วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ร่วมรับภาพ SSTV จาก ISS ในโอกาสครบรอบ 20 ปี


กิจการวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นกิจการสากล แทบทุกประเทศในโลกล้วนมีกิจการวิทยุสมัครเล่นแทบทั้งสิ้น (ในปัจจุบัน คงยกเว้นเฉพาะเกาหลีเหนือ และ เยเมน เท่านั้น) ที่ไม่มีกิจการนี้ อย่าว่าแต่ในโลกนี้เลย ออกไปนอกโลกก็เรียกว่ายังมีกิจการวิทยุสมัครเล่นกันอยู่ (ว่าไปนั่น แต่ก็จริงนี่ครับ) เพราะนักบินอวกาศที่ปฏิบัติงานอยู่บนยานอวกาศหลายท่านก็เป็นนักวิทยุสมัครเล่นและใช้งานวิ่ทยุในย่านความถี่สมัครเล่นคุย (หรือ QSO) กับนักวิทยุที่อยู่บนพื้นโลกด้วย

ที่กล่าวมาก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักวิทยุสมัครเล่นบนอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ที่เป็นห้องทดลองบนอวกาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นในเวลานี้ โดยความร่วมมือจากหลายชาติไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ จีน และอีกหลายประเทศมหาอำนาจที่ทั้งช่วยสร้าง ช่วยส่งนักบินอวกาศ ช่วยดูแล (ด้วยสถานีภาคพื้นที่อยู่ในหลายประเทศ) เพื่อให้การทดลองต่างๆ นับร้อยพันดำเนินไปได้อย่างสำเร็จลุล่วงและได้ผลที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

Kenwood TM D-710
วิทยุ Kenwood TM D710
อุปกรณ์สำคัญในการส่งคลื่นของ
สัญญาณภาพลงมาให้เราได้รับชมกัน

และในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการทำงานของสถานีอวกาศ สถานีอวกาศจะส่งสัญญาณภาพแบบ SSTV (Slow Scan TV) ลงมาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 21:25 UTC (+7 ชม. จะเป็นเวลาในประเทศไทย) โดยใช้อุปกรณ์ในส่วนของรัสเซีย ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เก็บภาพกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่นเอาไว้ และส่งลงมาด้วยเครื่องวิทยุ Kenwood TM D710 (ดูภาพที่ 1) โดยส่งลงมาที่ความถี่ 145.800 MHz ในโหมด FM และถอดรหัสได้ด้วยโหมด PD120 (หรือ PD180 เป็นโหมดสำรอง) ภาพที่ส่งลงมาจะเป็นภาพกิจกรรมต่างๆ ของกิจการวิทยุสมัครเล่นของสถานีอวกาศนานาชาติ (ARISS หรือ Amateur Radio International Space Station) ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และคาดว่าสถานีอวกาศจะโคจรไปครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลกในช่วงเวลาที่จะส่งภาพดังกล่าวลงมา ซึ่งเป็นภาพจำนวน 12 ภาพที่บันทึกความสำเร็จของ ARISS ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะส่งภาพต่อเนื่องเป็นเวลาสองวัน

โดยนักวิทยุทั่วโลกที่รับสัญญาณได้ บางคนก็โพสต์ภาพไว้ที่
https://ariss-sstv.blogspot.com/

หมายเหตุ
  1. การรับสัญญาณจากสถานีอวกาศ ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องรับที่ดีมาก (ขอให้ทำงานปกติ) และไม่จำเป็นต้องใช้สายอากาศที่ดีมากเช่นกัน เพราะสัญญาณถูกส่งลงมาตรงๆ จากสถานีอวกาศที่โคจรเหนือจากพื้นดินขึ้นไปราว 400 กม. แต่จะต้องอยู่ในที่โล่ง ไม่มีอะไรบดบังระหว่างตัวสถานีอวกาศกับสายอากาศที่ใช้รับสัญญาณ
  2. เราสามารถคำนวณว่าสถานีอวกาศ (รวมทั้งดาวเทียมต่างๆ) จะผ่านท้องฟ้าของเราเมื่อใดได้ด้วยหลายโปรแกรม หรืออาจจะอาศัยเว็บไซต์ที่มีโปรแกรมช่วยคำนวณเช่น http://www.amsat.org/track/ ก็ได้
  3. สำหรับโปรแกรมถอดรหัส SSTV เพื่อนๆ สามารถหาโหลดได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นสำหรับเครื่องโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ส่วนมากจะฟรีเนื่องจากเป็นส่วนเกี่ยวเนื่องกับกิจการวิทยุสมัครเล่นที่ก็มักจะมีนักวิทยุรุ่นพี่รุ่นน้องใจดี ทำเตรียมเอาไว้ให้เพื่อนๆ ทั่วโลกได้ใช้กันครับ
  4. เทคนิคหนึ่งในการรับ "ภาพ" ก็คือ การ "บันทึกเสียง" เอาไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยถอดรหัสภายหลัง เนื่องจากสภานอวกาศจะเคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าของเราในเวลาเพียง 8 นาที (โดยประมาณ) เท่านั้น เราจึงควรมีสมาธิกับการรับสัญญาณมากกว่าการถอดรหัสภาพในเวลา 8 นาทีนั้น

