โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU / Jason)
เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นคงเคยรู้เรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียในสายสัญญาณมาบ้างแล้ว สายนำสัญญาณจะไม่สามารถส่งกำลังทั้งหมดที่เข้าที่ปลายสายด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งได้โดยเฉพาะเมื่อมันมีความยาว หลายคนคงเคยเปิดสเป็คหรือข้อมูลจำเพาะของสายนำสัญญาณโดยเฉพาะส่วนของตัวเลขที่บอกอัตราการสูญเสียกำลังในสายนำสัญญาณที่แต่ละชนิดซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เท่ากันที่ความถี่ต่างๆ
ตัวเลขเหล่านี้จะเห็นว่ามีหน่วยเป็น dB ต่อระยะทางเสมอ เช่น dB/100m หรือ dB/100ft (ไม่ยักบอกเป็น % หรือ เท่าตัวต่อความยาวซึ่งดูน่าจะเข้าใจง่ายกว่า) แต่เราก็เอาตัวเลขที่เป็น dB/100m หรือ dB/100ft นี้ไปคำนวณต่อได้ง่ายๆ ตามตัวอย่างต่อไปนี้
ความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น (Linear)
ความสัมพันธ์ของอะไรหลายๆ อย่างในวิศวกรรมเป็นแบบเชิงเส้น (ถึงในความเป็นจริง มักไม่มีอะไรเป็นเชิงเส้นอย่างแท้จริง อาจจะเพราะถูกรบกวน หรือธรรมชาติของอุปกรณ์เอง หรือเชิงเส้นภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เข่น ช่วงความถี่ โวลเตจ กระแส เป็นต้น แต่ถ้าเรามองในช่วงเล็กๆ ก็อาจจะพอถือว่าเป็นเชิงเส้นได้) เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกระแส (I) และศักดา (V) ที่ตกคร่อมความต้านทาน (R) ค่าหนึ่ง ดูรูปที่ 1
รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ V = R ⨯ I เป็นแบบเชิงเส้น
สังเกตลูกศรสีน้ำตาลเมื่อ I < 0 มีความหมายว่า
กระแสไหลกลับทิศทางและโวลเตจตกคร่อม
ความต้านทาานก็กลับด้านเท่านั้นเอง
รูปที่ 1 ไม่มีอะไรมากไปกว่า "กฏของโอห์ม" (Ohm's Law) ที่มาจากสูตร V = I ⨯ R หรือ I = (1/R) ⨯ V ซึ่งคือของอย่างเดียวกันนั่นแหละ ความชันของเส้นในภาพคือ (1/R) ยิ่งความต้านทาน R มีค่ามากขึ้น เส้นก็จะชันน้อยลง ง่ายๆ และมีความสุขดี
แต่ความสัมพันธ์ของอะไรๆ อีกหลายๆ อย่างในวิศวกรรมและในโลกนี้ไม่เป็นเชิงเส้น (ดูเหมือนจะเยอะกว่าด้วยซ้ำไป) และ..
กำลังของคลื่นที่ไหลผ่านสายนำสัญญาณมาได้ไม่เป็นเชิงเส้น
เมื่อคลื่นเดินทานผ่านสายนำสัญญาณจะมีการสูญเสียกำลังเกิดขึ้น ทั้งจากตัวนำไฟฟ้าเอง (มีความต้านทาน) และจากผลของฉนวนที่ไม่ได้เป็นฉนวนในอุมดมคติ ถ้าเราป้อนสัญญาณกำลัง (power) คงที่เข้าด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณแล้วตั้งสมมติฐานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของสัญญาณที่ออกอีกด้านหนึ่งกับความยาวของสายนำสัญญาณ เป็นเชิงเส้น เราน่าจะได้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของสายนำสัญญาณนั้นกับกำลังที่เหลือออกมาที่ปลายสายอีกด้านหนึ่งตามใน รูปที่ 2
