วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์คืออะไร

ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์ คืออะไร
ทรานสปอนเดอร์ที่ใช้ในอากาศยาน

เมื่อก่อน การใช้งานหรือเรียกว่า "เล่น" วิทยุนั้น เราก็เริ่มจากการติดต่อกันระหว่างสถานีสองสถานีหรือมากกว่า แต่ก็เป็นการติดต่อโดยตรง หรืออย่างมากก็เป็นการติดต่อโดยมีเพื่อนช่วยถ่ายทอดข้อความให้ (QSP) ในระบบที่ซับซ้อนขึ้นก็มีการใช้เครื่องทวนสัญญาณมาร่วมด้วยคือ Repeater และหลังๆ มานี้ก็มีการเข้ารหัสโทนเข้าไปเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องทวนสัญญาณด้วย แต่ในช่วงหลังๆ เริ่มมีระบบดาวเทียมของวิทยุสมัครเล่นมาร่วมด้วย ก็มีศัพท์ใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา หนึ่งในนั้นก็คือคำว่า "ทรานสปอนเดอร์" และ "ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์" ที่นักวิทยุสมัครเล่นหลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร และมีหน้าที่อะไร เกี่ยวข้องอะไรกับเรา นั่นเอง

ทรานสปอนเดอร์ (Transponder)

มาว่ากันที่คำว่า ทรานสปอนเดอร์ กันก่อน เอาจริงๆ คำนี้ความหมายกว้างมาก เหมือนกับเราพูดว่า “วิทยุ” มันกว้างมาก ทั้งวิทยุรับอย่างเดียว ส่งอย่างเดียว ทั้งรับทั้งส่งและเป็นย่านความถี่ไหนอีก นี่คือเปรียบเทียบเท่านั้นนะครับ เพราะโดยสรุปคือมันเป็น “เครื่องรับสัญญาณมาแล้วตอบสนองกลับไป” ตัวอย่างทรานสปอนเดอร์ก็เช่น เครื่องทวนสัญญาณในดาวเทียม เครื่องรายงานตำแหน่งอากาศยาน (ให้หอบังคับการบินรู้ตำแหน่ง) ไปกระทั่งพวกตัวรับ (และส่งด้วย) Easy pass ก็เรียกว่า Transponder ได้เช่นกัน

รูปที่ 1 ทรานสปอนเดอร์ในเครื่องบิน

ลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์ (Linear Transponder)

ทีนี้ Linear Transponder
เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานและมีความหมายแคบลงมา คือ มัน ทำหน้าที่แปลงความถี่ที่รับได้ แล้วส่งออกไปอีกความถี่หนึ่งแบบเชิงเส้น คือสัญญาณขาออกเป็นคณิตศาสตร์เชิงเส้นกับสัญญาณขาเข้า
รูปที่ 2 ตัวอย่างผังการทำงาน
ของลิเนียร์ทรานสปอนเดอร์
เช่น การบวก
สมมติ บวก 124.800 MHz

ถ้าภาครับรับความถี่ 21.100MHz มา ก็บวกอีก 124.800MHz ได้เป็น 145.900MHz แล้วส่งออกไปและถ้ามันรับความถี่ 21.150MHz มาได้ มันก็บวกได้เป็น 145.950MHz แล้วส่งออกไป โดยการส่งความถี่ใหม่ออกมา จะมี sideband(s) ต่างๆ ของความถี่เดิมออกมาด้วย ซึ่งข่าวสาร (information ในที่นี้อาจจะเป็นเสียงพูด รวมไปถึงข้อมูลแบบดิจิตอลด้วยก็ได้) จะอยู่ใน sidebands เหล่านั้น ทำให้สื่อสารได้

อาจจะฟังดูคล้ายสถานีทวนสัญญาณ (รีพีทเตอร์ - Repeater) ที่เราคุ้นเคยกัน เพียงแต่ Repeater ทำงานความถี่คู่ใดคู่หนึ่ง ในขณะที่ความถี่ที่ออกมาจาก Linear transponder จะขึ้นกับความถี่ที่เราป้อนเข้าไปหรือให้มันรับไป ถ้าเราเพิ่มความถี่ที่ส่งเข้าหามันนิดหนึ่ง มันก็ส่งความถี่ออกมาสูงขึ้น หรือต่ำลงตามกันไป (ขึ้นกับการออกแบบ ดังนั้นจึงต้องดูสเป็คการใช้งานของ Linear Transponder นั้นประกอบด้วย)

ที่จริงแล้ว ทรานสปอนเดอร์ไม่ได้จำกัดแต่การใช้งานกับระบบสื่อสารที่เป็นคลื่นวิทยุเท่านั้น ในระบบอื่นเช่นไฟเบอร์ออปติก ก็มีทรานสปอนเดอร์ของเขาเช่นเดียวกัน และนี่ก็เป็นเรื่องราวคร่าวๆ ที่ทำให้เรารู้จักทรานสปอนเดอร์กันดีขึ้นนะครับ ไว้คราวหน้าเราจะนำเรื่องดีๆ มาฝากกันอีกนะครับ สำหรับวันนี้ต้องกล่าวว่า

QRU 73 DE HS0DJU/KG5BEJ (จิตรยุทธ จุณณะภาต) ครับ