โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)
เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นคงคุ้นเคยกับสายอากาศหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นเป็นสายอากาศที่ใช้การแมทช์แบบแกมม่า (Gamma match) เพราะรูปร่างหน้าตาโครงสร้างของมันเป็นเหมือนตัวอักษรกรีกแกมม่านั่นเอง หลายคนอาจจะทำตามแบบขึ้นเล่นบ้างแต่ไม่เคยรู้หลักการในการแมทช์ที่ทำให้ได้อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อน (จุดต่อสายนำสัญญาณเข้าไป) ใกล้เคียง 50Ω บทความเรื่องนี้ผมเลยชวนดูสายอากาศชนิดนี้ให้ละเอียดขึ้นนะครับ
พยายามดูให้เหมือนหน่อยนะครับ (ฮา..)
ลักษณะทางไฟฟ้า
หลังจากที่คุยเรื่องรูปร่างของชิ้นส่วนที่ใช้ในการแมทช์ว่าคล้ายอักษรกรีก (ตัวแกมม่า Г) กันไปแล้ว เรามาดูหลักษณะทางไฟฟ้าของมันกัน
1. สายอากาศบางอย่างเช่น ยากิ-อูดะ (Yagi-Uda) เมื่อเราเอาโลหะอื่น เช่น director, reflector ไปวางไว้ใกล้ๆ driven element ทำให้อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อน (feed point) ที่ driven element ต่ำลง โดยทั่วไปคือต่ำกว่า 50Ω (อาจอยู่ในช่วง 20-30 โอห์มได้) เราจึงต้องหาวิธีทำให้อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อน (Zf หรือ feed point impedance) สูงขึ้นเป็น 50Ω หรือใกล้เคียงให้ได้ ซึ่งว่ากันจริงๆ ก็มีหลายวิธีนะครับ จะใช้วงจรแมทชิ่งจาก L (ตัวเหนี่ยวนำ) และ C (ตัวเก็บประจุ) ก็ได้ แต่ในกรณีนี้เราจะลองใช้แกมม่าแมทช์กันซึ่งเป็นอีกหลักการหนึ่งเลย
2. การขยับจุดป้อนออกจากจุดกลางของชิ้นโลหะที่เป็น driven element ไปเป็นจุดแท็ป A บน driven element แล้วทำเป็นเหมือนลูปเล็กๆ ของโฟลเด็ดไดโพลที่ทำให้เกิดการเพิ่มอิมพิแดนซ์ (มีตัวคูณ) ทำนองเดียวกับในโฟลเด็ดไดโพล จึงทำให้ได้อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนสูงขึ้นเป็น (R2 + jX2) ดูภาพที่ 2
3. แต่การต่อแบบนั้นทำให้มีอิมพิแดนซ์อีกตัวหนึ่งที่เกิดจากการลัดวงจรที่ปลายด้านหนึ่งของสายนำสัญญาณความยาว ℓ (แอล) มาปรากฎที่จุดป้อนด้วยค่าเป็น + j X1 (+ คือแสดงค่าเป็นความเหนี่ยวนำ)
4. อิมพิแดนซ์ Zf โดยรวมจึงเกิดจากอิมพิแดนซ์สองค่าที่ ขนานกัน อยู่คือ (1) + j X1 จากส่วนลัดวงจรที่จุดแท็บ A แล้วถูกแปลงอิมพิแดนซ์ด้วยความยาวของส่วนที่เป็น gamma rod (เหมือนเป็นสายนำสัญญาณเส้นสั้นๆ) และ (2) R2 + jX2 จากจุดป้อนที่ผ่าน gamma rod ที่มีลักษณะการเพิ่มอิมพิแดนซ์ทำนองเดียวกับการดัดห่วงของโฟลเด็ดไดโพล กลายเป็น Zf = Rf + j Xf
ภาพที่ 2 โครงสร้างอิมพิแดนซ์ของ
การแมทช์แบบ Gamma
การแมทช์แบบ Gamma