รูปที่ 2 ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของคลื่น RF
ที่เหลือออกมาที่ปลายสายนำสัญญาณอีกด้านหนึ่ง
เป็นเชิงเส้นกับความยาวของสาย เราน่าจะได้ภาพ
ด้านบน ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ปัญหาของความสัมพันธ์ตาม รูปที่ 2 ก็คือ เมื่อสายนำสัญญาณยาวมากขึ้นๆ ขนาดของสัญญาณที่ปลายสายอีกด้านหนึ่งจะ ต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ (ส่งสัญญาณกลับด้านหรือไง?!?) จึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสมมติฐานจึงไม่ถูกต้อง นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของสัญญาณที่ออกอีกด้านหนึ่งกับความยาวของสายนำสัญญาณ ไม่เป็นเชิงเส้น
รูปที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของสัญญาณ
ที่ออกอีกด้านหนึ่งกับความยาวของสาย มีลักษณะ
ไม่เป็นเส้นตรง (ไม่เป็นเชิงเส้น ไม่ linear) ที่จริง
ให้เข้าใจว่าเส้นในภาพต้องเป็นเส้นโค้งตลอด แต่
วาดยาก ผู้เขียนจึงวาดเป็นเส้นตรงสั้นๆ มาต่อกัน
รูปที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของสัญญาณที่ออกอีกด้านหนึ่งกับความยาวของสายนำสัญญาณ จะ ไม่เป็นเชิงเส้น นั่นคือเป็นเส้นโค้ง (บนกราฟแบบแกน linear) และเส้นจะใกล้เข้าใกล้แกนนอน (แกน ขนาดเป็นศูนย์) ไปเรื่อยๆ โดยไม่ตัดแกนนอนไม่ว่า ℓ จะยาวเท่าไรก็ตาม ทีนี้ด้วยความเป็นเส้นโค้งๆ ตลอดของมันนี่แหละ ถ้าเราจะคำนวณว่ากำลังคลื่นเหลือที่ปลายสายเท่าไรให้แม่นยำ จะทำอย่างไร เริ่มมีปัญหาแล้ว
ทำไมต้องบอกการสูญเสียเป็น dB/ความยาว
ไม่รู้ว่าพวกเราเคยมีคำถามง่ายๆ บ้างไหมว่า: “ทำไมการบอกอัตราความสูญเสียกำลังในสายนำสัญญาณจึงบอกเป็น dB/ความยาว เช่น 6 dB/100m ทำไมไม่บอกเป็น เท่า/ความยาว เช่น 3.105 เท่า/100 เมตร บ้าง มันดูน่าจะง่ายกว่าตั้งเยอะ
คำตอบคือ เพราะเป็นวิธีที่ฉลาดที่สุด ง่ายต่อการนำไปใช้คำนวณที่สุด ที่จะได้ผลลัพธ์การสูญเสีย (หรือ สัญญาณส่วนที่เหลือส่งผ่านไปได้) ที่ความยาวของสายนำสัญญาณต่างๆ ถูกต้อง และนอกจากนั้นโดยธรรมชาติของ dB จะเป็นความสัมพันธ์แบบไม่เป็นเชิงเส้นด้วย
การสูญเสียเกิดขึ้นต่อระยะทางหนึ่งๆ คือเหลือกำลังเพียงส่วนหนึ่งจากเริ่มต้น ถ้าเราต่อความยาวออกไปอีก จะเป็นการ “ทบ” ความยาวไปอึก และกำลังที่เหลือจะเป็นการคูณสัดส่วนของกำลังที่เหลือซ้ำเข้าไปแบบการยกกำลัง (ไม่ใช่คูณด้วยจำนวนเท่าของการทบ) ดูรูปที่ 4
รูปที่ 4 การคำนวณอัตราการสูญเสียแบบง่ายๆ
เมื่อสายนำสัญญาณยาวขึ้นๆ สัดส่วนสัญญาณ
ที่เหลือถึงปลายสายจะเกิดจากการคูณอัตราการ
สูญเสียต่อหนึ่งความยาวเข้าด้วยกัน
อ่านเรื่อง การสูญเสียกำลังในสายนำสัญญาณ (ตอนที่ 2) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างที่ 3 ในบทความดังกล่าวประกอบ เพื่อความเข้าใจมากขึ้นเรื่องหน่วย dB และ B และการใส่เครื่องหมายติดลบที่ -0.492 ในการคำนวณด้านล่าง
ลองหาวิธีคำนวณดู
