ตอนนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องจากบทความคราวที่แล้ว (อ่านเรื่อง สอบเพื่อรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นผ่านแล้ว ทำอย่างไรต่อ) ว่าหลังจากที่เราสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแล้ว และดำเนินการต่อจนได้รับสัญญาณเรียกขานแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไป ก่อนจะออกอากาศ
สำหรับผู้ที่มีความพร้อม ก็อาจจะจัดซื้อเครื่องวิทยุสื่อสาร รวมทั้งอาจจะเลยเถิดไปถึงการตั้งสถานีด้วยเลย ว่ากันตามหลักการแล้ว ถ้าเราต่อสายนำสัญญาณออกจากตัวเครื่องวิทยุ ไปยังสายอากาศที่ถูกติดตั้งอย่างถาวร จะถือเป็นการ “ตั้งสถานี” ซึ่งในประเทศไทยต้องขออนุญาต (จะเป็นที่บ้าน หรือ บนยานพาหนะเช่น รถยนต์ เรือยนต์ จักรยานยนต์ ก็ได้) แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมก็อาจจะต้องขอยืมของเพื่อนดูก่อน
ทีนี้ได้เครื่องมาแล้ว ต้องศึกษาคู่มืออย่างละเอียด ที่สำคัญก็เช่น
- มาตรการความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องวิทยุ
- การดูแลรักษาเครื่อง
- การชาร์จแบตเตอรี่
- การใช้งาน เช่น เปิด ปิด เปลี่ยนความถี่ เปลี่ยนขั้น (step) ความถี่ การปรับตั้งใช้งานระบบดูเพล็กซ์ (Duplex) เพื่อใช้งานกับสถานีทวนสัญญาณ การเปิดปิดระบบโทนสเควลช์ (CTCSS) การปรับให้ทำงานแบบ narrow/wide band
เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องทราบในการใช้งานเครื่องนะครับ ถ้าไม่ทราบก็อ่านสิ่งมหัศจรรย์ที่ผู้ผลิตแถมมาให้กับเครื่องด้วย ที่เรียกว่า "คู่มือการใช้งาน" ของเครื่องวิทยุรุ่นนั้นๆ ครับ
เมื่อปรับเครื่องเป็นแล้วก็ยังไม่กล้าคุยกับใคร อึดอัดใจเหลือเกิน ก็อยากบอกว่า ที่ไม่กล้านั้นดีแล้วล่ะครับ เพราะก่อนที่เราจะใช้วิทยุสื่อสารเพื่อออกอากาศติดต่อกับใคร (ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกของเรา หรือครั้งใดๆ ก็ตาม) เราจะต้องเป็น “ผู้ฟัง” ที่ดีเสียก่อน
ฟังใครดี
ช่วงแรกๆ นี้ล่ะครับเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะถ้าเรารับฟังตัวอย่างที่ไม่ดี เราก็จะคุ้นเคยและนำตัวอย่างไม่ดีนั้นไปประพฤติปฏิบัติต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี เรียกว่าทำให้ตัวเราเองเสียนิสัยก็ว่าได้
สถานีที่เราเฝ้าฟังก่อนการออกอากาศจึงควรเป็นสถานีที่ได้มาตรฐาน คำว่าได้มาตรฐานไม่ได้หมายความว่ามีเครื่องราคาแพง สายอากาศสูง แต่เป็นสถานีที่มีนายสถานีผู้ออกอากาศที่มีความสามารถ ออกอากาศได้ถูกต้องตามระเบียบ ธรรมเนียม และจรรยาบรรณของนักวิทยุสมัครเล่นที่ดี (อ่านเรื่อง ข้อปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่น)
ในการรับฟัง พยายามฟังสิ่งเหล่านี้