5. เราพยายามหาจุดแท็บ A ที่ทำให้ได้ Rf ใกล้เคียง 50Ω ที่สุด แต่ในด้านไฟฟ้าแล้วผลที่เกิดจากโครงสร้างนี้จะทำให้อิมพีแดนซ์ที่สายป้อนมองเห็นมี reactance เป็นความเหนี่ยวนำ (inductive) คือ + j Xf ( ใน Zf = Rf + j Xf ) แถมมาด้วย
6. ดังนั้นเราจึงต้องพยายามกำจัด inductive reactance ค่า + j Xf นี้ออกด้วยการใส่ capacitive reactance ค่า - j Xf (เครื่องหมาย - แสดงความเป็น capacitive ซึ่งตรงกันข้ามกับ inductive) ซึ่งทำได้ด้วยการต่อตัวเก็บประจุอนุกรมเข้าไป ตัวเก็บประจุจะมี reactance เป็น - j Xf หรือเท่ากับ - j/(2πf C) โดยต้องเลือกค่า C ให้มีขนาดที่ถูกต้อง (โดยทั่วไปอยู่ในช่วง pF) เพราะขึ้นกับความยาวของชิ้นโลหะที่ต่อป้อนเยื้องจากจุดกึ่งกลางของ driven element และความถี่ที่ใช้
เมื่อรวมอิมพิแดนซ์จากการอนุกรมกัน (เอาอิมพิแดนซ์บวกกันได้ตรงๆ) จึงเป็น
Zf = Rf + j Xf - j Xf = Rf
หรือเหลือแต่ความต้านทาน Rf ล้วนๆ ที่มีค่าใกล้เคียง 50Ω และไม่มี reactance ( X ) นั่นเอง
เมื่อรวมอิมพิแดนซ์จากการอนุกรมกัน (เอาอิมพิแดนซ์บวกกันได้ตรงๆ) จึงเป็น
Zf = Rf + j Xf - j Xf = Rf
หรือเหลือแต่ความต้านทาน Rf ล้วนๆ ที่มีค่าใกล้เคียง 50Ω และไม่มี reactance ( X ) นั่นเอง
(ในความเป็นจริงก็อย่าจริงจังเกินไป สายอากาศอะไรที่แค่ใกล้ๆ 50Ω และจะมี reactance บ้างก็ใช้งานได้แหละครับ)
ภาพที่ 3 เราลด inductive reactance
ที่เกิดจากการต่อแท่งโลหะแกมมา
(Gamma Rod) ด้วยการต่อตัวเก็บประจุ
อนุกรมเข้าไป
7. ค่าความจุไฟฟ้า C นั้น เราอาจจะใช้ตัวเก็บประจุจริงๆ ต่อเข้าไปก็ได้ หรือบางทีก็สร้างขึ้นเองโดยเอาใส้แกนกลางของสายนำสัญญาณแบบ Coaxial สอดเข้าไปในท่ออลูมิเนียมกลวงที่ใช้ทำชิ้นโลหะที่ต่อป้อนเยื้องจากจุดกึ่งกลางของ driven element นั่นแหละ
ภาพที่ 4 บางครั้งเราก็สร้างตัวเก็บประจุ
ที่จะต่ออนุกรมเข้าที่จุดป้อนด้วยการร้อย
ใส้ในของสายนำสัญญาณแบบ Coaxial
เข้าในท่ออลูมิเนียม
8. เนื่องจากจุดกึ่งกลางของ driven element มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์ เราสามารถต่อลงกราวด์ของระบบได้ และ/หรือ ผ่านจุดจับยึดและตัวเสาอากาศ (tower, pole) ลงดินไป ทำให้สายอากาศนี้เป็นแบบunbalanced จึงต่อเข้ากับสายป้อนแบบ coaxial cable ได้โดยตรง
จะเห็นว่าการแมทช์แบบ Gamma มีตัวแปรเยอะมาก ถ้าจะคำนวณก็คงมีตัวแปรมากเช่นกัน จึงมีนักประดิษฐ์พยายามทดลองแล้วให้คำแนะนำสัดส่วนต่างๆ ไว้ดังนี้ (ดูภาพที่ 5)
a) จุดป้อน A อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของ driven element ประมาณ 0.05λ (หรือ 5% ของ λ)
b) โลหะที่ใช้ป้อน (gamma rod) มีขนาดความใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งของ driven element
