วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น JAISAT-1 ขึ้นสู่อวกาศ


เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2562 เวลา 05:41:46 (GMT) ตรงกับเวลา 12:41:46 นาฬิกาเวลาในประเทศไทย  จรวดโซยุส-2 (Soyuz-2) ถูกยิงจากฐานยิงศูนย์อวกาศ Vostochny ในประเทศรัสเซีย ภารกิจหลักของจรวดนี้คือการนำดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของรัสเซียคือ เมดิออ เอ็ม2-2 (Meteor M2-2) ขึ้นสู่อวกาศ หลังจากการเสียหายของ เมดิออ เอ็ม2-1 ที่ยิงด้วยจรวด โซยุส 2.1b เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งในครั้งนั้นก็เสียดาวเทียมต่างๆ ที่เกาะไปด้วย

ปฏิบัติการปล่อยจรวด โซยุส-2

จรวดโซยุส-2 ที่ถูกปล่อยขึ้นในวันที่ 5 กรกฏาคม 2562 คราวนี้ปฏิบัติการสำเร็จ โดยนำดาวเทียม Meteor M2-2 ของทางการรัสเซียเข้าวงโคจร และลดระดับลงมาปล่อยดาวเทียมจิ๋วอีก 32 ดวง จากหลายประเทศ (อังกฤษ, อเมริกา, อิสราเอล, สวีเดน, ฟินแลนด์, เอควาดอร์, เอสโตเนีย, สาธารณรัฐเชค, และจากประเทศไทย) เข้าสู่วงโคจร

จรวด Soyuz-2 ทะยานขึ้นจาก
แท่นยิง พาเอาดาวเทียมขนาดใหญ่
และเล็กรวม 33 ดวง ปล่อยสู่วงโคจร


ไจแซท-วัน (JAISAT-1)

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า JAISAT-1 เป็นคำย่อ มาจาก “Joint Academy for Intelligent Satellites for Amateur Radio of Thailand-1”  โดยดาวเทียมดวงนี้ถูกพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิทยุสมัครเล่นชาวไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อนๆ ในสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง รวมทั้งนักศึกษาไทยที่ศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วยเหลือทางด้านข้อมูล วิชาการ ช่วยกันสร้าง ทดสอบ ส่วนหัวใจสำคัญของดาวเทียมดวงนี้คือ ทรานสปอนเดอร์ (transponder) ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณที่ส่งจากภาคพื้นดินขึ้นไป ให้กลับลงมาครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ขึ้น  ถ้าปราศจากทรานสปอนเดอร์แล้ว ดาวเทียมสื่อสารก็คงเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งที่ลอยวนๆ รอบโลกในอวกาศเท่านั้นเอง

นี่ล่ะครับ หน้าตาของดาวเทียม JAISAT-1
ภาพจาก https://twitter.com/knacksat


การแถลงข่าวดาวเทียม JAISAT-1

เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2562 ที่โรงแรมเสนาเพลส ซ.พหลโยธิน 11 กทม. ซึ่งเป็นวันประชุม พบปะสังสรรค์ประจำเดือนของเพื่อนในสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วย มีการแถลงความเป็นมาและความคืบหน้าของการปล่อยดาวเทียม JAISAT-1  ในการนี้ได้รับเกียรติจากทีมงานผู้สร้างดาวเทียม มาอธิบายขั้นตอนการทำงานต่างๆ กว่าจะประสบผลสำเร็จ ในฐานะนักวิทยุสมัครเล่นไทย และคนไทย ขอชื่นชมและขอบคุณคณะทำงานทั้งหมดไว้ด้วย ณ ที่นี้

ดร. จักรี ห่านทองคำ (HS1FVL)
นายกสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
กล่าวเปิดงานแถลงข่าวสารข้อมูล
เกี่ยวกับดาวเทียม JAISAT-1
 
 
ทีมงานอธิบายที่มาที่ไปของโครงการ
และขั้นตอนการออกแบบ สร้าง และ
ทดสอบดาวเทียม กว่าจะสามารถส่ง
ขึ้เนสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ
 
ผังวงจรส่วนประกอบของ
ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์
(Linear Transponder)
ที่เป็นหัวใจการทำงานถ่ายทอด
สัญญาณของดาวเทียม JAISAT-1
 

ชมภาพการแถลงข่าว/ข้อมูลดาวเทียม JAISAT-1 ที่
https://www.facebook.com/rast.org/videos/643439879505055/

