วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชมรม The DXER ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และสายอากาศให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า


สืบเนื่องจากการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แม่วงก์ จังหวัดอุทัยธานี ว่าเจ้าหน้าที่ ณ จุดสกัดบางจุดซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูแลป่า ยังขาดแคลนอุปกรณ์สื่อสาร ชมรมวิทยุสมัครเล่น The DXER (สัญญาณเรียกขาน E20AE) จึงได้เดินทางไปสำรวจความต้องการ พบว่านอกจากระบบสื่อสารแล้ว ยังมีระบบพลังงานที่ควรได้รับการสนับสนุนอีกด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นของชมรม The DXER ได้พร้อมใจกันเดินทางไปยัง จุดสกัดบ้านบุแม้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัด อุทัยธานี เพื่อ
  1. ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขาตั้ง ระบบประจุพลังงาน และแบตเตอรี่สำรอง (ได้รับการสนับสนุนจาก บจก. ซายน์ ซัพพลายเออร์)
  2. ติดตั้งสายอากาศแบบ Folded Dipole 4 stack สำหรับการประสานงานของเจ้าหน้าที่ (ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ ในชมรม The DXER) 
  3. ติดตั้งเครื่องรับส่งวิทยุเพื่อใช้ในงานพิทักษ์ป่า (ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ ในชมรม The DXER)
  4. ได้รับสมทบทุนจากเพื่อนๆ นอกชมรมเป็นเงินสดส่วนหนึ่ง ซึ่งได้นำบริจาคให้กับมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร (ดูหลักฐานการโอนเงินด้านล่างสุด)
--- สรุปผลของกิจกรรมโดยสังเขป ---
  1. แผงโซล่าร์เซลล์รวมแล้วสามารถสร้างพลังงานได้ประมาณ 150-170 วัตต์เมื่อถูกแสงแดด น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานด้านแสงสว่างในเวลากลางคืน และระบบสื่อสาร
  2. ระบบสายอากาศใหม่ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกับจุดสกัดและสำนักงานอื่นที่ไม่เคยติดต่อได้ ในระดับ QRK3-4 (ว.16 3-4)
เราเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครในเวลา 03:00 น. และถึง บ้านบุแม้ว จ. อุทัยธานี ในเวลา 09:00 น. ตามกำหนด ช่วยกันติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และสายอากาศ ทดสอบระบบทั้งหมดว่าทำงานได้ถูกต้อง เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14:00 น. ตามแผน และเดินทางกลับ กทม. อย่างปลอดภัย






--- เรื่องราวการเดินทาง ---

เตรียมพร้อม ออกเดินทาง เอาของขึ้นรถเวลา 02:00 น. ของเช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2561

จัดของก่อนเดินทาง ชิ้นที่ใหญ่
ที่สุดก็คือ สายอากาศแบบ
Folded Dipole 4 ชั้น ซึ่ง
อาตุ้ม พลายณรงค์ (HS1DNG)
เป็นหัวแรงในการประกอบขึ้นมา

ถึงอุทัยธานี เวลาประมาณ
06:00 น. เริ่มหิวล่ะครับ
เอ้า พวกเรา จ่ายตลาด

กินข้าวกันนะคะ
กองทัพเดินด้วยท้อง
มื้อนี้เป็นโจ๊กใส่ไข ร้อนๆ

จ่ายตลาดเสร็จ หอบหิ้วของกินไว้เผื่อหิว
ในระหว่างทำงาน แล้วก็ เซลฟี่ซะหน่อย

พาหนะทั้งสามคันที่เราใช้ใน
การเดินทางเพื่อทำภารกิจนี้

ระหว่างการเดินทาง ผ่าน
บ้านลานสัก ธรรมชาติช่าง
สวยงาม ช่วยกันรักษาไว้นะ

ใกล้ถึงแล้ว บ้านบุแม้ว ท้องฟ้า
มีเมฆบ้าง และอากาศไม่ร้อน

ดีใจจัง นึกว่าหลงทาง (ไม่หลงหรอกครับ
เพราะมาสำรวจครั้งหนึ่งแล้วเรียบร้อย)





