วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

ประวัติการสอบรหัสมอร์สในสหรัฐอเมริกา


โดย สุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ (E25JRP)
จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU) บรรณาธิการ

ทุกครั้งที่มีข่าวการจัดสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางของประเทศไทยเรา ก็จะมีกระแสพูดถึงการสอบฟังรหัสมอร์สอยู่เสมอ ส่วนมากถ้าหากไม่ใช่การแสดงความกังวลว่ากลัวจะสอบไม่ผ่าน ก็จะเป็นเรื่องของการเรียกร้องให้ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สเสียที เนื่องจากหลายๆ คนเห็นว่ารหัสมอร์สเป็นอุปสรรคสำคัญในการขึ้นสู่การเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง ซึ่งก็มีส่วนที่จริงอยู่พอสมควรนะครับ เพราะจากสถิติที่ผ่านมา จากจำนวนผู้สมัครสอบ 126 คน มีผู้สอบผ่านการฟังรหัสมอร์สเพียง 44 คน เรียกว่าประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น (ส่วนที่ว่าผู้เข้าสอบ 126 คนจะมีความสามารถสอบผ่านภาคทฤษฎีกี่คนนั้นยังไม่มีข้อมูลส่วนนี้)

หนึ่งในเหตุผลหลักที่มีการยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอในการเสนอให้ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สก็คือ ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศ ได้ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สกันไปแล้ว (สหรัฐอเมริกายกเลิกการสอบรหัสมอร์สตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ 2550) ซึ่งนั่นก็คงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะนำไปพิจารณากันต่อไปครับ (และเท่าที่ทราบ การยกเลิกการสอบมอร์สในอเมริกาก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา)

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในบ้านเรา

อันที่จริงการสอบรหัสมอร์สในบ้านเราก็มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสอบขั้นกลาง 2 ระดับ หรือกระทั่งล่าสุดที่ยกเลิกการสอบส่ง เหลือแต่สอบการรับอย่างเดียวก็ตาม ก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรกันอีกบ้าง ส่วนในวันนี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงกระบวนการในการสอบรหัสมอร์สของนักวิทยุสมัครเล่นอเมริกาในอดีตกันว่าก่อนที่เขาจะยกเลิกการสอบไปนั้น การสอบรหัสมอร์สของเขามีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร ถือเสียว่าเป็นการรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามก็แล้วกันนะครับ

ก่อนหน้ายุค ค.ศ. 1990 นักวิทยุสมัครเล่นในสหรัฐอเมริกาทุกระดับขั้น จะต้องสอบรหัสมอร์สทั้งหมด โดยขั้นต้นสอบที่ความเร็ว 5 คำต่อนาที ส่วนสำหรับขั้นกลางและขั้นสูงสอบที่ความเร็ว 13 และ 20 คำต่อนาทีตามลำดับ

เมื่อก่อนอเมริกาเขาก็มีการ
เตรียมตัวสอบมอร์สกันด้วย


ในอเมริกาสอบกันอย่างไร

สำหรับกระบวนการที่ใช้ในการสอบนั้น จะเริ่มจากการที่กรรมการคุมสอบเปิดเทปแบบฝึกง่ายๆ ให้ผู้เข้าสอบฟังเพื่อเป็นการทบทวนก่อน (เหมือนกับบ้านเราที่จะเปิดเสียงต่างๆ ให้ฟังก่อน ทั้งเป็นการอุ่นหูคนเข้าสอบ และทดสอบเครื่องเสียงไปด้วย) จากนั้นจึงเปิดเทปข้อสอบในฟัง โดยเทปที่เปิดจะมีความยาวประมาณ 5 นาที ซึ่งสำหรับขั้นต้นความเร็วของตัวอักษรจะอยู่ที่ 15-18 คำต่อนาที ขั้นกลาง 18-20 คำต่อนาที และขั้นสูง 22-23 คำต่อนาที แต่จะมีการทิ้งช่องว่างระหว่างตัวอักษรและระหว่างคำให้นานขึ้นเพื่อให้ผู้สอบมีเวลาเขียนลงกระดาษคำตอบ ทำให้ความเร็วรวมของข้อความทั้งหมดเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน (การส่งตัวอักษรด้วยความเร็วสูง แต่เว้นช่องว่างระหว่างอักษรและคำให้นานกว่าปกตินี้ เรียกกันว่าการส่งแบบ Farnswoth ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการฝึกรหัสมอร์สในปัจจุบัน โดยใช้ควบคู่กับการฝึกแบบ Koch Method) และจะเปิดให้ฟังเพียงรอบเดียวเท่านั้น