ในรูปที่ 4 สายนำสัญญาณมีการสูญเสีย 4.92 dB / 100 เมตร หรือ 0.492 B / 100 เมตร (B คือหน่วย Bel) บอกให้เรารู้ว่า:
log ( Pout / Pin ) = -0.492 นั่นคือ
Pout / Pin = log-1(-0.492) = 0.322
ให้ ℓ เป็นความยาวสาย (หน่วย เมตร) และ α เป็นความยาวที่ทำให้เหลือสัญญาณเป็น 0.322 เท่าตัว (เช่น α = 100 m) ในรูปจะแสดงการคำนวณหากำลังที่เหลือไปถึงอีกด้านของปลายสายที่ความยาว ℓ / α เมื่อ ℓ / α มีค่าต่างๆ กัน
ในรูปที่ 4 จะเห็นว่าสัดส่วนของกำลังขาออกต่อขาเข้าเป็น
Pout
/ Pin = 0.322^( ℓ / α ) หรือ
Pout
/ Pin = 0.322m
เมื่อ m = ℓ / α
เรารู้ว่า
log-1(-0.492) = 0.322
ดังนั้น
Pout / Pin = [ log-1( -0.492 )]m
take logarithmic ทั้งสองข้างของสมการได้
log ( Pout / Pin ) = log [ log-1( -0.492 )]m
จากคุณสมบัติด้านการยกกำลังของตัวแปรของฟังก์ชั่น Logarithm (ดูรูปที่ 5) จะได้
log ( Pout / Pin ) = m • log [ log-1( -0.492 )] ซึ่งคือ
log ( Pout / Pin ) = m • ( -0.492 )
Pout / Pin = log-1 [ m • ( -0.492 ) ]
ให้ - L = - 0.492
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] -------①
m = ℓ / α ------------------------------------②
สมการที่ ① และ ② นี่คือที่เราจะนำไปใช้คำนวณต่อไป
ตัวเลข -0.492 ก็คือ - L ในสมการ ① L คือการสูญเสียในหน่วย B (Bel) ต่อความยาว α แล้วใส่เครื่องหมายติดลบให้มันซะ และเทอม m • ( - L ) ในสมการ ① นั่นเองที่แสดงว่าเราสามารถเอาค่า dB (กรณีนี้เป็น B หรือ Bel ซึ่งเป็นหน่วยใหญ่ของมันแค่นั้นเอง) มาคูณกับ m หรือ multiple ของการทบความยาว เพื่อคำนวณได้ง่ายๆ
การพิสูจน์ด้านบนนับว่าค่อนข้างสับสนเอาเรื่อง (ถึงว่า หาอ่านได้ยาก ไม่ค่อยมีใครอธิบายไว้)
ตัวอย่างที่ 1
สายนำสัญญาณเส้นหนึ่ง มีอัตราการสูญเสียที่ความถี่ 150MHz เป็น 26 dB/100m สมมติเราตัดมาใช้งาน 10 เมตร และใช้กับเครื่องส่งกำลัง 5 วัตต์ จะมีกำลังเคลื่อนส่งออกไปถึงปลายสายอีกข้างหนึ่งเท่าไร
สายยาว 100 เมตร สูญเสีย 26 dB
สายนำสัญญาณของเรายาว 10 เมตร ดังนั้น
m = (10m / 100m) = 0.1
และจะสูญเสีย
m • 26 dB = 2.6 dB = 0.26 B (เพราะ 10 dB = 1 B)
ทำให้เป็นค่าติดลบเพราะเราคิด log ของ Pout / Pin ได้ -0.26 ในสมการ ③
ซึ่งคือของอย่างเดียวกันกับ m • ( - L) ในสมการที่ ①
10 log ( Pout / Pin ) = -2.6 (มี 10 คูณหน้า log ด้านขวามือเป็นหน่วย dB)
เราใส่เครื่องหมาย - เพราะ Pout < Pin ทำให้ Pout / Pin < 1 และ log (<1) จะเป็นค่าติดลบ
log ( Pout / Pin ) = -0.26 (ไม่มี 10 คูณหน้า log ด้านขวามือเป็นหน่วย B)
Pout / Pin = log-1(-0.26) = 10-0.26 ----------③
สมการ ③ อยู่ในรูปเดียวกับสมการ ① ด้านบน
จากสมการ ③ จะได้
Pout / Pin = 0.549
ถ้าป้อน
Pin = 5 W
จะได้
Pout = 5W • 0.549 = 2.745 W
ตัวอย่างที่ 2
สายนำสัญญาณเส้นหนึ่งมีการสูญเสีย 2.2 dB/100m ที่ความถี่ 30 MHz ถ้าเราใช้งานมันที่ความยาว 70 เมตร จะสูญเสียร้อยละเท่าไร