ถึงแล้ว ยืดเส้นสายกันสักครู่ ก็เริ่ม
มองซ้าย มองขวา ทำอย่างไรกับ
สายอากาศ กับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
เจ้าหน้าที่บอก ตรงนั้นเลยครับ เหมาะ
เฮียเว้ง จิรัฏฐ์ (E22QNR)
แหงนหน้ามองฟ้า หลังคา ต้นไม้
จับยามสามตาเสร็จ "เอาตรงนี้เลย"
คุณชิน (E23PBE) เริ่มประกอบ
ขาตั้งสำหรับแผงโซล่าร์เซลล์ที่คุณเลิศฤทธิ์
(HS2AAW) จัดสร้างเตรียมมาให้

ไม้ไผ่ลำโต พันธุ์ที่มอดไม่ชอบกิน
ถูกจัดเตรียมไว้โดยเจ้าหน้าที่
จะเป็นตัวชูสายอากาศที่เราขนมาจาก
กรุงเทพฯ ให้สูงสมใจ

ยังไม่มีขาตั้ง เอากองไว้ตรงนี้ก่อนนะ

น้องโอ๊ต ปัทมาสน์ (E24RBU)
และพี่หมอ นพ.จีรกร (HS0EBS)
กำลังวัดสายอากาศที่เตรียมมาอีกครั้ง
ก่อนการติดตั้ง

เอาให้แน่ ช่วยกันวัด ให้แน่ๆ
พี่หมอ นพ.จีรกร (HS0EBS)
คุณจิตรยุทธ (HS0DJU)
และคุณนพดล (HS1ZHY)
มาช่วยกันเล็ง ผลเป็นที่น่าพอใจ

พี่จะชูอีกนานไหมคะ
เดี๋ยวน้องนวดให้ เอาแบบหนัก
หรือแบบเบาคะ (น้องนีไม่ได้พูด
คนเขียนเขียนเองแหละ เดาๆ เอา)


ยุ่งเป็นยุงตีกัน พัลวันพัลเก งานนี้
เรียกว่า สามัคคีจริงๆ ไม่อย่างนั้น
ไม่สำเร็จนะครับ นับดูได้ไม่ต่ำกว่า
4-6 มือนั่นแหละ ที่เห็นนี่พวก
นักวิทยุสมัครเล่นเขากำลังต่อ
สายนำสัญญาณกันอยู่แหละจ้ะ

ช่วยจนเหนื่อยแล้ว (ปนงง)
น้องกิ้ก บุษบา (E24YJQ)
ถอยออกมาเซลฟี่สักนิดดีกว่า

คุณเจณณ์ (E22UOJ) (ซ้าย) และ
คุณเลิศฤทธิ์ (HS2AAW) (ขวา)
กำลังง่วนกับแผงโซล่าร์เซลล์

ติดตั้งเสร็จสรรพ ทดลองว่าได้มุมที่ดี
สร้างพลังงานรวมออกมาได้กว่า 150W


ติดอย่างเดียวไม่ได้นะครับ มันต้องตั้งด้วย
คือ ตั้งค่าต่างๆ เขาถึงเรียกว่า "ติดตั้ง"
ไงจ๊ะ ตั้งเยอะแยะจนหิวข้าวเลยเชียว

ทีมโซล่าเซลล์ เร่งมืออย่างเร็ว ติดตั้งแผง
เซลล์แสงอาทิตย์ทั้งของเดิมและของใหม่
รวมทั้งอุปกรณ์ควบคุมการประจุไฟฟ้า
ให้กับแบตเตอรี่ตัวเขื่องที่นำไปเสริมทัพ
(ลูกสีดำ ขวามือสุดในภาพ)

เสร็จสรรพก็ต้องอธิบายกันหน่อย
ว่าเจ้าเครื่องไฮเทคที่คนติดตั้งจนหิว
นั้นทำงานอย่างไร

