วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สายอากาศแบบ Doublet

 
เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นทุกท่านคงทราบดีแล้วว่าสายอากาศเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการที่จะให้สถานีวิทยุของเราสามารถแพร่กระจายคลื่นส่งข้อมูลข่าวสารผ่านคลื่นวิทยุไปถึงคู่สถานีของเราได้  นอกไปจากสายอากาศแล้วก็ยังมี ตัวเครื่องวิทยุ สายนำสัญญาณ ระบบจ่ายไฟที่เป็นส่วนสำคัญในสถานีวิทยุอีกด้วย  สิ่งต่างๆที่กล่าวถึงมานี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการเพียงพอสำหรับสถานีวิทยุที่ออกอากาศหรือรับฟังที่ความถี่เพียงย่านเดียว  อย่างไรก็ตามถ้าสถานีวิทยุหนึ่งต้องการออกอากาศในหลายช่วงความถี่แล้วล่ะก็ อุปกรณ์เพียงที่กล่าวมาข้างต้นก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะสถานีวิทยุนั้นคงต้องการสายอากาศจำนวนมากคือเสวท่ากับจำนวนช่วงความถี่ที่ตัวเองต้องการออกอากาศ รวมทั้งอาจจะต้องการอุปกรณ์ในการปรับอิมพีแดนซ์ของสายอากาศด้วย (ATU - Automatic Antenna Tuner)

สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นหลายท่านที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานความถี่ VHF ในย่าน 2 เมตรเท่านั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสายอากาศหลายต้นเพื่อให้เหมาะสมกับความถี่ที่ใช้ (แต่อาจจะมีสายอากาศหลายต้นด้วยเหตุผลที่ต้องการรูปแบบการกระจายคลื่นในทิศทางที่แตกต่างกัน)  ในทางตรงกันข้ามกับนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือขั้นสูงที่สามารถใช้ความถี่ได้หลายย่านกว่ามากเช่น 1.8, 3.5, 7, 14, 21, 28 MHz (แค่เห็นก็ตาลายแล้วใช่ไหมครับ) ทำให้โดยพื้นฐานแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สายอากาศหลายต้นเป็นจำนวนเท่ากับช่วงความถี่ที่ต้องการใช้นั่นแหละ เมื่อรวมกับความโชคร้ายที่ขนาดของสายอากาศแต่ละต้นนั้นใหญ่โตไปตามความถี่ที่ต่ำลง จึงทำให้การติดตั้งสายอากาศหลายหลายต้นเพื่อใช้งานในหลายช่วงความถี่ของนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มนี้เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ  จึงมีการคิดค้นสายอากาศที่สามารถใช้งานได้หลายช่วงความถี่ (หรือที่เรียกว่า Multi band antenna) ซึ่งสายอากาศบางแบบก็สามารถใช้งานได้ (หลายความถี่) เลยโดยไม่ต้องปรับอิมพีแดนซ์อีก แต่สายอากาศอีกหลายแบบโดยเฉพาะแบบที่สามารถใช้งานได้หลายช่วงความถี่มากอาจจะจำเป็นต้องใช้ ATU มาช่วยปรับอิมพีแดนซ์อีกครั้งหนึ่ง (เพื่อให้เครื่องส่งวิทยุทำงานได้ตามที่ถูกออกแบบไว้)

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเรามี ATU แล้ว เราจะนำสายอากาศอะไรก็ได้มาต่อแล้วให้เครื่อง ATU ปรับอิมพีแดนซ์ให้เรา เพราะในหลายครั้งก็เกินความสามารถของเครื่องที่จะปรับอิมพีแดนซ์ให้เราได้ หรือในหลายทีเครื่อง ATU สามารถปรับอิมพีแดนซ์ให้เราได้ก็จริงแต่ก็เกิดการสูญเสียกำลังในส่วนอื่นของระบบของสายอากาศได้  หรือเราอาจจะสรุปโดยสั้นๆ ได้ว่าในการพยายามออกแบบสายอากาศที่ใช้งานได้หลายช่วงความถี่นั้นเราต้องออกแบบมันให้ดีตามสมควรก่อนที่จะใช้ ATU มาช่วยปรับอิมพีแดนซ์ของสายอากาศนั้นก่อนต่อเข้าสู่เครื่องส่งวิทยุนั่นเอง