กิจกรรมของเพื่อนในชมรม The DXer

สำหรับนักวิทยุในชมรม The DXer ก็เช่นกันกับนักวิทยุอีกหลายชาติ เราได้ติดตาม รับสัญญาณและถอดรหัสภาพออกมา และนำมาบันทึกไว้ด้านล่างนี้ โดยบางท่านก็รับสัญญาณด้วยเครื่องรับวิทยุแบบมือถือพกพาติดสายอากาศยาง บางท่านใช้สายอากาศไดโพลขนาดเล็กๆ บางท่านใช้เครื่องวิทยุพกพาแต่ใช้สายอากาศทิศทางหันตามสถานีอวกาศที่โคจรผ่านท้องฟ้าไป บางท่านรับสัญญาณด้วยสถานีประจำที่ บางท่านตั้งเครื่องเอาไว้แล้วนอนหลับไป เมื่อถือเวลาก็ให้เครื่องรับสัญญาณ บันทึกเสียงเอาไว้ก่อน แล้วมาถอดรหัสเป็นภาพในภายหลัง เรียกได้ว่ามีหลายรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ล้วนให้ความตื่นเต้น สนุกสนาน และได้ความรู้ด้วยกันทั้งสิ้น

ภาพที่เพื่อนๆ ในชมรม The DXer รับได้

สายอากาศยางมันไม่เท่ E24MTA คุณสิปปภาส นิพนธ์กิจ
สร้างสายอากาสไดโพลเล็กๆ ไว้ใช้รับสัญญาณเลย

อันนี้เท่มาก เดี๋ยวจะไม่มีมือถ่ายภาพ
E24RBU คุณปัทมาสน์ พลอยสวัสดิ์
ทำสายอากาศทิศทาง 3-Element จาก
เทปวัดความยาว แล้วเอาเครื่องวิทยุเหน็บไว้เลย
 
ภาพแบบนี้แปลว่าไม่ชัด (บอกทำไมเนี่ย)
ที่เป็นแบบนี้ E24BRU บอกว่าเพราะ
สัญญาณมาก่อนดาวเทียมจะปรากฏให้เห็น
จึงได้ภาพแบบขาดๆ (ไม่เกิน)


เนืองจากความถี่ที่ส่งลงมาคือ 145.800MHz
บางครั้งถูกความถี่ข้างเคียงที่เพื่อนสมาชิกใช้งานอยู่
เบียดเอา จนทำให้สัญญาณเสียง (ที่จะแปลเป็นภาพ
ในภายหลัง) ขาดหายไป เห็นเป็นส่วนลายๆ ด้านล่าง

ชี้กันเห็นๆ ภาพนี้ถ้ามองให้ดีๆ จะเห้น
สถานีอากาศ ISS เป็นจุดสว่างเล็กๆ
ที่สายอากาศชี้หาแบบตรงๆ เลย

 
HS0DJU จิตรยุทธ จุณณะภาต รับได้แบบนี้
ช่วงแรกโดนสัญญาณรบกวนเล่นงานเช่นกัน
ภาพนี้ดีหน่อย ถูกรบกวนช่วงสั้นๆ
 

สัญญาณมาดี การรบกวนต่ำ
จึงถอดรหัสได้ภาพสวยงาม

 

 
 

รวบรวม รายงาน โดย HS0DJU / KG5BEJ (จิตรยุทธ จุณณะภาต)