ดูสมการ
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] -------①
m = ℓ / α ------------------------------------②
L ของสายนำสัญญาณของเราคือ 2.2 dB/10 = 0.22 B (หน่วย Bel)
m = 70/100 = 0.7
m • ( - L ) = 0.7 • (- 0.22) = - 0.154
Pout / Pin = log-1 ( - 0.154 ) = 10-0.154 = 0.701
Pout = 0.701 Pin
กำลังหายไป 1 - 0.701 = 0.299 ส่วน (จาก 1)
นั่นคือสูญเสียไป 29.9%
ตัวอย่างที่ 3 การสูญเสียในสายนำสัญญาณไม่เป็นเชิงเส้นกับความยาว
สายนำสัญญาณ 3D-FB มีอัตราสูญเสีย 13 dB/100 m ที่ความถี่ 150MHz
กรณีที่ 1 สายนำสัญญาณนี้ยาว 100 เมตรจะมีการสูญเสียอย่างไร
m = ℓ / α
m = 100 m / 100 m = 1
L = 13/10 B = 1.3 B
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] = log-1 [ 1 • ( - 1.3 ) ]
Pout / Pin = log-1 -1.3 = 0.0501
หรือ เหลือกำลังที่ปลายสาย 5.01% และหายไป 94.99%
กรณีที่ 2 ถ้าสายนำสัญญาณนี้ยาว 50 เมตรจะมีการสูญเสียอย่างไร
m = ℓ / α
m = 50 m / 100 m = 0.5
L = 13/10 B = 1.3 B
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] = log-1 [ 0.5 • ( - 1.3 ) ]
Pout / Pin = log-1 -0.65 = 0.2238
หรือ เหลือกำลังที่ปลายสาย 22.38% และหายไป 77.62%
จะเห็นว่าการสูญเสียของสายนำสัญญาณที่ยาว 100 เมตร คือ 94.99% ไม่ได้เป็นสองเท่าของการสูญเสียของสายนำสัญญาณที่ยาว 50 เมตร และกำลังที่เหลือที่ปลายสายที่ยาว 50 เมตรก็ไม่ได้เป็นสองเท่าของสายที่ยาว 100 เมตร แต่ถ้าเราลองคิดว่าเราเอาสายนำสัญญาณเส้นละ 50 เมตรมาต่อกัน กำลังที่ปลายสายเส้นแรกจะเหลือ 0.2238 ส่วนต่อไปเส้นที่สองที่ลดลงไปอีก 0.2238 ส่วน รวมแล้วต้องคูณกันเป็น 0.2238 ⨯ 0.2238 = 0.0501 ซึ่งคือความไม่เป็นเชิงเส้นนั่นเอง
ตัวอย่างที่ 4 หาอัตราการสูญเสียของสายนำสัญญาณตัวอย่าง
สายนำสัญญาณเส้นหนึ่งยาว 12 เมตร เมื่อป้อนสัญญาณความถี่ 145 MHz กำลัง 5 วัตต์เข้าที่ด้านหนึ่ง วัดกำลังที่ปลายสายอีกด้านหนึ่งได้ 3 วัตต์ สายนำสัญญาณนี้มีอัตราการสูญเสียกำลังกี่ dB/100m และถ้าตัดให้ยาว 8 เมตร จะมีการสูญเสียอย่างไร
อัตราการสูญเสีย = log ( Pout
/ Pin ) = log (3/5)
= -0.2218 B/12m = -2.218 dB/12m (มีเครื่องหมาย - เพราะเราคำนวณจาก Pout
/ Pin )
ถ้าสายยาว 100 เมตร จะสูญเสีย (100m/12m) ⨯ (-2.218) = -18.48 dB/100m
หรือจะบอกว่าสายนำสัญญาณนี้สูญเสีย 18.48 dB/100m ก็ได้ มีความหมายเดียวกัน
ถ้าสายนำสัญญาณนี้ยาว 8 เมตร จะสูญเสียเท่าใด
m = ℓ / α = 8m / 100m = 0.08
L อัตราการสูญเสียต่อความยาว 100m หน่วย B แล้วใส่เครื่องหมายลบ = - 1.848
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] = log-1 [ 0.08 • ( - 1.848 ) ]
Pout / Pin = log-1 (- 0.1478) = 0.711
นั่นคือเหลือกำลังมาที่ปลายสาย 71.1% หรือสูญเสีย 28.9%