1. เลือกความถี่ที่ฟังให้ถูกต้อง คือให้เป็นช่วงที่ได้รับอนุญาตในโหมดเสียงพูด (Phone) แบบ FM เท่านั้น (ดูภาพที่ 1) โดยแต่ละความถี่ห่างกัน 12.5 KHz ถ้าเกิดเปลี่ยนความถี่ไปพบผู้ที่สนทนาในความถี่ที่ไม่ใช่ โหมดเสียงพูดแบบ FM อาจจะเป็นเพราะเขาใช้ผิดความถี่ (ผิดระเบียบด้วย แย่จริง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับนักวิทยุรุ่นใหม่ อายแทนเลย อย่าไปยุ่งกับเขา เดี๋ยวก็ถูกทำโทษไปเอง) ก็เปลี่ยนไปความถี่ที่ถูกต้องเสีย
ภาพที่ 1 ตารางการจัดสรรความถี่
(Band Plan) สำหรับความถี่ย่าน 2 เมตร
หรือ 144-147MHz ในประเทศไทย
(ข้อมูล ณ ม.ค. 2562)
ความถี่บางช่วง จัดสรรไว้สำหรับโหมดอื่น เช่น เสียงพูดแบบ SSB, สัญญาณต่อเนื่องหรือ CW, โหมดดิจิตอล, เสียงพูดแบบ FM ผ่านสถานีทวนสัญญาณ, โหมดเชื่อมโยงเครือข่ายอื่น (เช่น Echo Link, Digital DSTAR), กิจการดาวเทียม เป็นสิ่งที่นักวิทยุต้องศึกษาให้เข้าใจและใช้งานให้ถูกที่
2. เรียกขานกันอย่างไร ที่ถูกต้อง (และเราต้องปฏิบัติ) คือเรียกด้วย โฟเนติกส์ที่ครบถ้วน ทุกตัวอักษร ชัดเจน ไม่ใช่เรียกเฉพาะ ตัวอักษรสองหรือสามตัวหลัง หรือตัวเลขกับตัวอักษรโดยไม่มีรหัสประเทศ แบบนี้ผิดทั้งระเบียบและกฎหมาย ควรเรียกเป็นโฟเนติกส์ทั้งสัญญาณเรียกขานของคู่สถานีและของสถานีเรา อย่างน้อยสองหรือสามรอบ จนกระทั่งแน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายรับรู้สัญญาณเรียกขานอย่างถูกต้อง จากนั้นก็อาจจะสลับเรียกด้วยตัวอักษรธรรมดาโดยไม่ต้องออกเสียงโฟเนติกส์ได้บ้าง แต่ต้องเรียกให้ครบ ทั้งรหัสประเทศ หมวดตัวเลข และตัวอักษรนะครับ (อ่านเรื่อง การขานสัญญาณเรียกขานที่ถูกต้อง)
หมายเหตุ เรียกชื่อได้ไหม? ในเมืองไทยอาจจะเป็นเรื่องแปลก แต่เป็นธรรมดาของนักวิทยุสมัครเล่นในสากล ที่เราถาม ตอบ และเรียกชื่อตัวกัน ไม่แปลกอะไร และทำกันตลอดในการสนทนา สามารถเรียกชื่อได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมขานสัญญาณเรียกขานทั้งคู่สถานีทุก 10 นาที (หรือถี่กว่า) นะครับ
3. ฟังว่าเขา ขึ้นต้น ลงท้าย ประโยคสนทนากันอย่างไร (เรียก สัญญาณเรียกขานของคู่สถานีก่อน แล้วตามด้วย “จาก” หรือด้วยสัญญาณเรียกขานของสถานีผู้พูด หน้าสุด หรือ/และ หลังสุดของประโยคการสนทนาก็ได้ อย่างน้อยทุก 10 นาที)
4. โดยปกติแล้ว เพื่อนๆ เขาคุยอะไรกันบ้างที่ความถี่ที่เราเฝ้าฟังอยู่ (โดยกฏระเบียบแล้ว ห้ามคุยเรื่อง การเมือง ศาสนา ความเชื่อ โฆษณาธุรกิจการค้า เปิดดนตรีเพื่อการบันเทิง หรือสิ่งใดที่ผิดหลักปฏิบัติของการเป็นนักวิทยุที่ดี เป็นต้น) ถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัด ไม่สนใจ หรือคาดว่าคุยไปแล้วอาจจะเกิดความขัดแย้งได้ ก็ควรลองหาความถี่อื่นทดลองฟังดู
5. ถ้อยคำที่ใช้ (ใช้แต่คำที่สุภาพไม่ใช้คำหยาบคาย เพราะเราไม่อาจจะทราบได้เลยว่ามีใครฟังอยู่บ้าง อาจจะมีทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก เยาวชน)
เอาล่ะ ถึงเวลาขาไม่สั่นแล้ว