สำหรับข้อความที่ใช้ในการสอบ จะเป็นการจำลองการติดต่อกัน (QSO) ในโหมด CW (หรือรหัสมอร์สนั่นล่ะ) นั่นคือเป็นคำที่มีความหมาย (ในไทย จะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แปลไม่ได้) ซึ่งเมื่อฟังจนจบแล้วผู้เข้าสอบจะมีเวลา 1-2 นาทีในการตรวจทานหรือแก้ไขข้อความได้ด้วย เช่น ผู้สอบรับข้อความได้แค่ W-AT IS U- NAME? ก็สามารถแก้ไขให้เป็น WHAT IS UR NAME? เป็นต้น และสำหรับการสอบของขั้นต้น กรรมการอาจจะมีการกำหนดว่าให้ผู้สอบเขียนขีดและจุดแทนตัวอักษรเพื่อมาแปลรหัสภายหลังได้ไม่เกินกี่ตัวอักษรอีกด้วย (งานนี้กรรมการของเขาก็เหนื่อยหน่อย แถมต้องมีจรรยาบรรณเอามากๆ เลยด้วยนะ)

หลังจากจบกระบวนการตรวจทานแล้วก็จะเริ่มเข้าสู่การทดสอบจริงครับ นั่นคือกรรมการจะแจกข้อสอบให้ผู้เข้าสอบ โดยคำถามนั้นจะเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เข้าสอบฟังไปก่อนหน้านี้จำนวน 10 ข้อ เกณฑ์ผ่านคือจะต้องตอบถูกอย่างน้อย 7 ข้อ ซึ่งข้อสอบสามารถเป็นได้ทั้งปรนัยและอัตนัยและหากผู้เข้าสอบทำข้อสอบได้ไม่ถึงเกณฑ์ เรื่องก็ยังไม่จบนะครับ เพราะในกรณีเช่นนี้ กรรมการจะเรียกกระดาษที่ผู้เข้าสอบจดในการถอดรหัสไปดู หากเห็นว่าผู้เข้าสอบสามารถรับข้อความได้ถูกต้องครบถ้วนต่อเนื่องกันเกิน 1 นาที (คือ 25 ตัวอักษรสำหรับขั้นต้น หรือ 65 ตัวอักษรสำหรับขั้นกลาง หรือ 100 ตัวอักษรสำหรับขั้นสูง) ก็ให้ถือว่าผ่านการทดสอบด้วยเช่นกัน เป็นไงครับ ซับซ้อนหลายขั้นตอนดีไหมเอ่ย

ในการสอบ จะเริ่มสอบจากความเร็ว 20 คำต่อนาทีก่อน และจึงลดความเร็วลงมาตามลำดับ โดยหากใครสอบผ่านในความเร็วไหน ก็ให้ถือว่าสอบผ่านความเร็วระดับที่ต่ำลงมาด้วยเลยโดยอัตโนมัติ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาสอบหลายครั้งนั่นเอง