การทำงานของ JAISAT-1

ดาวเทียมดวงนี้ เป็นวงโคจรต่ำ (low orbit) ดังนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านภูมิภาคต่างๆ ของโลกไปเรื่อยๆ ในหนึ่งวัน นั่นคือ จะขึ้นพ้นขอบฟ้าและลับไปในเวลา 6-10 นาที และครอบคลุมพื้นที่ไม่มากนัก (เพราะอยู่ไม่สูง แต่ก็ได้หลายประเทศพร้อมกันในแต่ละภูมิภาคล่ะ) ดาวเทียมมีทรานสปอนเดอร์แบบลิเนียร์ (นั่นคือ ทำงานได้ทุกโหมดการสื่อสาร ทั้ง CW, SSB, FM, data ต่างๆ) รายละเอียดังนี้
  • ดาวเทียม JAISAT-1 มีสัญญาณเรียกขานเป็น HS0J
  • Uplink: VHF 145.935-145.965MHz
  • Downlink: UHF 435.965-435.935MHz
  • Beacon: 4.8K GMSK ที่ 435.325MHz
  • ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์เป็นแบบ V/U inverting analog SSB, CW ดังนั้นถ้าส่งเป็น LSB สัญญาณกลับมาจะเป็น USB (และกลับกัน)
  • ดาวเทียมมีโหมดการทำงาน 3 โหมดคือ (1) Safe (2) Normal (3) Experiment คอยติดตามต่อไปว่าจะทำงานในโหมดไหนเมื่อไร นะครับ
หมายเหตุ
อาจมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ไปจากนี้ได้ หากมีการเปลี่ยนแปลง จะแก้ไขเมื่อทราบ

ใครใช้ดาวเทียมนี้ได้บ้าง

เนื่องจากความถี่ที่ใช้งาน ดาวเทียมรับความถี่ที่นักวิทยุสมัครเล่นบนภาตพื้นดิน “ส่ง” สัญญาณขึ้นไปในย่านความถี่วิทยุสมัครเล่น VHF และส่งกลับลงมาให้นักวิทยุสมัครเล่นบนภาตพื้นดิน “รับ” สัญญาณในย่านความถี่วิทยุสมัครเล่น UHF ซึ่งทั้งสองนี้ นักวิทยุสมัครเล่นไทยทุกขั้น ไม่ว่าจะเป็น ขั้นต้น ขั้นกลาง หรือ ขั้นสูง ได้รับอนุญาตให้ใช้งานได้ เรียกว่า มีสิทธิใช้ได้ทั่วถึงกันหมด และก็ไม่เฉพาะนักวิทยุสมัครเล่นของไทยเท่านั้นนะครับ เมือใดที่ดาวเทียมโคจรผ่านประเทศอื่นและมันทำงานอยู่ เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศนั้นที่มีสิทธิในการใช้ความถี่ที่ดาวเทียมทำงาน ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน

เราใช้งานอะไรดาวเทียมดวงนี้ได้

แน่นอนครับ ดาวเทียมนี้เป็นดาวเทียมสื่อสารสำหรับนักวิทยุสมัครเล่น ดังนั้นจึงถูกออกแบบให้ทำงานในช่วงความถี่ที่นักวิทยุสมัครเล่น (โดยเฉพาะนักวิทยุฯ ไทย) สามารถใช้งานได้ โดยหลักแล้วคือทำหน้าที่ "ถ่ายทอดสัญญาณ" ที่ดาวเทียมได้รับจากภาคพื้นดิน กลับลงมาบนพื้นโลก ทำให้พื้นที่การติดต่อกว้างไกลขึ้น (คล้าย รีพีทเตอร์ แต่ดีกว่า) โดยมี ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์ (Linear Transponder) ที่คนไทยเราเป็นผู้ออกแบบ ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณกลับลงมา และเนื่องจากมันเป็น ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์ จึงทำงานได้ทุกโหมด ถ้าเราส่ง FM ขึ้นไป มันก็จะส่ง FM กลับลงมา ถ้าเราส่ง SSB ขึ้นไป มันก็จะส่ง SSB กลับลงมา (invert mode) ถ้าเราเคาะรหัสมอร์สส่งขึ้นไป (CW) มันก็จะส่ง CW กลับลงมาด้วย นั่นเอง

ข้อควรทราบในการใช้งานดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น

ดาวเทียม JAISAT-1 นี้ เรียกได้ว่าเป็นดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นไทยดวงแรกเลยก็ว่าได้  นักวิทยุสมัครเล่นไทยหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น
  • ต้องมีเครื่องวิทยุที่ถูกต้อง มีสเป็คถูกต้อง
  • ไม่ใช้กำลังส่งสูงเกินไป (ดาวเทียมบางดวงอาจจะหยุดการทำงานชั่วคราวถ้าได้รับสัญญาณขาเข้าที่มีกำลังสูงเกินไป)
  • ต้องมีสายอากาศ รับ ส่ง ที่ถูกความถี่ อาจจะต้องมีอุปกรณ์แยกสัญญาณ (diplexer) ต่อร่วมด้วย
  • รู้ว่าดาวเทียมจะขึ้นพ้นและลงลับขอบฟ้าในทิศใด เวลาใด อันนี้ต้องมีโปรแกรมคำนวณ
  • รู้และปฏิบัติตามกติกามารยาทในการใช้งานดาวเทียม (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม)
เป็นอย่างไรครับ  เรื่องนี้คงทำให้เพิ่อนๆ รู้จักดาวเทียม JAISAT-1 ดีขึ้น  ไว้ในบทความต่อๆ ไปเราจะนำเรื่องรอบๆ เกี่ยวกับการใช้งานและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้งานดาวเทียมนี้ มาเล่าให้ฟังและชวนกันเล่นต่อไปนะครับ

73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)