คราวนี้ก็ถึงเวลาที่จะทดลองอากาศจริงๆ โดยมีวิธีออกอากาศ 2-3 สถานการณ์คือ
1. ต้องการติดต่อกับเพื่อนที่ใช้ความถี่อยู่
คือ เราเปิดเครื่องขึ้นมา เปลี่ยนหาความถี่ เฝ้าฟังสักครู่ (เช่น 1-2 นาที) พบว่ามีเพื่อนใช้ความถี่สนทนากันอยู่ และเราต้องการติดต่อด้วย (ไม่ว่าจะเคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่) ให้รอจังหวะที่สถานีที่เราต้องการติดต่อ “ปล่อยคีย์” ให้เรากดคีย์ แล้วบอกสัญญาณเรียกขานของเรา จากนั้นปล่อยคีย์ (นี่คือวิธีมาตรฐานที่นานาประเทศทำกัน) หรือ อาจจะกดคีย์ แล้วพูดว่า ขออนุญาตติดต่อ (หรือ contact ก็ได้) จาก <สัญญาณเรียกขานของเรา> จากนั้นปล่อยคีย์ วิธีนี้ในประเทศไทยใช้กันบ่อย
ข้อสังเกต ปกติแล้ว ผู้ที่ปล่อยคีย์หลังสุดก่อนที่เราจะกดคีย์ ติดต่อเข้าไปจะเป็นผู้รับการติดต่อจากผู้ที่แทรกเข้าไป
2. ความถี่ว่าง และเราต้องการใช้เพื่อเรียกเพื่อน
กรณีนี้คือ เราเปิดเครื่องขึ้นมา เปลี่ยนหาความถี่ เฝ้าฟังสักครู่ (เช่น 1-2 นาที) เรารับใครไม่ได้และเข้าใจว่าไม่มีใครสนทนากันอยู่ และเราต้องการใช้ความถี่เรียกเพื่อนที่เรารู้จัก คือรู้สัญญาณเรียกขานของเขา ให้ถามทวนอีกครั้งหนึ่งว่าความถี่นั้นว่างหรือไม่ มีเพื่อนกำลังใช้ต่อเนื่องอยู่หรือเปล่า เนื่องจากการที่เรารับใครไม่ได้นั้นเป็นเพราะสถานีเราเล็ก สายอากาศเล็ก แต่ยังมีเพื่อนสนทนากันอยู่ก็ได้ ดังนั้นก่อนที่เราจะใช้งานต้องขออนุญาตโดยอาจจะถามว่า
“มีเพื่อนๆ ใช้งานความถี่นี้ต่อเนื่องอยู่หรือไม่ครับ/คะ”
(อาจจะมี สถานีที่สาม ที่เขาเฝ้าฟังอีกคู่สถานีหนึ่งสนทนากันอยู่ แจ้งให้เราทราบว่า มีคนใช้งานอยู่นะ)
หมายเหตุ ปกติแล้วถ้าความถี่ว่างอยู่ไม่มีใครใช้ควรจะไม่มีใครตอบมา ตัวเราเองถ้าเฝ้าฟังความถี่นั้นอยู่แต่ไม่ได้ใช้งาน แล้วมีเพื่อนมาถามก็ไม่ต้องตอบว่าว่างหรือไม่ว่างนะครับ ให้เงียบไว้ เป็นอันหมายความว่าความถี่ว่าง แต่ในเมืองไทยเรามักจะตอบไปว่า “ว่างครับ/ค่ะ ใช้งานได้เลย” ก็เป็นธรรมเนียมของประเทศไทยที่อาจจะไม่ค่อยเหมือนใครเขา ก็ไม่ว่ากันแล้วกันครับ)
ถ้าไม่มีใครตอบมา หรือไม่มีใครบอกว่าความถี่ไม่ว่าง หรือมีเพื่อนบอกว่าความถี่ว่าง ก็ขออนุญาตใช้งาน เช่น
“ขออนุญาตเรียกเพื่อนสมาชิกสักหน่อยนะครับ/คะ”
และหลังการสนทนา ก็อย่าลืมขอบคุณและลาเพื่อนที่อาจจะเฝ้าฟังอยู่ด้วย เช่น
“ ขอขอบคุณเพื่อนที่ให้ใช้ความถี่ครับ/ค่ะ จาก (สัญญาณเรียกขายของเรา) 73 ครับ/ค่ะ
เป็นต้น
ตัวอย่างการเรียกขานเพื่อนนักวิทยุ
เมื่อคิดว่าความถี่ว่างจากการใช้งาน
3. ต้องการคุยกับเพื่อนท่านใดก็ได้ (CQ)
อีกกรณีหนึ่งที่เราสามารถเป็นผู้เริ่มการติดต่อทางวิทยุสมัครเล่น ก็คือเราต้องการคุยกับใครก็ได้ วิธีนี้เรียกว่าการ CQ