c) ระยะระหว่างโลหะที่ใช้ป้อน driven element กับ driven element ประมาณ 0.007λ (0.7% ของ λ)
d) ตัวเก็บประจุควรมีค่าแถวๆ 7 pF / 1 m ของ λ ของความถี่ที่ทำงาน (เช่น เราทำสายอากาศสำหรับย่าน 2 เมตร (145MHz) ก็น่าจะลองใช้ที่ 14 pF เป็นต้น)
ภาพที่ 5 มิติต่างๆ ของการแมทช์แบบแกมมา
เป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองสร้างที่ดี
เป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองสร้างที่ดี
โดยทั้งหมดนั้นเป็นค่าโดยประมาณในการการเริ่มต้นทำซึ่งต้องปรับแต่งอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้เลยและไม่ได้หมายความว่าถ้าผิดจากนี้จะใช้ไม่ได้ โดยรวมๆ ดูแล้วก็ไม่ได้ง่ายเท่าไรนะ ทำให้สงสัยว่าแล้วทำไมเราถึงเลือกใช้มันอยู่ในบาง (หรือหลาย) กรณี
บนสมิทชาร์ท
รูปที่ 5 แสดงอิมพิแดนซ์ที่เกิดขึ้น (โดยประมาณ) บนสมิทชาร์ทเมื่อเราป้อนสายอากาศด้วยแกมมาแมทช์ จากอิมพิแดนซ์ต่ำ (จุดสีน้ำตาล) จะถูกทำให้สูงขึ้นด้วยห่วงของแกมมาไปอยู่ที่จุดสีน้ำเงิน จากนั้นถูกขนานด้วยตัวเหนี่ยวนำ (L) ที่เกิดจากลักษณะความเป็นสายนำสัญญาณของแท่งแกมมา (gamma rod) ไปอยู่ที่จุดสีม่วง และเมื่ออนุกรมกับตัวเก็บประจุ อิมพิแดนซ์จะขยับมาตามลูกศรสีแดงไปยังจุดศูนย์กลางของสมิทชาร์ท ซึ่งคือ Z=50Ω นั่นเอง
ข้อดี
- ไม่มีจุดผ่ากลางของ driven element ทำให้แข็งแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายอากาศย่านความถี่ HF ที่ driven element ต้องมีขนาดยาวและมักจะหนักด้วย จะช่วยได้มาก)
- หาจุดป้อนที่อิมพิแดนซ์สูงขึ้นจนเหมาะสมกับความต้านทานจำเพาะของสายป้อนได้ เพื่อแก้ปัญหาอิมพิแดนซ์ที่ลดลงเมื่อมีแท่งโลหะอื่นๆ ที่เป็น reflector, director อยู่ใกล้ๆ driven element ในสายอากาศแบบ Yagi-Uda
- เมื่อติดตั้งจะกลายเป็นสายอากาศแบบ unbalanced ทำให้ป้อนด้วยสายนำสัญญาณแบบ coaxial ได้โดยตรง (ไม่ต้องมี balun)
ข้อเสีย
- การคำนวณการแมทช์ค่อนข้างยาก ไม่ตรงไปตรงมาสั่งเท่าไรเมื่อเทียบกับเทคนิคการแมทช์แบบอื่น
- ชิ้นส่วนมากขึ้น
- ถ้าป้องกันน้ำไม่ดี น้ำเข้าส่วนที่เป็น Capacitor ในแบบที่ใช้ท่ออลูมิเนียมสร้างขึ้นมา การทำงานก็ผิดเพี้ยนไป
- มิติต่างๆ มักได้จากการทดลองมากกว่าการคำนวณ (การคำนวณทำได้ แต่ตัวแปรมีจำนวนมาก และมีค่าไม่แน่นอนในการสร้าง)
เป็นอย่างไรครับ หลังจากอ่านเรื่องนี้แล้วน่าจะพอทำให้เพื่อนๆ เข้าใจหลักการของการแมทช์แบบ Gamma ได้ดีขึ้นนะครับ แล้วพบกันใหม่ในสาระความรู้เรื่องต่อๆ ไปนะครับ
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ / Jason)
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ / Jason)