วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สอบเพื่อรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นผ่านแล้ว ทำอย่างไรต่อ


กิจการวิทยุสมัครเล่นกิจการสากลที่แทบทุกประเทศในโลกนี้มีกิจการนี้ ปัจจุบันคือปี พ.ศ. 2562 มีเพียงสองประเภทเท่านั้นคือเยเมนและเกาหลีเหนือที่ไม่มีกิจการวิทยุสมัครเล่น ก็หวังลึกๆ ในใจว่าจะมีกิจการนี้กับเขาบ้าง (เราจะได้มีโอกาสติดต่อกับเขาด้วย)

ในแต่ละปีมีสมาคมวิทยุสมัครเล่นต่างๆ ในประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. ให้ดำเนินงานการจัดสอบบุคคลเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น  (แทบทั้งหมดก็คือขั้นต้น ยกเว้น สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือขั้นสูง) ก็ต้องแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบผ่านในแต่ละครั้งด้วยนะครับ

สอบผ่านแล้ว เป็นนักวิทยุสมัครเล่นหรือยัง

หลายท่านที่สอบผ่านแล้วเมื่อเห็นเครื่องวิทยุของเพื่อนก็จะอาจจะอยากไปใช้งานออกอากาศคุยกับใครเขาบ้าง ถามว่าทำได้หรือไม่ คำตอบที่ชัดเจนคือไม่สามารถทำได้เนื่องจากท่านยังไม่มี “สัญญาณเรียกขาน” ของตัวเอง (ไม่นับการออกอากาศที่ “สถานีคลับสเตชั่น” ภายใต้การควบคุมของนักวิทยุสมัครเล่นที่เหมาะสม ที่มีวัตถุประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนักวิทยุสมัครเล่นที่มีสัญญาณเรียกขานแล้วมาออกอากาศได้ โดยใช้สัญญาณเรียกขานของคลับสเตชั่นนั้น) โดยสรุปคือ การที่บุคคลสอบผ่านและมีประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นนั้น ยังไม่ถือว่าท่านเป็นนักวิทยุสมัครเล่น นั่นเอง

ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่น

หลายท่านที่มีเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่เป็นวิทยุสมัครเล่นอยู่แล้วก็อาจจะพอสอบถามข้อมูลว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปได้อยู่บ้าง แต่อีกหลายท่านที่อาจจะไม่มีผู้แนะนำผมก็ขอถือโอกาสเล่าประวัติเล็กน้อยรวมทั้งแนะนำ ไปด้วยในเวลาเดียวกันนะครับ

ในสมัยก่อน (เช่นก่อนปี พ.ศ. 2535) หลังจากที่บุคคลสอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นแล้ว การจะขอสัญญาณเรียกขานเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากเนื่องจากจะต้องมีการสอบประวัติของบุคคลนั้นเสียก่อน การสอบประวัติทำโดยการสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐเช่นตำรวจสันติบาลกันเลยทีเดียว ยกเว้นแต่คนนั้นเป็นข้าราชการซึ่งถือว่าต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีและไม่มีความเสียหายใดติดตัว หรือมีข้าราชการชั้นสูงรับรองให้ก็จะเพิ่มความรวดเร็วได้

ต่างจากสมัยนี้มากที่ บุคคลสามารถขอสัญญาณเรียกขานได้เลย เพียงแต่ท่านนำเอกสารที่ครบถ้วน ไปยังสำนักงาน กสทช. (ตามเขตต่างๆ ก็ได้) เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการออกสัญญาณเรียกขานให้กับท่านได้ทันที  เอกสารที่จะต้องมีก็คือ
  1. บัตรประชาชนและสำเนา
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน 
  3. สำเนาใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
  4. บัตรสมาชิก (หรือหนังสือรับรองการเป็นสมาชิก) ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน กสทช. ที่ยังไม่ขาดสมาชิกภาพ
ในกรณีที่ท่านให้ร้านค้า (หรือสมาคมที่ กสทช. รับรอง หรือเพื่อนฝูงไปทำให้) เป็นผู้ช่วยดำเนินการขอสัญญาณเรียกขานให้ก็จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจด้วย ที่อยากย้ำให้เข้าใจคือ สำหรับประเทศไทยแล้ว ตลอดเวลาที่ท่านเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่น จะต้องมีใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น (ที่กำลังจะไปขอนี่ล่ะ) และ (และ แปลว่า ต้องมีทั้งสองอย่าง) การเป็นสมาชิกของสมาคมวิทยุสมัครเล่นที่ กสทช. รับรอง และทั้งสองอย่างไม่หมดอายุ คือไม่ขาดต่ออายุนั่นเอง

ถึงจุดนี้ ขอเล่าเพิ่มเติมว่า กระบวนการของเราอาจจะต่างจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อบุคคลสามารถสอบใบอนุญาตผ่านแล้ว (ขั้นแรกของเขาคือ Technician Class ซึ่งเทียบได้กับขั้นต้นของเรา) จะได้รับสัญญาณเรียกขานแถมมาด้วยทันที (เขาก็ใช้เวลาดำเนินการนิดหน่อย แต่ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม)

ได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นแล้ว

หลังจากที่ท่านได้สัญญาณเรียกขานของไทยซึ่งจะขึ้นต้นด้วย HS (Hotel Sierra; โฮเทล เซียร่า) หรือ E2 (Echo Two; เอ้คโค่ ทู) ซึ่งในปัจจุบันสัญญาณเรียกขาน HS คงหมดแล้วสำหรับบุคคลไทย (เรามีสัญญาณเรียกขานกลุ่ม HS0Z?? ที่สงวนเอาไว้สำหรับนักวิทยุต่างชาติ) ก็คงต้องเป็น E2 นั่นคือ ท่านได้เป็นนักวิทยุสมัครเล่นโดยสมบูรณ์แล้ว (สมัยของผู้เขียนเอง การขอสัญญาณเรียกขานนั้น นอกจากถูกสอบประวัติไปยังตำรวจสันติบาลที่ใช้เวลานับครึ่งค่อนปีแล้ว การจะได้สัญญาณเรียกขานพนักงานวิทยุสมัครเล่นยังจะต้องซื้อเครื่องวิทยุด้วยซึ่งในสมัยนั้นผู้เขียนเองก็ต้องเก็บเงินเดือนทั้งเดือนเลยทีเดียว)

แล้วไงต่อ?!?

หลังจากที่ได้สัญญาณเรียกขานแล้วการจะกดคีย์เพื่อพูดออกอากาศนั้นช่างเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสียจริงๆ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีใครรับฟังเราอยู่บ้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดออกไปจะไม่เป็นความลับเรียกว่า “ไม่มีความลับบนอากาศ” นั่นเอง ดังนั้นจึงมีขั้นตอนก่อนหน้าที่จะกดคีย์ออกอากาศเป็นครั้งแรกอยู่บ้าง ซึ่งในฐานะนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นพี่ก็อยากจะให้คำแนะนำไว้ ก็ติดตามอ่านได้ในเรื่อง นักวิทยุสมัครเล่นมือใหม่ ได้สัญญาณเรียกขานแล้ว จะเริ่มใช้งานอย่างไร นะครับ สำหรับคราวนี้ต้องขอหมดข้อความและกล่าวคำว่า

73 จาก HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)
แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