วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ชั้นบรรยากาศของโลกกับการเดินทางของคลื่นวิทยุ



กิจกรรมวิทยุสมัครเล่นนั้นมีหลายอย่างให้ทดสอบ ทดลอง ศึกษาหาความรู้กัน คลื่นวิทยุก็มีความถี่หรือความยาวคลื่นหลากหลายให้เราได้เลือกใช้งาน ถ้าเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นก็อาจจะมีคลื่นในช่วงแคบสักหน่อยให้เลือกใช้ (ในประเทศไทยคือช่วงความถี่ 144.000 - 146.000 MHz และกำลังจะได้ขยายอีกเล็กน้อยไปถึง 146.500 MHz) ส่วนถ้าเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขึ้นกลาง หรือแม้แต่เป็นขั้นต้นแต่มาใช้งานคลื่นความถี่ย่าน HF ที่ชมรมขั้นกลาง ก็จะสามารถใช้งานความถี่ในย่าน HF ได้ด้วย คราวนี้ล่ะจะมีความถี่อีกมากมายให้ได้เลือกใช้งานกัน และที่สำคัญคือ ความถี่ย่าน HF เหล่านี้ในบางครั้งสามารถเดินทางได้ไกลกว่าความถี่สูงย่าน 145MHz มากมายนัก หลายคนคงสงสัยว่าทำไม คำตอบก็อยู่ที่การเดินทางของคลื่นนั่นเอง

การเดินทางของคลื่นตามปกติ


คลื่นวิทยุนั้นเดินทางได้หลากหลายวิธี วิธีที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือเดินทางเป็นเส้นตรง เรียกว่าถ้ามองเป็นสายอากาศของกันและกันล่ะก็ย่อมสามารถติดต่อกันได้ เพราะคลื่นวิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง (เหมือนแสง) โดยปกติแล้วจะเดินทางเป็นเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ในกรณีของเราก็คือจากสายอากาศหนึ่งไปยังสายอากาศอีกต้นหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า แสง ก็สามารถสะท้อนและหักเหได้ คลื่นวิทยุก็เช่นกัน เช่น ที่ความถี่สูง (HF) คลื่นอาจจะเดินทางหักเหเลี้ยวเบนบนบางชั้นบรรยากาศเหนือผิวโลกขึ้นไป ทำให้สามารถติดต่อได้ไกลขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดเวลา บางครั้งก็ติดต่อได้บางทีก็ไม่ได้ ถึงจะติดต่อได้ก็อาจจะรับสัญญาณได้ไม่ชัดเจนต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะการรับฟังที่ดีอีกด้วย (ทักษะการฟังสำคัญที่สุดในการเป็นนักวิทยุสมัครเล่น) ไม่เช่นนั้นก็ฟังไม่ออกอีก นี่เองเป็นความสนุกที่ซ่อนอยู่ในการใช้งานคลื่นวิทยุย่าน HF

ชั้นบรรยากาศของโลก


โลกเราประกอบไปด้วยพื้นผิวโลกและบรรยากาศที่ล้อมโลกอยู่หลายชั้น และมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปแล้วแต่ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน สิ่งที่ทำให้ชั้นบรรยากาศไม่เหมือนกันระหว่างกลางวันและกลางคืนก็คือดวงอาทิตย์นั่นเอง ในเวลากลางวันดวงอาทิตย์ส่องแสงและพลังงานหลากหลายรูปแบบลงมายังชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดชั้นบรรยากาศขึ้นหลายชั้นตามการแตกตัวและการรวมตัว (recombination) ของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าต่างๆ

การสะท้อนคลื่นในชั้นบรรยากาศต่างๆ (ในสภาพการณ์ปกติ)


D - จำง่ายๆ ว่า D คือ Daylight เกิดเฉพาะในเวลากลางวัน ในช่วงกลางคืนจะไม่มีชั้นบรรยากาศ D นี้ ชั้นนี้เป็นผลมาจากแสงอาทิตย์ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า ชั้นนี้อยู่สูงจากพื้นโลก 60-90 กม. ความถี่ต่ำ (LF) คลื่นจะสะท้อนกลับที่ชั้น D นี้  และจะดูดซึมคลื่น (absorb) ทำให้เกิด loss ยิ่งความถี่ต่ำยิ่งถูกดูดซึมมากเป็นสัดส่วนยกกำลังสอง นั่นคือความถี่ต่ำลงสองเท่าจะถูกดูดซึมเป็นสี่เท่า จึงเป็นเหตุให้ความถี่ต่ำทะลุผ่านไปได้น้อยมาก (ย่าน 1.8 MHz , 3.8 MHz ถูกดูดซึมมากจนอาจจะหายไปเลย และความถี่ย่าน 14 MHz และ 28 MHz จะถูกดูดซึมน้อยลง และทะลุขึ้นไปชั้น E ได้)

