ปัจจุบันนี้ มีดาวเทียมสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นโคจรอยู่บนท้องฟ้ามากมายหลายดวง นักวิทยุสมัครเล่นไทยเองก็สามารถใช้ได้หากความที่ปฏิบัติการของดาวเทียมเหล่านั้นอยู่ในช่วงที่เราได้รับอนุญาต ซึ่งในจุดนี้มีเรื่องพึงระวังคือ ความถี่ส่งขึ้น (uplink) ของดาวเทียมหลายดวงเป็นความถี่ในย่าน VHF (145.800 - 146.000) ที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นเราที่อยู่ภาคพื้นดินและต้องการติดต่อกับสถานีภาคพื้นดินด้วยกัน จะต้องระวังไม่ใช้ความถี่ผิดไปจากตารางกำหนดการใช้ความถี่ (Band Plan) ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการรบกวนการทำงานของดาวเทียมได้ ดาวเทียมที่ทำงานในโหมด FM ที่อยู่บนท้องฟ้า และดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นอีกหลายดวงที่กำลังอยู่การระหว่างการสร้างและปล่อยเข้าสู่วงโคจรในอวกาศ นี่คือโอกาสที่ดีสำหรับนักวิยุสมัครเล่นผู้สนใจในการรับสัญญานจากดาวเทียมในโหมด FM ไม่จำกัดว่าเป็นนักวิทยุประเทศอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิทยุสมัครเล่นไทยทุกขั้น ที่สามารถใช้งานย่านความถี่ VHF (ส่ง/รับ) และ UHF (รับเท่านั้น) ได้
ถึงแม้ว่าการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมในโหมด FM จะไม่ได้ยากมากนัก แต่ก็มีข้อพึงปฏิบัติที่ผู้ติดต่อสื่อสารควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เนื่องจาก ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นเป็นทรัพยากรที่ใช้งานร่วมกันของทั้งนักวิทยุสมัครเล่นไทยเองและชาติอื่น ในช่วงเวลาที่ดาวเทียมโคจรผ่านในพื้นที่หนึ่งๆ จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้มีการติดต่อกันระหว่างสถานีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“กฏทอง" ในการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม
ในการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น มีข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เรียกว่ากฏทอง (Golddn Rule) อยู่สองข้อ คือ
I) อย่าส่งสัญญาณหรือเรียกขาน ถ้ายังรับสัญญาณจากดาวเทียมไม่ได้ ขยายความอีกนิดก็คือ ถ้าเพียงเราได้ยินเพื่อนรอบๆ ข้างของท่านที่ติดต่อได้ แต่ท่านยังรับสัญญาณ ไม่ได้ก็อย่าเพิ่งกดคีย์ออกอากาศพยายามเรียกขานใครหรือตอบใคร มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าท่านสร้างการรบกวนให้ผู้อื่น (เราก็จะกลายเป็น QRM ไปนั่นเอง)
II) ควรใช้การติดต่อสองทาง Full Duplex ถ้าทำได้
คือมีทั้งการรับสัญญาณและการส่งสัญญาณ อาจทำได้ในวิทยุเครื่องเดียวกัน หรือแยกเครื่องวิทยุ เป็นเครื่องที่ใช้รับ และเครื่องที่ใช้ส่ง เพื่อให้แน่ใจว่าท่านติดต่อผ่านดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นได้สำเร็จ
ข้ออื่นที่ควรคำนึงถึงและปฏิบัติ
1. แบ่งปันโอกาสแก่ผู้อื่น ดาวเทียมในโหมด FM ทำงานคล้าย Repeater จะมีผู้ที่ส่งสัญญาณได้เพียงครั้งละ 1 สถานี ในแต่ละครั้งที่ดาวเทียมโคจรผ่านพื้นที่นั้นๆ จะมีเวลาที่ให้ใช้ติดต่อได้ประมาณ 15 นาที ก่อนที่ดาวเทียมจะโคจรผ่านเลยไป ดังนั้นหากท่านสามารถติดต่อได้แล้ว จึงควรกลับมารับฟังเพื่อเปิดโอกาสแก่ผู้อื่นได้ติดต่อบ้าง (ประเดี๋ยว รอบต่อไปดาวเทียมก็โคจรมาอีก เราก็มีโอกาสอีก)
