วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ข้อควรรู้สำหรับผู้ต้องการเทียบใบอนุญาตฯ สหรัฐอเมริกา-ไทย

โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) 

กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการสากล หลายประเทศมีข้อตกลงในการเทียบใบอนุญาตกันได้ ประเทศไทยมีสัญญาต่างตอบแทน (เรียกว่า Reciprocal Agreement) เช่นนี้อยู่กับอีก 10 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เรามีสัญญาต่อกัน นั่นหมายความว่านักวิทยุของประเทศหนึ่งสามารถนำใบอนุญาตของตัวเองไปเทียบเป็นใบอนุญาตในอีกประเทศหนึ่งได้ 

สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นที่สอบผ่านและมีใบอนุญาตของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องการเทียบมาเป็นใบอนุญาตของไทยและมีกิจกรรมทางวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยแล้ว มีหลายสิ่งที่ต้องรู้เพราะประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่คนละ ITU Zone กัน มีข้อบังคับและกฏหมายปลีกย่อยที่ต่างกันที่จำเป็นต้องรู้เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยผมพยายามสรุปไว้ให้เพื่อนๆ ได้ทราบดังนี้: 

•ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประกาศนียบัตรและใบอนุญาตพนักงานนักวิทยุสมัครเล่น 3 ขั้นคือ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีใบอนุญาต (license) 3 ขั้นคือ Technician, General, และ Extra Class ตามลำดับ

•ผู้ที่สอบผ่าน ได้รับใบอนุญาตและสัญญาณเรียกขานวิทยุสมัครเล่นของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว (เช่น General Class หรือ Extra Class) จะต้องดำเนินการเทียบชั้นเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นของประเทศไทย (เช่นเป็น ขั้นกลางหรือขั้นสูง)ให้ถูกต้องเสียก่อน (คือ มีบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นของไทยจาก กสทช.) จึงจะมีสิทธิ์ใช้ความถี่และกำลังส่งตามกฏหมายกำหนดในแต่ละขั้นในประเทศไทยตามระเบียบและกฏหมายของประเทศไทย

•เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว การต่ออายุใบอนุญาต (หรือที่เรียกกันง่ายๆ คือ ต่ออายุบัตรพนักงาน) สามารถต่อเพียงขั้นสูงสุดเพียงขั้นเดียวก็ได้ (จะต่อขั้นรองๆ ลงมาด้วยก็ได้ แต่ไม่ได้บังคับ)

•การคงสภาพพนักงานวิทยุสมัครเล่น สามารถออกอากาศได้ ต้องระวังไม่ให้ใบอนุญาตหมดอายุ และต้องเป็นสมาชิกของสมาคมที่ทำหน้าที่เป็นสถานีควบคุมข่ายที่ กสทช. รับรอง (ไม่หมดอายุ) ด้วยในเวลาเดียวกัน

•นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูงของไทยยังคงต้องปฏิบัติตาม กฏหมาย ระเบียบ จริยธรรมอันดี เช่นเดียวกับพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น และสมควรทำตัวเป็นตัวอย่าง ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ให้กับเพื่อนร่วมกิจกรรมด้วย 

•นักวิทยุสมัครเล่นขั้น Technician Class ของสหรัฐอเมริกา ในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถใช้ย่านความถี่ได้หลายย่าน (เช่น ทั้งรับและส่งย่าน 2m และ 70 cm) รวมทั้ง HF บางช่วงความถี่ในบางโหมด (เช่น CW)  ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นไม่สามารถใช้ความถี่ย่าน HF ได้ (ไม่พูดถึงการใช้ภายใต้การควบคุมจากผู้ควบคุมพิเศษ หรือการออกอากาศที่คลับสเตชั่นขั้นกลางหรือสูงนะครับ)

•นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูงของไทย สามารถใช้กำลังส่งสูงสุดได้ 200 และ 1,000 วัตต์ตามลำดับ (สหรัฐอเมริกาใช้ได้ถึง 1,500 วัตต์) แต่จะต้องมีใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือขั้นสูงด้วย (ในสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องขอใบอนุญาตตั้งสถานี) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาตตั้งสถานีได้ไม่เกินขั้นของผู้ขออนุญาต เช่น ถ้านักวิทยุถือบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น จะขอตั้งสถานีขั้นต้น (กำลังส่งไม่เกิน 60 วัตต์) ได้เท่านั้น ถ้านักวิทยุถือบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง จะขอตั้งสถานีขั้นต้นหรือขั้นกลาง (กำลังส่งไม่เกิน 200 วัตต์) ก็ได้ และถ้านักวิทยุถือบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง จะขอตั้งสถานีขั้นต้น กลาง หรือสูง (กำลังส่งไม่เกิน 1,000 วัตต์) ได้ตามต้องการ 

•ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งสถานีแต่ละขั้น ไม่เท่ากัน ดังนั้นเลือกตั้งแต่ละสถานีตามควรและสิทธิที่ตั้งได้ (เช่น ในรถยนต์ก็ไม่ต้องตั้งขั้นสูงก็ได้ หรือ ถ้าไม่ตั้งใจใช้ย่าน HF ในรถยนต์และใช้กำลังส่งไม่เกิน 60 วัตต์ ก็ตั้งขั้นต้นก็ได้)  ใบอนุญาตตั้งสถานีเดิมที่ออกมาก่อนหน้า ภายใต้สัญญาณเรียกขานเดิมถือว่ายังใช้ได้ (เช่น เคยได้รับใบอนุญาตตั้งสถานีขั้นต้นเมื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น  เมื่อปรับมาเป็นขั้นกลางหรือสูงของไทยแล้ว ใบอนุญาตตั้งสถานีขั้นต้นนั้นยังใช้ได้ แต่จะออกอากาศได้ในย่านความถี่และกำลังส่งของขั้นต้นเท่านั้น)

•นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นไม่สามารถใช้เครื่องขยายกำลังส่งภายนอก (Linear Power Amplifier) ในขณะที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูงและสามารถใช้เครื่องขยายกำลังส่งที่ กสทช. ที่อนุญาตได้

•ในประเทศไทย เป็น ITU Region 3 ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ใน Region 2 (ยกเว้น Hawaii) จะต้องระวัง "ช่วงความถี่" ในการใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือย่าน 160 เมตร (ไทย ใช้ได้ในช่วงแคบกว่า), 40 เมตร (ใชัได้ในช่วงแคบกว่าคือ 7.000-7.200 MHz เท่านั้น) และย่าน 6 เมตรที่ยังไม่ได้รับอนุญาต (ติดตามประกาศ และกฏหมายที่จะออกมาด้วย) , 5 ความถี่ในย่าน 60 เมตร, การส่งในย่าน 70 ซม. ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต นั่นคือการใช้ความถี่ย่านต่างๆ ในประเทศไทย ให้อ้างอิงจากราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเป็นหลัก

•ในประเทศไทย สถานีควบคุมข่ายวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูง ดำเนินงานโดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

•การสร้างเครื่องวิทยุคมนาคมเพื่อการศึกษาวิจัยเป็นรายบุคคลของนักวิทยุสมัครเล่นทุกขั้น ต้องขออนุญาตจาก กสทช.

•เครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและสูง จะต้องได้รับอนุญาตให้ใช้ในกิจการ มีใบอนุญาต มี/ใช้ เช่นเดียวกับวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น (ใบอนุญาตให้ ตั้ง สถานี เป็นอีกใบหนึ่งแยกต่างหาก) 

•ในกิจการวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและสูงประเทศไทยเนื่องจากมีจำนวนช่วงความถี่ให้ใช้มากขึ้นมาก แต่ละช่วงความถี่จะถูกกำหนดไว้ว่าเป็นกิจการหลักหรือกิจการรองของวิทยุสมัครเล่น ส่วนที่เป็นกิจการหลักคือวิทยุสมัครเล่นได้รับอนุญาตให้ใช้และสามารถร้องเรียนเมื่อถูกรบกวน ในขณะที่หากถูกกำหนดว่าเป็นกิจการรองจะไม่สามารถร้องเรียนดังกล่าวได้

•เนื่องจากช่วงความถี่ที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูงสามารถใช้ได้จะติดต่อได้ในระยะไกลถึงต่างประเทศ ดังนั้นการจดบันทึก Log Book จึงมีความสำคัญมาก นอกจากตัวเราเองแล้วยังมีเพื่อนในต่างประเทศก็คงต้องการบันทึกสถิติและความภูมิใจไว้ว่าสามารถติดต่อกับประเทศไทยได้เราจึงควรมีล็อคบุ๊คอิเล็กทรอนิกส์ เช่น qrz.com, LoTW (Log book of the world) ซึ่งจะทำการ cross check ให้คู่สถานีโดยอัตโนมัติเมื่อบันทึกการติดต่อได้ตรงกัน 

•QSL card เป็นเอกสารอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญที่เราอาจจะต้องเตรียมไว้เพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในต่างประเทศหรือแม้แต่ในประเทศไทยที่ส่งมาให้เราก่อน หรือ เราอาจจะเป็นฝ่ายส่งไปก่อนก็ได้ 

ทั้งนี้ ขอให้เพื่อนๆ ทุกท่านปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ระเบียบ ของแต่ละประเทศที่ท่านได้ถือใบอนุญาตอยู่ และมีความสุขกับกิจกรรมของเราด้วยกันนะครับ 

73 DE HS0DJU