วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เขาทำอะไรกันในการ(เช็ค)เน็ท


โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)

สำหรับประเทศไทย นักวิทยุสมัครเล่นคงรู้จักคำว่า "เช็คเน็ท" กันแทบทุกคน ซึ่งหมายการติดต่อเข้าไปยังสถานีหลัก แล้วรายงานสัญญาณที่รับและส่งกันได้ สถานีหลักที่ว่าอาจจะเป็นสถานีของศูนย์ควบคุมข่ายในจังหวัดต่างๆ หรือสถานีของเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นใดก็ได้ เมื่อรายงานสัญญาณกันเสร็จก็มักจะจบการติดต่อกันเพียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วยังมีเรื่องในระดับสากลที่เราน่าจะประดับความรู้ไว้นะครับ

คำเรียกที่ถูกต้อง

โดยสากลแล้ว คำที่ใช้เรียกการติดต่อบนอากาศที่รวมนักวิทยุไว้ด้วยกันคือคำว่า amateur radio net (แอ๊มมาเจอะร์ เรดิโอ เน็ท) หรือ ham net (แฮม เน็ท) หรือแม้แต่ net (เน็ท) เฉยๆ โดยไม่มีคำว่า check (เช็ค) คำว่า net หมายถึง "โครงข่าย" ดังนั้นความหมายรวมๆ ก็คือ "โครงข่ายนักวิทยุสมัครเล่น" นั่นเอง  เหตุที่ต้องเล่าเรื่องคำที่ถูกต้องกันก่อนนี้ เพราะประเดี๋ยวในวันหน้าเพื่อนๆ มีโอกาสพบเพื่อนนักวิทยุต่างชาติแล้วเขาชวนไป "net" หรือบอกว่ามี "net" ที่เวลาและความถี่หนึ่งๆ จะไม่เข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร  ด้วยเหตุนี้ผมเลยใส่วงเล็บเอาไว้ที่ชื่อเรื่องของบทความนี้ว่า (เช็ค)เน็ท เพราะจริงๆ แล้วเราเรียกว่า เน็ท เฉยๆ นั่นเอง

"เน็ท" มีกี่แบบ

ความจริงแล้ว เน็ทไม่ได้มีเฉพาะการติดต่อเข้าไปยังสถานีหลัก รายงานสัญญาณที่รับส่งกันได้ แล้วก็เจ็ดสิบสามจบกันเพียงเท่านั้น แต่เน็ทอาจจะมีวัตถุประสงค์เฉพาะอื่นก็ได้ เช่น สำหรับการส่งต่อข้อความ ติดต่อพูดคุยเรื่องที่สนใจร่วมกัน ติดต่อในกรณีฉุกเฉินหรือเตรียมรับภัยพิบัติ หรือรวมนักวิทยุสมัครเล่นไว้ด้วยกันเพื่อการติดต่อ (เช่น ในกรณีปกติตามตัวกันยาก พอมีเน็ทก็อาจจะเปิดสถานีพร้อมกัน ก็มีโอกาสติดต่อกันได้) ก็ได้ เราค่อยๆ มาดูกันว่ามีแบบใดบ้าง

1) เน็ทส่งข่าว

หรือเรียกว่า Traffic net (แทร้ฟฟิก เน็ท) ก็ได้ คำว่า traffic นี้นอกจากแปลว่าการจราจรแล้ว ยังแปลว่าข้อความ ข้อมูลข่าวสารก็ได้ เน็ทแบบนี้คือการส่งข่าวระหว่างกัน จากที่หนึ่งไปที่อื่นห่างไกลออกไป ข้อมูลข่าวสารอาจจะเกี่ยวกับสภาพอากาศ ภัยพิบัติที่ต้องระวังต่างๆ เป็นต้น

2) Net DX (เน็ท ดี เอ๊กซ์)

DX มีความหมายทั่วไปคือ Distant (ดิสแต้นท์) ซึ่งหมายถึงระยะทางที่ห่างไกลออกไป  DX net จึงมีวัตถุประสงค์ในการพยายามทำให้สถานีเล็กๆ บางสถานีมีโอกาสที่จะติดต่อกับสถานีที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ ที่ไม่สามารถติดต่อได้หรือแม้แต่รับฟังได้ในเวลาปกติ

3) เน็ทชมรม หรือ เน็ทหัวข้อเฉพาะ

ชมรมวิทยุสมัครเล่นต่างๆ อาจจัดให้มีเน็ทของตัวเอง (เรียกว่า club net, คลับ เน็ท) ที่ชวนให้เพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นต่างๆ เข้ามาพูดคุยกันในเรื่องเฉพาะก็ได้ (กลายเป็น topic net, ท้อปปิค เน็ท) หัวข้อที่จะคุยกันอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่นหรือไม่ก็ได้ เช่นเรื่อง วิทยุโบราณ การส่งคลื่นในโหมดต่างๆ เรื่องอาหาร สุขภาพ รถยนต์ ก็ได้

สรุป
  • คำทั่วไปที่ใช้รวมกลุ่มนักวิทยุให้มีการติดต่อกันในเวลาและความถี่ที่รู้กันล่วงหน้า เรียกรวมๆ ว่า Net (เน็ท) ไม่ใช่ check net
  • net (เน็ท) มีวัตถุประสงค์ต่างกันไปได้หลากหลาย อาจเพื่อการส่งข่าวสารหรือติดต่อพูดคุยในเรื่องฉพาะต่างๆ ที่ตกลงกันล่วงหน้าก็ได้ ไม่จำกัดเพียงการรายงานสัญญาณที่รับส่งกันได้เท่านั้น
ในโอกาสหน้า จะพยายามหาเรื่องราวดีๆ มาฝากเพื่อนๆ อีกนะครับ สำหรับวันนี้
QRU และ 73 ครับ จาก HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)