สายอากาศ Doublet

เป็นสายอากาศแบบ half wave dipole ที่ทำงานหลายความถี่ (Multiband) ได้ แต่จะต้องใช้งานร่วมกับเครื่องปรับอิมพิแดนซ์ของสายอากาศ (ATU) โดยพื้นฐานแล้วสายอากาศแบบ Doublet คือสายอากาศแบบไดโพลครึ่งคลื่น (half wave dipole) ที่มีความยาวเหมาะสม (คือเป็นครึ่งความยาวคลื่น) ของความถี่ต่ำสุดค่าหนึ่ง และสามารถใช้งานได้ที่ความถี่สูงกว่าความถี่ต่ำสุดนั้น เช่น ถ้าเราตัดยาว 468/7=66.85 ฟุต (ความยาวครึ่งคลื่นของความถี่ 7MHz) สายอากาศ Doublet นี้ก็จะใช้ได้ที่ความถี่ 7MHz และสูงกว่า เป็นต้น
ภาพที่ 1 ความต้านทานจำเพาะ (Z0) ของ
สายนำสัญญาณแบบ ladder line ขึ้นกับ
สัดส่วนระหว่างขนาดตัวนำกับระยะห่างของมัน


แทนที่จะใช้สายนำสัญญาณแบบแกนร่วม (Coaxial Cable) ที่เราคุ้นเคยในการต่อจากจุดป้อนตรงกลางของสายอากาศไดโพลแบบครึ่งคลื่นออกมา เราจะต่อจุด feeder ตรงกลางของไดโพลนี้ด้วยสายนำสัญญาณแบบ ladder line ซึ่งมี characteristic impedance (Z0) ขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างความห่างของตัวนำที่ขนานกันอยู่ทั้งสองและขนาดของเส้นลวดตัวนำนั้น (ดูภาพที่ 1) โดยทั่วไปจะมี Z0 ค่อนข้างสูงเช่น 300 หรือ 450  สายนำสัญญาณนี้จะยาวเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้ตัวมันทำตัวเป็นหม้อแปลง (คือเป็น transmission line transformer) และแปลงอิมพิแดนซ์ให้สูงหรือต่ำมากผิดปกติไปกว่าที่ ATU จะทำงานได้

ทำไมต้องใช้ ladder line

ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะในเมื่อเรามีสายนำสัญญาณแบบแกนร่วมอยู่เยอะแยะ ทำไมต้องพยายามหาของแปลกมาใช้งานกันด้วย (ไม่สนุกเท่าไร เพราะหาไม่ง่ายนักด้วย) ดังนั้นมันย่อมมีเหตุผลที่ดีซ่อนอยู่ คือ
  1. ladder line มี loss ต่ำมาก (ดูภาพที่ 2) เนื่องจากตัวนำทั้งสองอยู่ห่างกัน ฉนวนระหว่างตัวนำสองด้านเป็นอากาศ ทำให้มีการสูญเสียต่ำจากความต้านทานของฉนวนระหว่างตัวนำทั้งสอง ซึ่งต่างจากสายนำสัญญาณแบบแกนร่วมที่ตัวนำทั้งสองถูกคั่นด้วยฉนวนประเภทพลาสติก (Polyethylene) บ้างหรือโฟมบ้าง (บางแบบเท่านั้นที่มีฉนวนเป็นอากาศแต่ก็แพงมาก)
  2. การใช้งานสายอากาศไดโพลที่ถูกตัดไว้สำหรับความถี่ต่ำสุด (ในตัวอย่าง ที่ยาว 66.85 ฟุตคือสำหรับ 7MHz) กับความถี่อื่นที่สูงขึ้น จะทำให้อิมพิแดนซ์ของจุดป้อนเปลี่ยนไปได้มาก จากประมาณ 73 ที่ 7MHz ไปเป็นหลายพันโอห์มที่ความถี่สูงขึ้น
  3. การต่อ ladder line เข้ากับตรงกลางของไดโพลทำให้ค่า VSWR ในสาย ladder line มีค่าสูงแต่มักไม่เกิน 6:1 (โดยประมาณ) ที่ทุกๆ ความถี่ที่เราต้องการใช้'งานสายอากาศนั้น เพราะความต้านทานจำเพาะ (Z0) ของสายนำสัญญาณแบบ ladder line ที่นำไปหารคือ 450 ถ้าเราทำแบบเดียวกันนี้โดยใช้สายนำสัญญาณแบบ Coaxial 50 ต่อออกจากจุดป้อนตรงกลางของไดโพล จะทำให้ VSWR เปลี่ยนแปลงไปตามความถี่อย่างมาก (Z0 ของสายนำสัญญาณแบบ coaxial เป็น 50 เมื่อหารกับอิมพิแดนซ์หลายพันโอห์มที่บางความถี่แล้วจะเป็น VSWR ที่สูงมากเช่น 30:1 หรืออาจจะสูงกว่า)

