กิจการวิทยุสมัครเล่นกิจการสากลที่แทบทุกประเทศในโลกนี้มีกิจการนี้ ปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2562 มีเพียงสองประเภทเท่านั้นคือเยเมนและเกาหลีเหนือที่ไม่มีกิจการวิทยุสมัครเล่น ก็หวังลึกๆ ในใจว่าจะมีกิจการนี้กับเขาบ้าง (เราจะได้มีโอกาสติดต่อกับเขาด้วย) ในแต่ละปีมีสมาคมวิทยุสมัครเล่นต่างๆ ในประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ให้ดำเนินงานการจัดสอบบุคคลเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น (แทบทั้งหมดก็คือขั้นต้น ยกเว้น สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือขั้นสูง) ก็ต้องแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบผ่านในแต่ละครั้งด้วยนะครับ
สอบผ่านแล้ว เป็นนักวิทยุสมัครเล่นหรือยัง
หลายท่านที่สอบผ่านแล้วเมื่อเห็นเครื่องวิทยุของเพื่อนก็จะอาจจะอยากไปใช้งานออกอากาศคุยกับใครเขาบ้าง ถามว่าทำได้หรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนคือไม่สามารถทำได้เนื่องจากท่านยังไม่มี “สัญญาณเรียกขาน” ของตัวเอง (ไม่นับการออกอากาศที่ “สถานีคลับสเตชั่น” ภายใต้การควบคุมของนักวิทยุสมัครเล่นที่เหมาะสม ที่มีวัตถุประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนักวิทยุสมัครเล่นที่มีสัญญาณเรียกขานแล้วมาออกอากาศได้ โดยใช้สัญญาณเรียกขานของคลับสเตชั่นนั้น) โดยสรุปคือ การที่บุคคลสอบผ่านและมีประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นนั้น ยังไม่ถือว่าท่านเป็นนักวิทยุสมัครเล่น นั่นเอง
ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่น
หลายท่านที่มีเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่เป็นวิทยุสมัครเล่นอยู่แล้วก็อาจจะพอสอบถามข้อมูลว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปได้อยู่บ้าง แต่อีกหลายท่านที่อาจจะไม่มีผู้แนะนำผมก็ขอถือโอกาสเล่าประวัติเล็กน้อยรวมทั้งแนะนำ ไปด้วยในเวลาเดียวกันนะครับ
ในสมัยก่อน (เช่นก่อนปี พ.ศ. 2535) หลังจากที่บุคคลสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นแล้ว การจะขอสัญญาณเรียกขานเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากเนื่องจากจะต้องมีการสอบประวัติของบุคคลนั้นเสียก่อน การสอบประวัติทำโดยการสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐเช่นตำรวจสันติบาลกันเลยทีเดียว ยกเว้นแต่คนนั้นเป็นข้าราชการซึ่งถือว่าต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีและไม่มีความเสียหายใดติดตัว หรือมีข้าราชการชั้นสูงรับรองให้ก็จะเพิ่มความรวดเร็วได้
ต่างจากสมัยนี้มากที่ บุคคลสามารถขอสัญญาณเรียกขานได้เลย เพียงแต่ท่านนำเอกสารที่ครบถ้วน ไปยังสำนักงาน กสทช. (ตามเขตต่างๆ ก็ได้) เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการออกสัญญาณเรียกขานให้กับท่านได้ทันที เอกสารที่จะต้องมีก็คือ
- บัตรประชาชนและสำเนา
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
- บัตรสมาชิก (หรือหนังสือรับรองการเป็นสมาชิก) ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน กสทช. ที่ยังไม่ขาดสมาชิกภาพ
ถึงจุดนี้ ขอเล่าเพิ่มเติมว่า กระบวนการของเราอาจจะต่างจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อบุคคลสามารถสอบใบอนุญาตผ่านแล้ว (ขั้นแรกของเขาคือ Technician Class ซึ่งเทียบได้กับขั้นต้นของเรา) จะได้รับสัญญาณเรียกขานแถมมาด้วยทันที (เขาก็ใช้เวลาดำเนินการนิดหน่อย แต่ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม)
ได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้ว
หลังจากที่ท่านได้สัญญาณเรียกขานของไทยซึ่งจะขึ้นต้นด้วย HS (Hotel Sierra; โฮเทล เซียร่า) หรือ E2 (Echo Two; เอ้คโค่ ทู) ซึ่งในปัจจุบันสัญญาณเรียกขาน HS คงหมดแล้วสำหรับบุคคลไทย (เรามีสัญญาณเรียกขานกลุ่ม HS0Z?? ที่สงวนเอาไว้สำหรับนักวิทยุต่างชาติ) ก็คงต้องเป็น E2 นั่นคือ ท่านได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นโดยสมบูรณ์แล้ว (สมัยของผู้เขียนเอง การขอสัญญาณเรียกขานนั้น นอกจากถูกสอบประวัติไปยังตำรวจสันติบาลที่ใช้เวลานับครึ่งค่อนปีแล้ว การจะได้สัญญาณเรียกขานพนักงานวิทยุสมัครเล่นยังจะต้องซื้อเครื่องวิทยุด้วยซึ่งในสมัยนั้นผู้เขียนเองก็ต้องเก็บเงินเดือนทั้งเดือนเลยทีเดียว)
แล้วไงต่อ?!?
หลังจากที่ได้สัญญาณเรียกขานแล้วการจะกดคีย์เพื่อพูดออกอากาศนั้นช่างเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสียจริงๆ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีใครรับฟังเราอยู่บ้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดออกไปจะไม่เป็นความลับเรียกว่า “ไม่มีความลับบนอากาศ” นั่นเอง ดังนั้นจึงมีขั้นตอนก่อนหน้าที่จะกดคีย์ออกอากาศเป็นครั้งแรกอยู่บ้าง ซึ่งในฐานะนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นพี่ก็อยากจะให้คำแนะนำไว้ ก็ติดตามอ่านได้ในเรื่อง นักวิทยุสมัครเล่นมือใหม่ ได้สัญญาณเรียกขานแล้ว จะเริ่มใช้งานอย่างไร นะครับ สำหรับคราวนี้ต้องขอหมดข้อความและกล่าวคำว่า
73 จาก HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)
แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