แต่ถ้าเราเพิ่มความถี่สูงขึ้นจนเกินความถี่วิกฤต (critical frequency) คลื่นก็จะทะลุบรรยากาศชั้น D, E และ F ไปหมดโดยไม่สะท้อนกลับมายังโลก ในช่วงกลางวัน ความถี่วิกฤตจะอยู่ประมาณ 6m (50 MHz โดยไปสะท้อนที่ชั้น F) แต่อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับสภาพอากาศด้วย (การสื่อสารย่าน 6m จึงดีในช่วงกลางวันเท่านั้น)

ในช่วงกลางคืน เราไม่มี D layer และความถี่วิกฤตของชั้นบรรยากาศ (E, F) จะต่ำลงอีก ดังนั้นเราจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก "คลื่นฟ้า" (Skywave) ที่สะท้อนจากชั้น F ที่ความถี่สูงนักในเวลากลางคืนได้ ความถี่วิกฤตจะต่ำสุดในช่วงพลบค่ำ

E - อยู่สูงจากพื้นโลก 90-150 กม. ชั้นบรรยากาศนี้สามารถหักเหคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า 10 Mhz ได้โดยต้องพุ่งเข้ากระทบที่มุมเฉียงสักหน่อย (ถ้าชันจะทะลุ) ความถี่สูงกว่า 10 MHz จะถูกดูดซึมที่ชั้น E แต่จะไม่รุนแรงเท่าชั้น D และส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะผ่านไปยังชั้น F ในช่วงเย็นชั้น E นี้จะบางลง (อยู่สูงขึ้น เช่น ระดับ 130-150 กม.) ทำให้การติดต่อผ่านการหักเหที่ชั้น E ไปได้ไกลขึ้น นานๆ ครั้งอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าการอิออนไนเซชั่น (แตกตัวของอนุภาค) ชั่วคราว (sporadic ionization) และทำให้เกิดการสะท้อนคลื่นย่าน 50-225MHz ทำให้คลื่นเดินทางได้เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรได้ (แต่ก็นานๆ ครั้ง เช่นในปี 1939 และ 1957 เป็นต้น)

F - เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงขึ้นไปอีกคือระหว่าง 150 กม. ถึงมากกว่า 500 กม. การสะท้อนคลื่นกลับลงมาเกิดที่ชั้น F นี้ ที่ความสูงนี้อากาศมีความบางมาก เมื่อแสงแดดทำให้ชั้นบรรยากาศแตกตัวในเวลากลางวัน ด้วยความเบาบางของอนุภาค ทำให้เกิดการรวมตัว (recombine) ของประจุต่างๆ ได้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ชั้น F นี้หายไปในช่วงเวลากลางคืน (เรียกว่า ใช้เวลาไปทั้งคืนก็ยังรวมตัวกันไม่ทัน) ในช่วงกลางคืนชั้นบรรยากาศ F1 และ F2 จะรวมตัวกันเป็นชั้น F ที่อยู่สูงขึ้นไปกว่า 270 กม. บนท้องฟ้าและมักจะหักเหคลื่นความถี่ระหว่าง 1-15MHz กลับมายังโลก

F1 - เป็นชั้นย่อยของชั้นบรรยากาศ F อยู่เหนือชั้น E ขึ้นไปเล็กน้อย มีคุณสมบัติเกือบเหมือนชั้น E
F2 - เป็นชั้นย่อยของชั้นบรรยากาศ F อยู่เหนือชั้น F1 ขึ้นไป และเป็นชั้นสำคัญ เนื่องจากสามารถเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า F2 skip โดยความหนาแน่นด้วยอิออนและความถี่ที่กระทบมัน (มุมด้วย) จะเป็นตัวบอกว่าคลื่นจะหักเห/เลี้ยวเบนลงมาได้มากหรือน้อยเพียงใดและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การติดต่อสื่อสารไปได้ไกลเพียงใด ถ้าชั้น F2 ไม่หนาแน่นไปด้วยอิออน คลื่นความถี่สูงจะไม่สามารถเลี้ยวเบนลงมายังพื้นโลกได้แต่จะทะลุออกไป ในขณะที่ถ้าชั้น F2 หนาแน่นก็จะทำให้ความถี่สูงขึ้นสามารถเลี้ยวเบนลงมาได้



ภาพบนแสดงความถี่สูงสุดที่คลื่นจะสะท้อนที่ชั้น F2 ได้ จะเห็นว่าในเวลากลางวันความถี่ที่จะสะท้อนกลับลงมาได้จะสูงขึ้น ต่างกับตอนกลางคืนที่ไม่สามารถใช้ความถี่ที่สูงมากได้ เพราะจะทะลุบรรยากาศออกไป

