วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ควอเตอร์เวฟสตับแมทช์สายอากาศสลิมจิมได้อย่างไร



โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) 

เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นหลายคนคงเคยได้ยินหรือแม้แต่เคยใช้สายอากาศแบบสลิมจิมหรือบางทีก็ถูกดัดแปลงไปบ้างเป็นลักษณะคล้ายตัวJ ที่มักเรียกว่า J-pole ก็ได้  และคงเห็นว่าส่วนล่างของสายอากาศเป็นรูปตัวยูความยาวประมาณ ¼λ (เรียกว่า shorted quarter wave stub) ซึ่งทำหน้าที่แปลง/แมทช์อิมพิแดนซ์ของสายอากาศ ดูภาพที่ 1 

ภาพที่ 1 สายอากาศสลิมจิม (a) หรือ
เจโพล (b) เป็นสองแบบทที่เราเห็นบ่อย
ทั้งสองแบบมีหลักการแมทช์เหมือนกัน

ในบทความนี้ผมจะเล่าหลักการทำงานของมันในส่วนการแมทช์อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนให้มีค่าเป็น 50Ω เพื่อให้ต่อเข้ากับสายนำสัญญาณแบบโคแอกเชียลที่นักวิทยุสมัครเล่นใช้กันโดยไม่มีการสะท้อนของคลื่นอันเป็นเหตุให้ VSWR ในสายนำสัญญาณสูงกว่า 1.0:1 ไปมาก  นอกจากนั้นเราจะได้มีความรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นอกเหนือไปจากการ "ทำตามแบบ" เพียงเท่านั้น


เราอาจจะเคยได้ยินว่าส่วนของรูปตัวยูความยาวประมาณ ¼λ นั้นด้านหนึ่งเปิดวงจร (∞Ω) ส่วนอีกด้านหนึ่งลัดวงจร (0Ω) แล้วถ้าเราค่อยๆขยับจุดต่อสัญญาณไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวก็จะมีจุดหนึ่งที่เป็น 50Ω เอง....  แต่ความจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะอย่างที่เรารู้ว่า บางทีเราต้องไปปรับความยาวของ whip ด้วย  นั่นหมายความว่าส่วนของ quarter wave stub นั้นไม่ใช่อุปกรณ์มหัศจรรย์ที่สามารถแมทช์อิมพิแดนซ์อะไรก็ได้ให้เป็น 50Ω หรอก 

ภาพที่ 2 ด้านล่างของสายอากาศ Slimjim เป็น quarter
wave stub ความยาว ¼λ ที่เราต่อสายนำสัญญาณ
เข้าไป การเลื่อนตำแหน่งแท็บสายนำสัญญาณ
ทำให้เปลี่ยนอิมพิแดนซ์ให้ใกล้เคียง 
50Ω ได้

การทำงานของ matching แบบนี้คือการใช้ stub ซึ่งที่จริงแล้วโครงสร้างของมันคือสายนำสัญญาณแบบ parallel wires (มีความต้านทานจำเพาะ Z0 ซึ่งอาจจะไม่ใช่ 50Ω ก็ได้ แต่เพื่อความง่ายในการเข้าใจ ในบทความนี้เราสมมติว่าสตับเองมี Z0 = 50  ) จึงมีความสามารถในการแปลงอิมพิแดนซ์ (impedance: Z = R + jX มีหน่วยเป็น Ω) ไปด้วยตามความยาวของมัน   เมื่อต่อ whip เข้ากับด้านเปิดวงจรและส่วนของสตับยาวน้อยกว่า ¼λ นิดหน่อย จะเปลี่ยนอิมพิแดนซ์ Z1 ที่โคน whip (ค่าสูง) ไปเป็น Z2 ที่สามารถแปลงเป็นแอดมิตแตนซ์ * (admittance: 1/Z = Y = G + jB มีหน่วยเป็น ℧) ค่า Y2 = 1/Z2 = 1/50 + jB2 (℧) แล้วเอามาขนานกับอิมพิแดนซ์ที่เกิดจากการแปลงส่วนลัดวงจรที่ปลายสตับอีกด้านหนึ่งที่เป็น Z4 ที่เป็น inductive แต่เป็น admittance 1/Z4 จะเป็น Y4 = -jB4  สิ่งที่เราต้องทำคือ 
  • หาความยาว whip ที่พอดีที่ทำให้ได้  Y2  ที่ถูกต้อง คือมีส่วนของ conductance เป็น 1/50 ℧
  • ขยับจุดแท็ปต่อเชื่อมให้ได้ + jB2  และ -jB4  หักล้างกันพอดี
* ที่เราเอา แอดมิตแตนซ์ซึ่งคือส่วนกลับของอิมพิแดนซ์มาช่วยคำนวณเพราะความง่ายในการขนานกัน เมื่อเราขนานแอดมิตแตนซ์ เราจะสามารถบวกมันเข้าด้วยกันได้เลยตรงๆ (แต่ถ้าเป็นการอนุกรม เราจึงจะบวกอิมพิแดนซ์เข้าด้วยกันได้ตรงๆ) 
ดูภาพที่ 3 