2. รอให้สถานีอื่นติดต่อเสร็จก่อน เป็นมารยาทอยู่แล้วที่ท่านจะต้องฟังก่อน ว่ามีสถานีอื่นใดติดต่ออยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ หากเขากำลังติดต่อกัน จงรอให้การติดต่อนั้นสิ้นสุดลงเสียก่อน และการเรียกขานสถานีอื่นที่มิได้ติดต่อยู่เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และไม่ควรขัดจังหวะการติดต่อใดๆ ก่อนที่การติดต่อจะสิ้นสุด การที่สถานีอื่นสิ้นสุดการติดต่อคือ เขาจะต้อง 73 กันเรียบร้อย
3. ลดการ QSO กับสถานีที่เคยติดต่อได้แล้ว ในบางครั้งที่เราได้ยินสถานีที่เคยติดต่อได้หลายครั้งแล้ว ควรงดการติดต่อ และควรปล่อยให้เกิดการติดต่อระหว่างคู่สถานีอื่นบ้าง เช่นการติดต่อจากสถานีใหม่ๆ หรือจากสถานที่ใหม่ (GRID)
4. อย่า CQ เราไม่เรียกขาน “CQ Satellite” สำหรับการติดต่อผ่านดาวเทียมในโหมด FM เฉกเช่นเดียวกับการติดต่อผ่าน Repeater หากต้องการแสดงตนว่าเราพร้อมรับการติดต่อ ในระหว่างที่ดาวเทียมโคจรผ่าน และไม่มีผู้ติดต่อกันอยู่ ให้แจ้งสัญญาณเรียกขาน และ GRID สั้นๆ เช่น “W1ABC FN32” หากเราแจ้งออกไป หลายครั้งและยังไม่มีการตอบสนอง ให้หยุดการออกอากาศและตรวจสอบเครื่องส่งของท่านอีกครั้งก่อนที่จะออกอากาศต่อไป
5. ใช้การออกเสียงแบบโฟเนติก (Phonetics) ในส่วนนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วๆไปอยู่แล้วที่จะทำให้การสื่อสารเกิดความเข้าใจตรงกัน ทำให้แต่ละ QSO ใช้เวลาสั้นๆ
6. ให้ความสำคัญกับสถานีหากยาก หรือสถานี Portable การที่ผู้ที่จะออกอากาศผ่านดาวเทียมจะต้องนำอุปกรณ์ไปออกอากาศนอกสถานที่นั้นเป็นเรื่องปกติ เขาจะต้องไปในที่ที่เป็น GRID หรือประเทศ ที่หายาก การไปในพื้นที่ห่างไกล ย่อมมีเวลาจำกัดในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นหากเราได้ยินการติดต่อจาก GRID หรือ ประเทศ ที่หายาก จึงควรปล่อยโอกาสให้พวกเขาได้รับการติดต่อจากหลายๆสถานี
7. ใช้กำลังส่งน้อยที่สุด (ที่จริงก็ไม่เฉพาะกับการติดต่อผ่านดาวเทียมหรอกครับ การติดต่อโดยทั่วไปเราก็ควรใช้กำลังส่งน้อยที่สุดเท่าที่จะพอติดต่อได้ ไม่ต้องเบ่งกล้ามส่งให้สุดแรงเกิด เพื่อนๆ ที่ใช้ความถี่เดียวกันบริเวณอื่น หรือความถี่ข้างเคียง จะได้ไม่ถูกเรารบกวน กลายเป็นเราสร้างปัญหาขยะไป) โดยทั่วไปใช้กำลังส่ง 5 Watt เป็นการเหมาะสมที่สุด
8. ติดต่อกับสถานีใหม่ๆ ดาวเทียมเป็นสิ่งที่เราใช้ร่วมกัน เราก็ยินดีที่จะได้ยินเสียงการติดต่อ แน่นอนหากเราได้ยินเสียงการติดต่อจาก สัญญาณเรียกขานใหม่ๆ จงตั้งใจรับการติดต่อเพื่อสร้างความประทับใจ ต่อการติดต่อผ่านดาวเทียมเป็นครั้งแรกของพวกเขาเหล่านั้น
ถ้าเราทุกคน ช่วยกันปฏิบัติตามนี้ได้ เราก็จะใช้งานดาวเทียมได้อย่างมีความสุขทุกคน และที่สำคัญคือ รักษาชื่อเสียงของนักวิทยุสมัครเล่นไทยอีกด้วยครับ
อ้างอิง: FM Satellites: Good Operating Practices for Beginning and Experienced Operators
โดย: Sean Kutzko, December 11, 2017
https://www.amsat.org/fm-satellites-good-operating-practices-for-beginning-and-experienced-operators/
เรียบเรียงโดย สิปปภาส นิพนธ์กิจ (E24MTA)
บรรณาธิการ จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)