วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ประวัติของรหัสมอร์ส

 
นักวิทยุสมัครเล่นแทบทุกคนคงรู้จักรหัสมอร์ส (ที่จริงคงไม่จำกัดเฉพาะนักวิทยุสมัครเล่นหรอก คนธรรมดาทั่วไปก็คงรู้จักล่ะนะ) โดยเฉพาะมีเพื่อนนักวิทยุด้วยกันบางกลุ่มใช้งานอยู่ ว่าเป็นการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวมาผสมกันเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้  เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นหลายคนอาจไม่เข้าใจว่าใช้เพื่ออะไร เพื่อความเท่หรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้เราก็ใช้การพูดกันได้แล้ว เข้าใจง่ายกว่า ไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัดด้วย ซึ่งการใช้รหัสมอร์สในกิจการวิทยุสมัครเล่นในปัจจุบันนั้นเท่ไหม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราเก็บเอาไว้คุยกันในบทความต่อไปนะครับ

ความเป็นมาของรหัสมอร์ส

ที่จริงรหัสมอร์สถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นเวลานานก่อนที่จะมีการคิดค้นวิทยุสื่อสารด้วยซ้ำไป โดยใช้การสื่อสารแบบมีสาย (wired) ก็คือสายโทรเลขนั่นเอง (ดูภาพที่ 1) เดิมทีรหัสมอร์ส ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย แซมมวล มอร์ส (ดูภาพที่ 2) ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วนาน แซมมวล มอร์ส เป็นศิลปินวาดภาพไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์  มอร์ส ใช้การส่งสัญญาณเป็นรหัสตัวเลข เมื่อฝั่งผู้รับได้รับรหัสตัวเลขแล้วก็นำไปเปิดคู่มือเทียบว่าตัวเลขนั้นคือคำว่าอะไร ดังนั้นคู่มือที่ว่านี้จึงใหญ่โตระดับพจนานุกรมกันเลยทีเดียว

ภาพที่ 1รหัสมอร์ส ใช้กันเริ่มแรก
กับการสื่อสารแบบมีสาย ก็คือสาย
โทรเลขนั่นเอง ในประเทศไทยเอง
ช่วงปี 2520 ถือว่ารุ่งเรืองมาก

ภาพที่ 2 แซมมวล มอร์ส คิดค้นการ
ส่งสัญญาณสั้นและยาวแทนตัวเลขต่างๆ

การพัฒนารหัสเบื้องต้น

อย่างที่เล่าให้ฟังแต่แรกว่า แซมมวล มอร์ส เองไม่ได้ชำนาญด้านเทคนิค การพัฒนาก็งงๆ อยู่พักหนึ่ง จนกระทั่ง แซมมวล มอร์ส มีผู้ช่วยคือ อัลเฟรด เวล (Alfred Vail) ซึ่งชำนาญด้านเทคนิค ก็คิดว่า ควรส่งเสียงเฉพาะที่เป็นเสียงประจำของแต่ละตัวอักษรออกไปเลย  ฝั่งผู้รับจะได้ถอดเสียงออกมาเป็นข้อความได้โดยไม่ต้องไปเปิดคู่มือเทียบถอดรหัสหาความหมายอีก  โดยแนวความคิดคือ ตัวอักษรไหนที่ใช้มากที่สุด ควรมีเสียงง่ายที่สุด สั้นที่สุด เช่น ตัว E (dit) ตัว A (ditdah) แล้วก็ไล่กันไป

ในช่วงแรกที่ทั้ง มอร์ส และ เวล ออกแบบระบบโทรเลขนั้น พวกเขาตั้งใจว่าจะให้พิมพ์ลงบนกระดาษแล้วอ่านในภายหลัง (ดูภาพที่ 3) แต่ก็พบว่า หลังจากการฝึกฝน คนเราสามารถฟังเสียงเฉพาะหนึ่งๆ แล้วแยกความแตกต่างออกมาเป็นแต่ละตัวอักษรได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ลงบนกระดาษก่อน จึงใช้การฟังเสียงเอาโดยตรงแทนเช่นในปัจจุบัน
ภาพที่ 3 เครื่องรับรหัสในยุคแรกๆ
จะพิมพ์  (มีกลไก ใช้ปากกาหรือ
ดินสอเพื่อเขียน) เป็นเส้น สั้น
และยาว ลงบนแถบกระดาษ

