วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

ข้อปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่น (Code Of Conduct)


วิทยุสมัครเล่น เป็นกิจการสากล ผู้ที่จะเป็นนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศต่างๆ ล้วนต้องผ่านการสอบความรู้ทางด้านวิชาการ หลักการสื่อสาร กฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ต่อสังคมและผู่อื่น  เป็นความสามารถ จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถในหลายด้านไปกว่าผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ โดยทั่วไป

เนื่องจากคลื่นวิทยุและการใช้งานวิทยุ เป็นกิจกรรมของแต่ละบุคคล ทำให้นักวิทยุสมัครเล่นอาจจะมีความคิดและความประพฤติต่างๆ กันไป แต่ในพฤติกรรมที่ต่างกันไปนั้นก็ทำให้เกิดผลตามมาได้หลากหลาย ทั้งความขัดแย้งกับผู้อื่นและความขัดแย้งภายในตัวเอง (และคนใกล้ชิด) ดังนั้นในปี ค.ศ. 1928 Paul M. Segal (W9EEA) จึงได้เขียนหลักจริยธรรมและหลักปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่นไว้ดังนี้

1) เอาใจเขามาใส่ใจเรา
โดยไม่ใช้งานความถี่วิทยุ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิทยุ ในการรบกวนและสร้างความไม่พอใจ ไม่สบายใจให้กับผู้อื่น (ไม่ว่าเขาจะเป็นนักวิทยุด้วยกันหรือไม่ก็ตาม)

2) รักและภักดีในกิจการ
นักวิทยุให้การสนับสนุนในความรู้ การใช้งาน อันเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่นแก่นักวิทยุฯ อื่น และสนับสนุนสมาคม ชมรมต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของกิจการทั้งภายในและสู่ต่างประเทศ

3) พัฒนาตนเอง
นักวิทยุพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถในวิทยาการด้านการสื่อสาร และพัฒนสถานีของตัวเองให้มีประสิทธิภาพดีและยอมรับได้

4) เป็นมิตร
เมื่อได้รับการร้องขอ นักวิทยุจะติดต่อช้าลง (โดยเฉพาะการใช้รหัสมอร์ส) อดทน และให้ความรู้กับนักวิทยุรุ่นใหม่ในสิ่งที่เขาสนใจอย่างเป็นมิตร นี่คือสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของนักวิทยุสมัครเล่น

5) มีความสมดุล
วิทยุสมัครเล่นเป็นงานอดิเรก นักวิทยุสมัครเล่นจะต้องไม่นำงานอดิเรกนี้มารบกวนหน้าที่การงานตามปกติ การเรียน ครอบครัว แหละหน้าที่ต่างๆ ที่มีต่อครอบครัว

6) รักประเทศชาติและสังคม
สถานีและความรู้ความสามารถของนักวิทยุสมัครเล่นจะต้องพร้อมให้การช่วยเหลือประเทศชาติและสังคมเสมอ

กว่า 90 ปีที่ผ่านไป ดูเหมือนหลักการเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรปฏิบัติตามอยู่ จึงนำมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันอีกรอบ และพิจารณาปฏิบัติเพื่อคงความเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ดี มีความสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมครับ

แล้วพบกับเรื่องดีๆ อีกนะครับ
สำหรับวันนี้ 73 de HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต) ครับ