วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การหาตำแหน่ง Grid Location ของตำแหน่งต่างๆ บนโลก

การหาตำแหน่ง Grid Location ของตำแหน่งต่างๆ บนโลก

ในการติดต่อสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ในหลายโอกาสคลื่นวิทยุเหล่านี้สามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกลมาก อาจจะข้ามจังหวัด ภาค ประเทศหรือแม้แต่ข้ามทวีปได้ นอกจากทราบสัญญาณเรียกขานและที่อยู่อย่างคร่าวๆ (เช่น ประเทศ) แล้ว นักวิทยุที่ติดต่อกันอาจจะต้องการตำแหน่งที่ละเอียดกว่านั้น (แต่ไม่ถึงกับบอกบ้านเลขที่กัน) จึงมีการคิดมาตรฐานการบอกตำแหน่งขึ้นมาเรียกว่า ระบบกริด (grid location) ที่ปกติแล้วเราอาจจะไม่ถามหากัน แต่เมื่อมีการแข่งขันวิทยุสมัครเล่นเมื่อใด คู่สถานีที่เข้าแข่งขันก็มักจะสอบถามตำแหน่งของเรา เราก็ต้องตอบไปด้วยระบบกริดนี้นั่นเอง

นักวิทยุหลายท่านอาจจะเคยหาตำแหน่งกริดของตัวเองแล้ว หรือมีผุ้รู้บอกเไว้ เราก็จำเอาไว้ แต่บางครั้งถ้าเราตั้งสถานีชั่วคราวนอกสถานที่ เราอาจจะเริ่มงุนงงว่าบริเวณนั้นเป็นกริดใดกันแน่ เราจึงรวบรวมวิธีการหาตำแหน่งกริดให้เพื่อนๆ ได้ทำตามกันเป็นขั้นตอนดังนี้ โดยแนะนำให้ทำบนคอมพิวเตอร์ (ไม่ใช่บนมือถือ) นะครับ

1. หาตำแหน่งของเราว่ามี เส้นรุ้ง (latitude) เส้นแวง (longtitude) ใด วิธีที่ง่ายคือใช้บนระบบ/ซอฟท์แวร์ที่ช่วยหาเช่น maps ของ Google โดย

1.1 เข้า www.google.com/maps/ << คลิก

1.2 หาตำแหน่งของเรา ในแผนที่ ถ้าหาไม่ได้ ให้พิมพ์ลงไป เช่น
มหาวิทยาลัยราชภัฎ พระนคร บางเขน กรุงเทพ ประเทศไทย (หรือถ้าอยากทราบตำแหน่งในประเทศอื่นก็พิมพ์ภาษาอังกฤษหรือภาษานั้นๆ ลงไปก็ได้)
ดูรูปที่ 1 (ลูกศรสีแดง)

รูปที่ 1 พิมพ์ที่อยู่คร่าวๆ ลงไปในเว็บไซต์ที่สามารถบอก เส้นรุ้ง เส้นแวง ได้


1.3 จากนั้นอาจจะหาบ้าน หรือบริเวณที่เราจะออกอากาศให้พบ ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้สายตาสักหน่อย บางคนอาจจะหาเพียงคร่าวๆ บางท่านอาจจะหาให้เห็นหลังคาบ้านตัวเองเลยก็ไม่ว่ากัน
ดูรูปที่ 2


รูปที่ 2 อาจจะหาตำแหน่งที่ละเอียดขึ้นบนแผนที่ได้

1.4 เลื่อนเม้าส์ไปที่ตำแหน่งที่ต้องการทราบ เส้นรุ้ง (latitude) และเส้นแวง (longtitude) นั้น (ให้แม่นๆ นะครับ) แล้วคลิกขวา จะมี dropdown menu ขึ้นมา ดูรูปที่ 3

รูปที่ 3 ใช้เม้าส์ชี้ไปที่ตำแหน่งที่ต้องการ แล้วคลิกขวา จะมีเมนูขึ้นมาตามภาพ

1.5 คลิกซ้ายที่ what's here? 
จะมี pop up menu ขึ้นมา ด้านล่างจะมีตัวเลข เส้นรุ้ง (latitude), เส้นแวง (longtitude) ในตัวอย่างจะเป็น
13.878659, 100.590662
เราก็จดหรือ copy ตัวเลข latitude และ longtitude นี้ไว้
ดูรูปที่ 4 (ลูกศรสีแดง)

หมายเหตุ
ตัวเลขหน้า (13.878659 ในตัวอย่าง) จะเป็นเส้นรุ้งหรือ latitude เป็น + (ไม่ติดลบ) เพราะอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ถ้าตำแหน่งที่สนใจอยู่ไต้เส้นศูนย์สูตร (เช่น ประเทศออสเตรเลีย) ตัวเลขนี้จะเป็นลบ
ตัวเลขหลัง (100.590662 ในตัวอย่าง) จะเป็นเส้นแวงหรือ longtitude เป็น + (ไม่ติดลบ) เพราะอยู่ทางตะวันออกของเส้นแบ่งเวลาสากล (Greenwich Meridian Line ในเมือง Greenwich กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) ถ้าตำแหน่งที่สนใจอยู่ไปทางตะวันตกของเส้นแบ่งเวลา เช่นที่กรุงดับบลิน ประเทศไอร์แลนด์ ตัวเลข longtitude นี้จะเป็นลบ


รูปที่ 4 ระบบจะบอกพิกัดเป็นเส้นรุ้ง (latitude) และเส้นแวง (longtitude) ให้เรา



2. จากตัวเลข เส้นรุ้ง เส้นแวง ที่ได้ เรานำมาหาตำแหน่งกริด โดย
2.1 เข้าเว็บ gridmapper ของ qrz.com << คลิก
2.2 ในช่อง lat(itude) กรอกตัวเลข 13.878659
2.3 ในช่อง lon(gtitude) กรอกตัวเลข 100.590662
ลงไป (ลูกศรสีเขียว)
2.4 โดยที่ช่อง Grid ปล่อยให้ว่างไว้ (ลูกศรสีส้ม)
2.5 คลิกปุ่ม set (ลูกศรสีแดง)
ดูรุปที่ 5



รูปที่ 5 กรอกพิกัดเส้นรุ้ง (latitude) และเส้นแวง (longtitude) ลงไปแล้วคลิก Set


2.6 จะมีตัวหนังสือ OK03hv ขึ้นในช่อง Grid  ซึ่งก็คือตำแหน่งกริดของ มหาวิทยาลัยราชภัฎ พระนคร บางเขน กรุงเทพ ประเทศไทย นั่นเอง (ดูรูปที่ 6)



รูปที่ 6 ระบบจะบอกพิกัด Grid Location ให้เราในช่อง Grid
เพื่อนๆ ลองไปทำดูนะครับ แล้วจดบันทึกตำแหน่งของเราไว้ เมื่อเราถูกถามก็สามารถบอกให้เพื่อนๆ ทราบได้ทันทีครับ

QRU 73
de HS0DJU / KG5BEJ (จิตรยุทธ จุณณะภาต)