแรกๆ อาศัยการเปิดคลิปจาก Youtube แล้วแกะตาม ก็ไม่สามารถแกะข้อความได้เท่าไหร่หากไม่มีซับไตเติ้ลขึ้นมาช่วย แต่เมื่อฝึกไปได้ระยะหนึ่ง ลองย้อนกลับไปดูคลิปเดิมอีกครั้ง ก็สามารถแกะข้อความได้มากขึ้นกว่าเดิม แม้จะยังไม่ 100% ก็ตาม

ในครั้งหน้า เราจะมาหัดคัดลายมือกัน เตรียมอุปกรณ์ของท่านไว้ให้พร้อม แล้วพบกันครับ
CU AGN DE E25JRP TU E E