ภาพที่ 2 เปรียบเทียบการสูญเสียในสายนำสัญญาณ
แบบต่างๆ จะเห็นว่า ladder line (หรือ open
wire line) มีการสูญเสียต่ำมาก

จากข้อ 2 และ 3 ถ้าเราใช้สายนำสัญญาณแบบ coaxial ต่อเข้ากับไดโพล นอกจากตัวมันเองจะมีการสูญเสีย (loss) มากกว่าสายนำสัญญาณแบบ ladder line แล้ว การมี VSWR ที่สูงมาก (กว่าการใช้สายนำสัญญาณแบบ ladder line ไปต่อ) จะทำให้เกิด "การสูญเสียเพิ่มเติมเนื่องจากการมี standing wave สูงในสายนำสัญญาณ" เพิ่มขึ้นมากมายกว่าการใช้ ladder line ดูภาพที่ 3

ภาพที่ 3 แสดงการสูญเสียเพิ่มขึ้นจากการไม่แมทช์
ในสายนำสัญญาณที่เราใช้ นอกจากมีการสูญเสีย
ด้วยตัวเองแล้ว เมื่อเกิดการไม่แมทช์จะมีการสูญเสีย
เพิ่มเป็นพิเศษเข้ามาอีก

การสูญเสียเพิ่มเติมจาก high VSWR สามารถคำนวณได้ หรือดูจากแผนภาพในภาพที่ 3 หรือจะใช้บริการเว็บไซต์ช่วยคำนวณได้ <คลิก>
ทำให้สุดท้ายแล้วเราได้ลักษณะของสายอากาศแบบ doublet เป็นตามภาพที่ 4


ภาพที่ 4 โครงสร้างและการใช้งาน
ของสายอากาศแบบ Doublet

โดยสรุปคือ
  1. ข้อดีของสายอากาศ doublet เป็นสายอากาศที่สามารถทำงานได้หลายย่านความถี่ (multiband) และมีพื้นฐานเป็นสายอากาศไดโพลแบบครึ่งคลื่น คำนวณโดยใช้ความถี่ต่ำสุดที่ต้องการให้สายอากาศใช้งานได้ โดยความยาวรวม  L (เมตร) = 300/ความถี่ (MHz) หรือ L (ฟุต) = 468/ความถี่ (MHz) อย่างไรก็ตาม ความยาวนี้ไม่ต้องแม่นยำมากนักก็ได้
  2. เหตุที่เราใช้ความถี่ต่ำกว่าความถี่ต่ำสุดที่ตัดไดโพลครึ่งคลื่นไว้ไม่ได้ ก็เพราะเมื่อเราใช้สายอากาศไดโพลที่ความถี่ต่ำเกินไป ไดโพลจะสั้นมากที่ความถี่ต่ำนั้น สายอากาศไดโพลที่สั้นมากเกินไปจะมีอิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนต่ำมาก เมื่อนำ ladder line มาต่อออกไป ladder line ที่มี Z0 สูงจะทำตัวเป็นหม้อแปลง แปลงอิมพิแดนซ์ให้สูงมากเกินกว่าที่ ATU จะจูนลงได้
  3. เราใช้ ladder line ต่อจากจุดป้อนตรงกลาง เพราะนอกจากมี matched loss ต่ำแล้ว การที่มันมีความต้านทานจำเพาะ (Z0) สูง ทำให้ VSWR บนตัวสายนำสัญญาณแบบ ladder line ตลอดทุกย่านการทำงานมีค่ายอมรับได้ (ไม่เกิน 6:1)
  4. เมื่อ VSWR บนตัวมันตลอดทุกย่านการทำงาน มีค่าเพียงไม่เกิน 6:1 ทำให้มีการสูญเสียเพิ่มเติมเนื่องจากการมี standing wave สูงในสายนำสัญญาณน้อยไปด้วย
ไม่ใช่ว่าสายอากาศนี้จะมีข้อดีเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีข้อเสียด้วย เช่น
  1. ต้องใช้ บาลัน (balanced 4:1 unbalanced) เพื่อแปลงอิมพิแดนซ์สูงๆ ที่อีกปลายด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณ ladder line ก่อนต่อเข้าจูนเนอร์
  2. ต้องใช้จูนเนอร์หรือ ATU ปรับอิมพิแดนซ์ให้ใกล้เคียง 50 ด้วย
  3. การเดินสาย ladder line ต้องระวัง ให้ห่างบรรดาโลหะทั้งหลาย
  4. ในการใช้งานจริง การปรับ ATU ไม่ใช่เรื่องสะดวกมากนัก ยกเว้นการใช้ Automatic Antenna Tuner ที่สามารถปรับให้เราได้เอง จะสะดวกมากขึ้น 
QRU 73 de HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)