การพัฒนารหัสมอร์ส

ในปี 1948 เฟรดเดอริค คลีมันส์ เกิร์ค ได้ดัดแปลงเสียงของแต่ละตัวอักษรเสียใหม่ เรียกว่าเปลี่ยนจากที่มอร์สออกแบบไว้แต่แรกราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายครั้งจนกระทั่งได้เป็นรหัสมอร์สตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นมาตรฐานนานาชาติในปัจจุบัน ดูภาพที่ 3
 
ภาพที่ 3 รหัสมอร์สสากลในปัจจุบัน

รหัสมอร์สผ่านคลื่นวิทยุ

ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2444 กูลิเอโม มาร์โคนี และผู้ช่วย จอร์จ เคมพ์ ได้ร่วมกันส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก (ใช้สายอากาศผูกกับว่าว) จากโพลดิว (Poldhu) (ดูภาพที่ 4) ในประเทศอังกฤษไปยังซิกแนลฮิล (Signal Hill, Newfoundland) (ดูภาพที่ 5) ซึ่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และพ้นระยะสายตา (คือ ติดส่วนโค้งของโลก)  ในครั้งนั้นตัวหนังสือที่ส่งเป็นตัวแรกคืออักษร S (รหัสมอร์สคือ ditditdit) ในวันนี้ลมแรงและสายอากาศที่ขึ้นไปกับว่าวก็เสียหาย ประมาณว่ารับได้แต่ตัวอักษร S แต่รับข้อความอะไรไม่ได้อีก จนในวันต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2444 จึงนำว่าวตัวที่สองขึ้นไปใหม่ และสามารถส่งข้อความได้สำเร็จ นี่เป็นการเปิดโลกการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุที่สามารถสะท้อนชั้นบรรยากาศได้ทำให้สามารถติดต่อได้ในระยะทางไกลกว่าที่ส่วนโค้งของโลกบดบังเอาไว้
 
ภาพที่ 4 สถานีส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุ
ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกที่ Poldhu
ภาพที่ 5 การรับสัญญาณที่ Signal Hill
ใช้ว่าวเพื่อดึงสายอากาศขึ้นไปในที่สูง

เรื่องน่าเสียดาย

การคิดค้นการส่งสัญญาณของ แซมมวล มอร์ส นี้ ถูกเขานำไปจดสิทธิบัตรเอาไว้ (โดยตกลงว่าใช้ชื่อของ แซมมวล มอร์ส คนเดียว) ซึ่งจะเห็นว่าที่จริงแล้ว อัลเฟรด เวล มีส่วนในการพัฒนาอย่างมาก (คงได้ผลตอบแทนเป้นรูปอื่นแทน เช่น หุ้น)  จากนั้นก็ใช้เวลานานกว่าจะถูกนำไปใช้ในการสื่อสาร (แบบโทรเลข มีสาย) จริง ซึ่งทำให้ มอร์ส กลายเป็นคนร่ำรวยไปเลย ส่วน อัลเฟรด เวล ได้ขายหุ้นออกไปก่อนที่กิจการจะรุ่งเรือง นับว่าน่าเสียดายมากทีเดียว

เป็นอย่างไรครับ เรื่องราวโดยย่อของที่มาของรหัสมอร์สที่แม้ในปัจจุบันก็ยังถูกใช้งานเป็นประจำทุกวันโดยนักวิทยุสมัครเล่น  ในบทความหน้าเราจะมาคุยกันต่อว่าทำไมนักวิทยุสมัครเล่นบางกลุ่มยังคงชื่นชอบรหัสมอร์สอยู่มันมีข้อดีอย่างไร ไว้ติดตามกันใหม่คราวหน้านะครับสำหรับคราวนี้ต้องขอกล่าวคำว่า

73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต) ครับ