การฝึกและสอบฟัง ให้ถนัดๆ
ก็ใช้หูฟังกันเลยทีเดียว


การเปลี่ยนแปลงการสอบในอเมริกา

การสอบรหัสมอร์สในอเมริกาเริ่มถูกลดบทบาทลงตั้งแต่ปลายปี 1990 โดย Federal Communications Commission  หรือ FCC ซึ่งมีบทบาทเช่นเดียวกับ กสทช. ของบ้านเรา ได้ประกาศว่าจะยกเลิกการสอบรหัสมอร์สสำหรับการรับใบประกาศนีบัตรนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1991 (พ.ศ. 2534) เป็นต้นไป โดยผู้สอบผ่านจะสามารถใช้ความถี่ได้เฉพาะย่านที่สูงกว่า 30 MHz เท่านั้น เนื่องจากระเบียบของ International Telecommunication Union (ITU) ยังคงระบุให้ผู้ที่จะใช้ความถี่ต่ำกว่า 30 MHz จะต้องมีความสามารถในการใช้รหัสมอร์สด้วย ซึ่งนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นของสหรัฐอเมริกาคนไหนที่ต้องการใช้ความถี่ดังกล่าว จะต้องสอบรหัสมอร์สแยกต่างหาก ซึ่งหากผ่านจะได้รับสิทธิ์ในการใช้ความถี่ โดยจะถูกเรียกเป็น Technician Plus (แน่ะมี "บวก" ด้วย)

ต่อมา ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) ความเร็วที่ใช้ในการสอบสำหรับขั้นกลางและขั้นสูงก็ถูกปรับลดลง จาก 13 และ 20 คำต่อนาที เหลือเพียง 5 คำต่อนาทีทั้งหมด โดยส่งที่ความเร็วตัวอักษร 15 คำต่อนาที แต่เว้นระยะระหว่างตัวอักษรและคำมากกว่าปกติเพื่อให้ความเร็วรวมเหลือ 5 คำต่อนาทีเช่นเดิม
จนกระทั่งปี 2003 (พ.ศ. 2546) ITU ก็ได้ออกประกาศให้แต่ละประเทศเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะให้คงการสอบรหัสมอร์สไว้หรือไม่ ส่งผลให้หลายๆ ประเทศยกเลิกการสอบรหัสมอร์สไปในที่สุด โดยในสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการสอบไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2007 (พ.ศ. 2550) เป็นต้นมา ซึ่งหลังจากมีประกาศนี้ออกมา American Radio Relay League (ARRL) ก็ได้รายงานว่าจำนวนผู้สมัครสอบเพื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

รหัสมอร์สในอเมริกาในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบอยู่หลายครั้งด้วยกันและเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ว่า แม้การสอบรหัสมอร์สจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาก็ยังคงมีผู้ที่สนใจในการใช้รหัสมอร์สอยู่เป็นจำนวนมาก มีการเปิดสอนและอบรมอย่างแพร่หลาย โดยตัวผู้เขียนเองก็ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ Long Island CW Club ซึ่งมีคลาสสอนรหัสมอร์สผ่านระบบ Video Conference มากกว่า 20 ชั้นเรียนต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น (Beginner) ไปจนถึงความเร็ว 20 คำต่อนาที ทั้งรับ ทั้งส่ง เรียกว่าที่เดียวครบ จบได้เลยครับ

รหัสมอร์สกับการสอบขั้นกลางในประเทศไทย

ส่วนของบ้านเราซึ่งยังคงการสอบรหัสมอร์สไว้อยู่นั้น ผมเชื่อว่าหากเพื่อนสมาชิกมีการเรียนรู้อย่างถูกวิธี บวกกับวินัยและความสม่ำเสมอ ความเร็ว 8 คำต่อนาทีไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถแน่นอน จึงขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่สนใจศึกษารหัสมอร์สครับ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อผ่านทางแฟนเพจของชมรม The Dxer ที่ https://www.facebook.com/e20ae/ ได้ตลอดเวลาครับ
QRU 73 DE E25JRP

ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Amateur_radio_licensing_in_the_United_States
http://www.mtechnologies.com/wordpress/?p=27