วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

แพทเทิร์นของสายอากาศโพลาไรเซชั่นแนวนอนที่ความสูงต่างๆ

แพทเทิร์นของสายอากาศโพลาไรเซชั่นแนวนอนที่ความสูงต่างๆ

เราทราบกันดีว่าในคลื่นความถี่ย่าน HF นั้น เรามักใช้สายอากาศและติดตั้งโดยให้มีโพลาไรเซชั่นในแนวนอน (Polarization โพลาไรเซชั่น คือทิศทางของสนามไฟฟ้าที่สายอากาศสร้างขึ้นและแพร่กระจายคลื่นออกไป) เหตุผลสองประการหลักก็คือเราได้ประโยชน์จากการสะท้อนของพื้นดิน (บางครั้งอาจจะดินที่ชื้น พื้นน้ำ หรือแม้แต่พื้นน้ำทะเลที่นำไฟฟ้าได้ดีขึ้นตามลำดับ) ทำให้สายอากาศดูเหมือนมีอัตราขยายสูงขึ้นในบางทิศทาง ในขณะที่หากเราต้องการติดตั้งสายอากาศย่าน HF ทั้งหลายให้อยู่ในแนวตั้ง มันก็คงจะสูงเสียดฟ้าเลยทีเดียว (ยกเว้นแต่โหลดด้วยขดลวดเพื่อลดความยาวของสายอากาศลง)

เมื่อเราติดตั้งสายอากาศในแนวนอน (horizontal poralization) สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคลื่นบางส่วนแพร่กระจายออกไปจากสายอากาศโดยตรง ในขณะที่คลื่นบางส่วนก็แพร่ลงพื้นดินใกล้ๆ สายอากาศนั้นและสะท้อนไปรวมกับคลื่นที่ออกจากสายอากาศและแพร่ไปในอากาศโดยตรง (ต้องรวมทั้งทางมุมเฟสและขนาด) ดังนั้นรูปแบบการแพร่กระจายคลื่นของสายอากาศ (เช่น สายอากาศแบบไดโพล) โดยรวมจะไม่เป็นรูปโดนัทตะแคงหรือมีพลังงานออกไปในทุกมุมยก (elevation) เท่ากันอีกต่อไป แต่จะมี "มุมยิง" เกิดขึ้นและมุมยิงนี้จะขึ้นกับการติดตั้งสายอากาศว่าอยู่สูงจากพื้นดินเท่าใดด้วย

มุมกระจายคลื่นของสายอากาศโพลาไรเซชั่นแนวนอนที่ความสูงต่างๆ

รูปด้านบนแสดงรูปแบบการแพร่กระจายคลื่นในแนวระนาบ (elevation pattern) จะเห็นได้ว่าเมื่อวางสายอากาศใกล้พื้นดินมาก เช่น 0.10 λ พลังงานของคลื่นจะถูกยิงขึ้นตรงๆ บนฟ้าเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อสายอากาศสูงจากพื้นประมาณ 0.5 λ พลังงานส่วนใหญ่จะถูกยิงขึ้นไปเป็นมุมประมาณ 30 องศา และหากสายอากาศอยู่สูงจากพื้นดินเป็นระยะ 1 λ จะเริ่มมีแฉก (lobe โลบ) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเราสามารถเลือกความสูงของสายอากาศแบบโพลาไรเซชั่นแนวนอนให้ได้รูปแบบกระแพร่กระจายคลื่นตามที่เราต้องการว่าเราจะให้มีมุมยิงสูงเท่าไร มีแฉกหรือ lobe อยู่ที่มุมเท่าใดเราก็สามารถเลือกความสูงของสายอากาศให้ถูกต้องได้ หรืออย่างน้อยหลังจากอ่านเรื่องนี้เราก็พอทราบแล้วว่าถ้ารับสัญญาณไม่ดีเราอาจจะต้องลองปรับความสูงของสายอากาศดู และสายอากาศที่สูงเกินไปก็อาจจะได้ผลสู้สายอากาศที่อยู่ต่ำกว่าในบางสถานการณ์ก็ได้นะครับ

QRU 73 de HS0DJU / KG5BEJ