หรือจะคำนวณหาการสูญเสียกำลังองสายนำสัญญาณนี้เมื่อยาว 8 เมตรจากข้อมูลเดิมของมันที่เราคำนวณไว้เองแต่แรกคือ -2.218 dB/12m ก็ได้
m = ℓ / α = 8m / 12m = 0.66
L อัตราการสูญเสียต่อความยาว 12m หน่วย B แล้วใส่เครื่องหมายลบ = - 0.2218
Pout / Pin = log-1 [ m • ( - L ) ] = log-1 [ 0.66 • ( - 0.2218 ) ]
Pout / Pin = log-1 (- 0.1463) = 0.714
นั่นคือเหลือกำลังมาที่ปลายสาย 71.4% หรือสูญเสีย 28.6%
ซึ่งคือค่าเดียวกันกับที่คำนวณไว้แล้วด้านบน (ตัวเลขที่ต่างกันไปบ้างเพราะการปัดจุดทศนิยมในการกดเครื่องคิดเลขเท่านั้น)
สรุป
- ความสัมพันธ์ระหว่างกำลังของสัญญาณที่ออกอีกด้านหนึ่งกับความยาวของสายนำสัญญาณไม่เป็นเชิงเส้น
- โดยทั่วไป Pout < Pin เสมอ ดังนั้น log ( Pout / Pin ) จะติดลบ ในขณะที่ log ( Pin / Pout ) จะเป็นบวก ทั้งสองอย่างถูกต้องขึ้นกับว่าเราเลือกใช้อย่างไร แค่ต้องใช้ให้ถูกเท่านั้น
- การบอกอัตราความสูญเสียเป็น dB หรือ B ต่อหน่วยความยาว ก็เพื่อให้สามารถคำนวณหาความสูญเสียรวมของสายนำสัญญาณ และกำลังที่เหลือส่งผ่านสายนำสัญญาณที่ความยาวใดๆ ได้ง่ายและถูกต้อง
- เราอาจจะใช้ระบบ logarithmic ฐานใดตามใจเรา ที่ไม่ใช่ฐาน 10 ( log10 ) มาคำนวณการสูญเสียก็ได้ เช่นเลือกใช้ฐาน e ก็จะกลายเป็น loge หรือ ln (อ่านว่า ลอน) และยังคงสามารถคำนวณทุกอย่างได้ถูกต้อง ดูรูปที่ 6 และ 7 เพียงแต่ถ้าเราใช้ฐาน 10 จะสะดวกในการรับรู้ว่าการเพิ่มของค่า log10(Pout / Pin) ขึ้น 1 หน่วยมีความหมายว่าเพิ่ม Pout / Pin ขึ้น 10 เท่า และจะเรียกหน่วยของการเพิ่มนั้นว่า 1 B (Bel) ได้ หรือเมื่อคูณ 10 เข้ากับ log10(Pout / Pin) จะได้หน่วยเป็น dB หรือ decibel (ถ้าเลือกใช้ฐานอื่นที่ไม่ใช่ 10 จะเรียกหน่วยเป็น B หรือ dB แบบนี้ไม่ได้นะ) แล้วมันก็ "เป็นธรรมชาติ" ต่อเรามากกว่านั่นเอง
การลดลงแบบไม่เป็นเชิงเส้นของกำลังที่ส่งผ่านสาย
นำสัญญาณเป็นแบบ logarithm ฐานอะไร สายนำ
สัญญาณตัวอย่างในรูปนี้มีการสูญเสียกำลังเหลือ
ครึ่งหนึ่ง (0.5 เท่า นั่นคือ R=0.5 และ R<1) ต่อความยาว
100 เมตร (L = 100 เมตร) ℓ เป็นความยาวของสายนำ
สัญญาณที่เราต้องการคำนวณหากำลังที่ส่งผ่านได้
โดย m = ℓ/L บอกว่าความยาวของสายนำ
สัญญาณนั้นยาวเป้นกี่เท่าของ L (m ไม่จำเป็น
Pout ที่ส่งผ่านสายนำสัญญาณว่าเป็นกี่เท่าของ Pin
เลือกใช้), L (ความยาวที่รู้ว่ากำลังจะลดลงเหลือเท่าไร),
ยาว L) สามารถเป็นค่าใดๆ ก็ได้ (ยังไงก็ขอให้ B จำนวน
เต็มบวกหน่อยก็แล้วกัน จะได้ไม่แปลกเกินไป)
ก็ยังสามารถคำนวณ Pout เมื่อรู้ Pin ได้ถูกต้อง
และกรณีที่ 2: B=5 คือเราเลือกฐาน 5 ( log5 )
ข้อ 4 ในสรุป เป็นเรื่องของคณิตศาสตร์และเกินเลยเรื่องของวิทยุระดับสมัครเล่นไปหน่อย ถ้าเพื่อนๆ งงก็ไม่เป็นไรครับ เอาเป็นว่าปกติมาตรฐานทั่วไปในการคำนวณเรื่องการสูญเสียต่างๆ เราใช้ logarithm ฐาน 10 เท่านั้น (ไม่อย่างนั้นจะเรียกเป็น dB ไม่ได้)
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จ. / Jason)