ภาพที่ 3 อิมพิแดนซ์ (Z) และ แอดมิตแตนซ์ (Y)
ที่จุดต่างๆ ของสายอากาศแบบ Slimjim สิ่งที่เรา
ต้องการคือทำให้ Z2 (ซึ่งก็คือ Y2) ขนานกับ Z4 (ซึ่งก็คือ Y4)
แล้วได้ Zin (ก็คือ Yin) เป็น 50Ω นั่นเอง

เมื่อเอา Y2 และ  Y4  มาขนานกัน เราจะเอา admittance บวกกันได้ตรงๆได้ admittance เป็น 
 Yin  Y2  +  Y4  
 Yin = 1/50 + jB2 + (- jB4
 Yin = 1/50  ℧
ซึ่งคือ
Zin = 50  Ω 
ที่เราต้องการนั่นเอง


ภาพที่ 4 แสดงการแปลงและขนานอิมพิแดนซ์ที่เกิดขึ้น
จากโคน whip ที่จุด (a) ถูกแปลงด้วยส่วนที่ยาวกว่าของ
สตับไปเป็นอิมพิแดนซ์ที่จุด (b) ตามเส้นสีม่วง และไป
ขนานกับอิมพิแดนซ์ที่ถูกแปลงจากส่วนที่ลัดวงจรมาตาม
สตับส่วนที่สั้นกว่าตามเส้นสีน้ำตาลไปเป็น (c) จากนั้น
อิมพิแดนซ์ทั้งสองถูกขนานกันกลายเป็นจุด (d)

ภาพที่ 4 แสดงการแมทช์ที่เกิดขึ้นด้วยสมิทชาร์ท อิมพิแดนซ์ที่โคน whip (a) จะถูกสตับส่วนยาวแปลงอิมพิแดนซ์มาเป็นที่ (b) Y2  = 1/50 + jB2  ℧ ในขณะที่อิมพิแดนซ์ 0Ω ที่ด้านลัดวงจรของสตับถูกแปลงอิมพิแดนซ์ด้วยส่วนสั้นๆ ของสตับกลายเป็นค่า (c) Y4  = - jB4 ℧ และเมื่อทั้งคู่ต่อขนานกันจะกลายเป็นจุด (c) ที่มี Yin  = 1/50 ℧ หรือ  Zin  = 50 Ω นั่นเอง

หมายเหตุ 
สมิทชาร์ทในภาพที่ 4 เป็นเพียงแนวทางที่เกิดขึ้นเท่านั้น อาจจะไม่ตรงเป๊ะตามนั้นได้บ้าง ขึ้นกับความยาวของส่วนกระจายคลื่น ขนาดของ Z0 ของสตับ และความยาวจริงของสตับที่อาจจะไม่เท่ากับ  ¼λ  เป๊ะก็ได้

สรุป
  1. สายอากาศสลิมจิม หรือ เจโพล มีส่วนกระจายคลื่นยาว ½-λ ดังนั้นจะมีอัตราขยายพอๆ กับไดโพล หรือ โฟลเด็ดไดโพล (ที่ลอยในอากาศ) และเป็นรอบตัว
  2. สตับความยาว ¼λ  ด้านล่างมีหน้าที่แมทช์อิมพิแดนซ์ค่าสูงมากที่โคนของ whip ลงมาเป็น 50 Ω 
  3. สตับความยาว ¼λ  ด้านล่างนั้นที่จริงเป็นสายนำสัญญาณแบบโลหะขนาน (twin lead) และการแมทช์เกิดจากการแปลงอิมพิแดนซ์ของ whip กับส่วนที่ลัดวงจร (ปลายสุดของสตับ) มาขนานกัน
  4. จุด a ในภาพที่ 4 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้การแมทช์ประสบความสำเร็จ  จุด a จะไปตั้งต้นอยู่ตรงไหนในสมิทชาร์ทขึ้นกับความยาวของ whip ด้วย นั่นคือไม่ใช่ว่าควอเตอร์เวฟสตับจะแมทช์อิมพิแดนซ์อะไรก็ได้ (เช่น เปิดวงจร หรือ ลัดวงจร ที่ด้านบนของมัน) ลงมาเป็น 50 Ω ได้ไปเสียทั้งหมด มันมีเงื่อนไขอยู่เหมือนกัน
  5. ขนาดโลหะ/ระยะห่างของสตับ (มีผลกับ Z0 ของสตับเองด้วย) ต้องเหมาะสม เพื่อให้ได้อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนเป็น 50 Ω ตามต้องการ อาจจะต้องมีการปรับแต่งกันบ้างระหว่างการทดลองสร้าง
หลังจากอ่านเรื่องนี้ หลายๆ คนอาจจะอยากกลับไปทำสายอากาศง่ายๆ แต่ใช้งานได้ดีกันอีกสักทีก็ได้นะครับ  แล้วพบกันใหม่ในเรื่องราวดีๆ ในครั้งหน้านะครับ 

73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จ.)