กฏการเดินทางของคลื่นง่ายๆ


ในเมื่อชั้นบรรยากาศมีหลายชั้น แต่ละชั้นก็มีคุณสมบัติต่างกัน กลางวันกลางคืนก็มีชั้นไม่เท่ากันอีก แบบนี้คงงงมากเมื่อดูว่าจะใช้ความถี่ไหนอย่างไร แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เรามีกฏให้จำใช้ง่ายๆ ดังนี้
  1. ย่านความถี่ 20m (14 MHz) เป็นย่านกลางๆ จะใช้งานได้ดีในช่วงกลางวันและกลางคืน (กลางวันดูจะดีกว่าบ้าง)
  2. ความถี่ต่ำกว่า 14 MHz จะใช้ไงานได้ดีในเวลากลางคืน
  3. ความถี่สูงกว่า 14 MHz จะใช้งานได้ดีที่สุดในเวลากลางวัน
  4. ยิ่งความถี่ไกลจาก 20m (14 MHz) เท่าไร ผลตามข้อ 1-3 ยิ่งรุนแรงขึ้น
  5. และแน่นอน สภาพบรรยากาศเปลี่ยนแปลงทุกวัน ผลจากข้อ 1-4 ย่อมเปลี่ยนไปได้ในแต่ละวัน

เกร็ดความรู้


เราอาจจะสรุปแบบคร่าวมากๆ ได้ว่าความถี่ต่ำกว่าประมาณ 10MHz จะเดินทางได้ดีด้วยการสะท้อนคลื่นจากท้องฟ้าในช่วงเวลากลางคืน และความถี่สูงเกินกว่า 10Mhz จะเดินทางได้ดีกว่าในช่วงเวลากลางวัน ดังนั้นถ้าการติดต่อสื่อสารในช่วงเย็นเริ่มแย่ลง สิ่งที่อาจจะทำได้คือปรับความถี่ให้ต่ำลง (ข้อสอบ E2C2 Extra Class) และเราสามารถสรุประยะทางการติดต่อสื่อสารกับช่วงเวลาของวัน ฤดูกาล และความถี่ ได้ดังตารางด้านล่างนี้

ระยะทางในการติดต่อสื่อสารกับความถี่ที่ใช้งานในแต่ละฤดู

การนำคลื่นโทรโปสเฟอริค


โดยปกติแล้วสัญญาณคลื่นในย่าน VHF จะไม่สามารถเลี้ยวเบนที่ย่านชั้นบรรยากาศใดๆ กลับมาสู่พื่นโลกได้ (เพราะ MUF หรือ Maximum Usable Frequency ต่ำกว่านั้นมาก) แต่ในบางสภาวะอากาศซึ่งขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ ความดันบรรยากาศ และความชื้น จะทำให้ชั้นบรรยากาศโทรโปสเฟียร์หักเหคลื่นเหล่านี้กลับมายังโลกได้ เมื่อเกิดการกลับชั้นอุณหภูมิ (คือ ปกติแล้วชั้นบรรยากาศที่สูงกว่าจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า และชั้นบรรยากาศที่ต่ำกว่าจะมีอุณหภูมิสูงกว่า) โดยชั้นบรรยากาศด้านบนมีอุณหภูมิสูงกว่าด้านล่าง ชั้นบรรยากาศที่อุ่นนี้จะเกิดเป็นชั้นโทรโปรสเฟียร์ (มีความสูงไม่เกิน 3 กม. เท่านั้น) และทำให้เกิดการนำคลื่น และทำให้การสื่อสารได้ระยะทางไกลขึ้นมาก (1,000 กม. หรือไกลกว่า) ในย่านความถี่สูงถึง VHF หรือ UHF เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม กลไกที่ทำให้ระยะทางติดต่อไกลขึ้นในย่านความถี่ VHF/UHF นี้ไม่ได้เกิดจากการสะท้อนที่ชั้นบรรยากาศเหมือนกับความถี่ย่าน HF (แต่เป็นเพราะเกิด "ท่อนำคลื่น" ขึ้นชั่วคราวนั่นเอง)

การนำคลื่นแบบโทรโปสเฟอริค ที่ทำให้การสื่อสารด้วยคลื่นย่าน VHF/UHF ทำได้ไกลกว่าปกติ


จะเห็นว่าเรื่องของชั้นบรรยากาศนั้นดูซับซ้อนและน่าสับสนอยู่พอสมควร แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้เราใช้งานวิทยุในย่านต่างๆ ได้สนุกขึ้น
สำหรับวันนี้ต้องพอแต่เพียงเท่านี้ก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ สำหรับคราวนี้ก็ต้องขอกล่าวคำว่า

QRU 73 de HS0DJU / KG5BEJ (จิตรยุทธ จุณณะภาต)