โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นมักจะคุ้นเคยกับย่านความถี่เดียวคือที่เรียกว่าย่าน 2 เมตร (144-147MHz) บางท่านอาจจะเคยได้ยินว่ายังมีย่านความถี่อื่นที่นักวิทยุสมัครเล่นในประเทศอื่นในโลกนี้สามารถใช้ได้ แต่ในประเทศไทยใช้ไม่ได้ และดูว่าย่านความถี่เรานั้นค่อนข้างไกลตัว แต่ความเป็นจริงแล้วความถี่เหล่านั้นไม่ได้ไกลตัวพวกเราเลย ไม่ว่าท่านเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นไหนก็ตาม ท่านสามารถใช้ความถี่เหล่านั้นได้ที่คลับสเตชั่นขั้นกลางขึ้นไป ภายใต้การควบคุมของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางขึ้นไป (ชมรม The DXER ก็เป็นคลับสเตชั่นขั้นกลางด้วย)
ย้อนกลับมาที่ย่านความถี่ต่างๆ นอกเหนือไปจาก 2 เมตร เมื่อท่านเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางขึ้นไปหรือใช้งานที่คลับสเตชั่นขั้นกลางขึ้นไป จะสามารถใช้งานได้อีกมากโดยเฉพาะในย่านความถี่ HF คือความถี่ 1.8, 3.6, 7, 10, 14, 21, 24, 28 MHz หรือถ้าพูดเป็นความยาวคลื่นก็คือ 160, 80, 40, 30, 20, 15, 12, 17, 10 เมตร ตามลำดับ เห็นไหมครับว่ามีความถี่อีกเยอะมากให้เราได้เล่น
ทีนี้กิจกรรมของนักวิทยุสมัครเล่นหนึ่งก็คือการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันวิทยุสมัครเล่นในย่านความถี่ HF นักวิทยุก็จะใช้ความถี่ทั้งหมด (ถ้าไม่กำหนดเป็นอย่างอื่น) ในโหมดที่กติกากำหนดไว้ ในการแข่งขัน ความถี่ก็จะคึกคัดโกลาหลขึ้นมาในบัดดล
คราวนี้คนที่ไม่ได้แข่งกับเขาด้วยล่ะ ทำอย่างไร
บางครั้งเพื่อนๆ ที่อยากติดต่อธรรมดา ไม่ได้แข่งขันก็อยากมีช่วงความถี่ในการใช้งานบ้าง ประกอบกับบางช่วงความถี่เช่น 10, 18, 24 MHz หรือความยาวคลื่น 30, 17, 12 เมตรมีช่วงความถี่ที่แคบมาก คือราว 100KHz จึงเป็นที่ตกลงกันเป็นสัญญาสุภาพชน ว่าจะไม่ใช้ช่วงความถี่เหล่านี้ในการแข่งขัน และเราเรียกมันว่า WARC (World Administrative Radio Conference) band ดังนั้นทุกคราวที่มีการแข่งขัน แล้วมีนักวิทยุที่ไม่ได้ร่วมแข่งขันแต่อยากใช้งานความถี่ ก็อาจจะพากันอพยพไปที่ย่านความถี่ WARC bands เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ
ส่วนที่จะมี "เจ้าถิ่น" "เจ้าบ้าน" เจ้าของความถี่อยู่ตรงนั้นตรงนี้ ในสากลแล้วเขาไม่มี ไม่ทำกันครับ ทุกคนมีสิทธิใช้ความถี่ตามสิทธิของตัว ยกเว้นการประกาศ "ขอร้อง" เป็นคราวๆ ไปว่า ภัยพิบัตินี้ขอใช้ความถี่ตรงนี้นะ หรือความถี่นี้เป็น Beacon นะ เป็นต้น
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ สำหรับวันนี้
QRU และ 73 ครับ