ในประเทศไทยการ CQ อาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคยนักยกเว้นในการแข่งขันต่างๆ (CQ contest ต่างๆ) แต่ในระดับนานาชาติแล้ว การ CQ เป็นเรื่องปกติสามัญมากที่นักวิทยุทั่วโลกทำกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเหงาๆ ไม่รู้จะคุยกับใคร หรือต้องการทดสอบว่าระบบวิทยุสื่อสารของตนเองยังทำงานปกติหรือไม่ ก็ CQ เรียกเพื่อนนักวิทยุคนอื่นมาคุยด้วย เป็นเรื่องธรรมดาและทำกันตลอดเวลา
ก่อนการ CQ ก็ให้ถามเข้าไปในความถี่ก่อนว่าความถี่นี้ว่างหรือไม่เหมือนเช่นเคย (ดูข้อ 2) ถ้าความถี่ว่างก็ CQ เช่น
“CQ CQ CQ จาก <สัญญาณเรียกขานของเรา 2 ครั้ง>” หรือ
“CQ CQ CQ จาก <สัญญาณเรียกขานของเรา 2 ครั้ง> มีท่านใดสแตนด์บายอยู่หรือไม่ครับ/คะ”
ทำแบบนี้ เรื่อยไป จนกระทั่งมีเพื่อนตอบ ซึ่งถ้ามีเพื่อนมาตอบเราก็สนทนากันไป
ถ้าไม่มีเพื่อนมาตอบก็ CQ ไปเรื่อยจนมั่นใจว่าไม่มีใครมาตอบแน่ หรือคิดว่าควรจะคืนความถี่ให้เพื่อนท่านอื่นที่อาจจะต้องการใช้ ได้มีโอกาสใช้บ้าง
การ CQ หาเพื่อนๆ เป็นเรื่องปกติของ
นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกทำกัน
เมื่อเราได้ยิน ก็สามารถเข้าไปตอบได้
ตัวอย่างนี้ VK3OCD CQ และ
HS0DJU เข้าไปตอบและสนทนาด้วย
จะเห็นว่ามีการบอกชื่อกัน เป็นเรื่องธรรมดา
นักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกทำกัน
เมื่อเราได้ยิน ก็สามารถเข้าไปตอบได้
ตัวอย่างนี้ VK3OCD CQ และ
HS0DJU เข้าไปตอบและสนทนาด้วย
จะเห็นว่ามีการบอกชื่อกัน เป็นเรื่องธรรมดา
คำศัพท์ ตัวย่อ ต่างๆ ล่ะ
ภาษาของวิทยุสมัครเล่นนั้นส่วนหนึ่งลอกเลียนมาจากภาษาการติดต่อทางโทรเลข ในสมัยก่อนนั้น (ในต่างประเทศ ซึ่งมีกิจการนี้มานานมากแล้ว) วิทยุสมัครเล่นก็ติดต่อกันด้วยรหัสมอร์ส จึงมี Q code ต่างๆ ให้ใช้เพื่อความสะดวก และออกจะจำเป็นมากกว่าถ้าเราติดต่อด้วยโหมด CW (Continuous Wave หรือ รหัสมอร์ส) แต่สำหรับนักวิทยุใหม่ๆ ที่มักติดต่อกันในโหมดเสียงพูด (phone mode) เราแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้ Q code เหล่านี้เลย พูดง่ายๆ ว่าสนทนากันด้วยถ้อยคำตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้ Q code หรอก แต่จะใช้บ้าง โดยไม่ให้เลอะเทอะมากเกินไป ก็คงไม่ว่ากันหรอกนะ (แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย)
อ่อ... คำที่ใช้มากที่สุดในบรรดารหัสเหล่านี้ก็คือ 73 และ 88 ที่หมายถึง "ด้วยความปรารถนาดี" นั่นเอง (88 อาจจะหมายถึง "73 & จุ๊บๆ" ทำนองนั้น คงสงวนไว้สำหรับเพื่อนต่างเพศที่สนิทสนมกันครับ)
สรุป
อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อน แต่รับรองว่าทั้งหมดนี้จะไม่ยากเลยถ้าเพื่อนเพื่อนใช้ทักษะที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นคือ “การฟัง” ฟังให้มากๆฟังคนที่ใช้งานได้อย่างถูกต้องเค้าคุยกันแล้วท่านจะเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ มีทักษะในการสนทนาและใช้งานความถี่ที่ถูกต้อง