เอาไงเนี่ยพี่ ทางโซล่าเซลล์เขาแซงเราไปแล้ว
ทางนี้ยังงงๆ กับสายนำสัญญาณกันอยู่
(ไม่ได้หรอกครับ ต้องปราณีต บรรจง)

หลังจากปรับแต่ง ก็นำสายอากาศผูกติด
กับไม้ไผ่ท่อนเขื่อง ที่หนักกว่าสายอากาศ
เองอยู่หลายเท่า ชูขึ้นฟ้าแล้วทดลองวัดอีกที


เอ้า ช่วยกัน ทั้งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
และนักวิทยุ รวมทั้งใจทั้งแรง
เพราะท่อนไม้ไผ่นั้นหนักเอาเรื่องเชียว


ติดตั้งสายอากาศเสร็จก็มาถึงการปรับตั้ง
เครื่องวิทยุสื่อสารและทดสอบการใช้งาน

นอกจากสายอากาศแบบติดตั้งประจำที่แล้ว
เรายังมีสายอากาศแบบทิศทางขนาดเล็ก
Yagi-Uda 3-element ไว้ให้
เจ้าหน้าที่นำติดตัวเมื่อเดินสำรวจป่าด้วย
ก็ต้องทดสอบกันหน่อย....

ส่วนเจ้าสี่ขาพวกนี้ ไม่ได้มาช่วยงานอะไร
แต่คอยต้อนรับอย่างดี (กับขอไก่ทอดบ้าง
หมูปิ้งบ้าง แบ่งกันกินไปทั้งคนทั้งสุนัข)

งานทั้งหมดในภารกิจนี้ เสร็จสิ้นด้วยดี การทำงานของระบบต่างๆ เป็นที่น่าพอใจ ไม่มีอุบัติเหตุหรือเกิดการบาดเจ็บใดๆ ในระหว่างการทำงาน (ไม่นับ มดกัด หรือ ผึ้งตัวเล็กๆ ที่ตกใจมาแอบต่อยเอาบ้างนิดๆ หน่อยๆ) การเดินทางเป็นไปด้วยความปลอดภัย ต้องขอบคุณเพื่อนทุกท่าน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ประสานงานของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่ทำให้เราได้มีโอกาสทำกิจกรรมดีๆ เพื่อประเทศชาติและผืนป่าของเราในครั้งนี้ครับ
 
หนังสือตอบจาก อช. แม่วงก์
 
 หนังสือขอบคุณจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้
อช. แม่วงก์ จ.อุทัยธานี

 
ทั้งนี้ ทางฝ่ายบริหารของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้มีหนังสือตอบกลับการทำกิจกรรมของชมรมให้กับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติในครั้งนี้ ทางชมรมเองต้องขอขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและรักษาผืนป่า ซึ่งจะเป็นกำลังใจทำให้เราทำงานเพื่อสังคมและประเทศต่อไป ณ ที่นี้ด้วยครับ
 
หลักฐานการโอนเงินสมทบบริจาคให้กับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 
พร้อมกันนี้ มีเพื่อนผู้มีใจศรัทธารักผืนป่า ทั้งภายในและภายนอกชมรม The DXER ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเป็นเงินสดอีกด้วย ซึ่งในชั้นแรกเราตั้งใจ (และได้บอกกล่าวผู้บริจาคไว้แล้วล่วงหน้าแล้ว) ว่าอาจจะนำบางส่วนมาจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น และส่วนเหลือจะนำบริจาคให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แต่เนื่องจากมีสมาชิกและธุรกิจของสมาชิกได้สมทบทุนสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ จนครบถ้วนแล้ว จึงนำเงินส่วนที่ได้รับมาทั้งหมด บริจาคให้กับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เต็มจำนวน 5,000 (ห้าพันบาทถ้วน)
 
 
ใบเสร็จรับเงิน จากมูลนิธิ
สืบ นาคะเสถียร

 
เล่าเรื่องโดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)