วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

เรื่องเล่าจากเพื่อนชาวอังกฤษ


วงการวิทยุสมัครเล่น ก็เหมือนกับวงการเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นไปทุกวัน เมื่อก่อนเรายังไม่มีอินเตอร์เน็ทใช้งาน วงการวิทยุก็ใช้การติดต่อสื่อสารกันโดยตรง อาจจะมีการเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐานบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย แต่เมื่อถึงยุคของอินเตอร์เน็ท นักวิทยุก็พยายามนำสัญญาณวิทยุมาต่อเชื่อม (เรียกว่าการ "เชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่น" สถานีที่ทำหน้าที่เชื่อมสัญญาณไปยังโครงข่ายอื่น หรือเรียกว่า Gateway จะต้องขออนุญาตจาก กสทช. เป็นพิเศษ) กับอินเตอร์เน็ท กลายเป็นระบบต่างๆ เช่น เอคโค่ลิ้งค์ (Echo Link หรือ E-Link) หรือที่เพิ่งมีหมาดๆ ในวงการวิทยุสมัครเล่นไทยก็คือ ระบบ DSTAR (Digital Smart Technology for Amateur Radio) นั่นเอง

แน่นอนว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ใช้ระบบ DSTAR (เป็นลิขสิทธิการเข้ารหัสของ ICOM) เพราะในต่างประเทศเขาใช้งานมาแล้วนับสิบปี เมื่อเรามีโอกาสได้ใช้งาน เราก็สามารถติดต่อกับเพื่อนต่างประเทศมากขึ้น หรือในทางกลับกัน เพื่อนต่างประเทศก็อาจจะเข้ามาติดต่อกับเราได้ง่ายขึ้น โดยการต่อเข้ามาที่ Reflector ที่ Repeater หรือ Hotspot ของเราต่อเชื่อมอยู่ แล้วคุยด้วยเครื่องวิทยุและสายอากาศเล็กๆ ก็สามารถติดต่อกันได้ชัดเจน (เพราะมีอินเตอร์เน็ทช่วยอยู่)

ภาษาอังกฤษ

นานมาแล้ว นักวิทยุชาวไทยเราเอง ก็คงติดต่อพูดคุยกับเพื่อนคนไทยด้วยกันเท่านั้น ยกเว้นนักวิทยุที่เป็นขั้นกลาง หรือสูง ที่ติดต่อกับเพื่อนนักวิทยุในต่างประเทศด้วยซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น Echo Link หรือ DSTAR ก็จะมีนักวิทยุต่างประเทศเข้ามาติดต่อเราได้ทุกวินาที ถ้าจะฝึกภาษาอังกฤษไว้บ้างก็ไม่เลวนะครับ อย่างน้อยจะได้สนทนาได้บ้าง

เพื่อนชาวอังกฤษ

ไม่นานมานี้ มีเพื่อนชาวอังกฤษติดต่อเข้ามาทาง ระบบ DSTAR ผ่าน Reflector 087C ของไทยเรา ซึ่งผม (HS0DJU) เปิดเครื่องอยู่พอดีจึงมีโอกาสสนทนาด้วย ในบางครั้งบทสนทนาของนักวิทยุก็มักจะไม่ยาวมาก คือ ถามคุณภาพการรับสัญญาณ สภาพดินฟ้าอากาศ ชื่อ บริเวณที่อยู่ เป็นต้น แต่เพื่อนท่านนี้ที่ชื่อคุณคริส อยู่เมืองลีดส์ (Leeds) ก็เมืองที่มีทีมฟุตบอล Leeds United ที่เราอาจจะเคยได้ยินชื่อกันนั่นล่ะครับ คุยเก่งมาก จึงมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นและสถานการณ์ของการเล่นวิทยุในสองประเทศค่อนข้างยาว จนเป็นที่มาของเรื่องเล่าสู่กันฟังครับ

1) ในประเทศอังกฤษเอง มีชั้นของนักวิทยุสมัครเล่น 3 ชั้นเหมือนในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา คือ ขั้นต้น (Foundation licence), ขั้นกลาง (Intermediate licence ), และขั้นสูง (Full licence)

2) ตั้งแต่ปี 2003 การสอบขั้นกลางในอังกฤษก็เหมือนกับในสหรัฐอเมริกาคือ ไม่มีการสอบรหัสมอร์ส (ในช่วงปี 1946 - 2001 ต้องสอบรหัสมอร์สที่ความเร็ว 12 คำต่อนาที และในช่วงปี 2001-2003 สอบที่ความเร็ว 5 คำต่อนาที)

3) กำลังส่งที่นักวิทยุขั้นต้นใช้ได้คือ 10 วัตต์ ขั้นกลางคือ 50 วัตต์เท่านั้น ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้ยินเสียงจากอังกฤษเท่าไรนัก (ขั้นสูง ใช้กำลังส่งได้เท่าไร ไม่มีข้อมูล)

4) ถ้ามีนักวิทยุจากประเทศที่มีสัญญาต่างตอบแทนกับอังกฤษ ก็อาจจะใช้สัญญาณเรียกขานชั่วคราวที่ขึ้นต้นด้วย M/ แล้วตามด้วยสัญญาณเรียกขานเดิมของนักวิทยุนั้นเป็นการชั่วคราว

ก็เป็นเรื่องราวที่ได้จากการพูดคุยกับนักวิทยุต่างชาติ ที่ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับเรา นะครับ อย่างไรแล้ว ถ้าเพื่อนๆ ที่สามารถสนทนาภาษาอังกฤษได้ แล้วมีเพื่อนต่างประเทศติดต่อเข้ามา ก็คุยสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แล้วนำมาเล่าให้ฟังกันบ้างก็ได้นะครับ

แล้วพบกันใหม่ในเรื่องเล่าต่อไปนะครับ
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)