วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติของสายนำสัญญาณแบบแกนร่วม (Coaxial Cable)



ในทางเทคนิค ท่อนำคลื่นแบบกลวง ไม่ว่าจะเป็นหน้าตัดสี่เหลี่ยมหรือวงกลม (จะวงรีก็ไม่ว่ากัน) สามารถนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในโหมด TE (Transverse Electric) และ TM (Transverse Magnetic) ต่างๆ ได้ แต่ไม่สามารถนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในโหมด TEM (Transverse Electro-Magnetic) ได้เนื่องจากมีตัวนำไฟฟ้าเพียงตัวเดียว (คือที่ผิวของกล่องกลวงนั้น) การจะนำคลื่นในโหมด TEM ได้จะต้องมีตัวนำไฟฟ้าอย่างน้อยอีก 1 ตัว สายนำสัญญาณแบบแบนที่มีตัวนำไฟฟ้าสองตัวที่เรียกว่า Twin-lead สามารถนำคลื่นในโหมด TEM ได้ แต่มีปัญหาเรื่องการเดินสายที่ไม่สามารถอยู่ไกล้กับวัตถุโครงสร้างที่เป็นโลหะได้ จนมีการดัดแปลงโครงสร้างเป็นแบบ Coaxial (แกนร่วม) ทำให้เกิดตัวนำไฟฟ้า 2 ตัวคือแกนกลางและผิว/เปลือกของสาย Coaxial มาใช้งาน ข้อดีของสายแบบแกนร่วมคือถูกรบกวนได้ยากกว่า ติดตั้งง่ายกว่า จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมาจนปัจจุบัน (ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก qrz.com)