วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Ferrite กับการลดสัญญาณรบกวน EMI

โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต

ก่อนอื่นต้องบอกกับผู้อ่านก่อนว่า บทความนี้เป็นการพยายามอธิบายกลไกในการทำงานของเฟอร์ไร้ท์ในการลดสัญญาณรบกวนความถี่สูงที่อาจแพร่กระจายไปในอากาศ หรือ Electromagnetic Interference (EMI) โดยพยายามตัดการคำนวณที่ซับซ้อนออก โดยหลังจากผู้อ่านเข้าใจหลักการแล้วก็อาจจะศึกษาเพิ่มเติมต่อไปได้ด้วยตัวเอง

ที่มาที่ไปของ EMI

ในวงจรหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีสัญญาณไฟฟ้าเดินทางอยู่มากมาย สัญญาณส่วนใหญ่มักเป็นสัญญาณที่เราใช้งาน (เรียกว่า signal) ในขณะที่สัญญาณอีกส่วนหนึ่งเป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นภายในหรือเข้ามาจากภายนอกซึ่งเราไม่ต้องการ (เรียกว่า noise) บางกรณีสัญญาณรบกวนที่เกิดจากการทำงานของวงจรอาจเล็ดลอดออกไปภายนอกแล้วออกอากาศไปรบกวนอุปกรณ์อื่น โดยอาศัยสายไฟต่างๆ ที่เราต่อเข้าออกจากวงจรนั่นเอง ในทางกลับกัน สัญญาณรบกวนจากภายนอกก็อาจเข้ามารบกวนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของเรา ก็โดยอาศัยสายไฟตัวนำที่ต่อเข้าออกวงจรอีกนั่นล่ะ ดูภาพที่ 1

ภาพที่ 1 สายไฟหรือตัวนำที่ต่อ
เข้าออกวงจรเป็นตัวนำสัญญาณ
และแพร่กระจายไปในอากาศ
หรือรับสัญญาณรบกวนจากอากาศมา

และเมื่อมีกระแสของสัญญาณรบกวนไหลในตัวนำ มันก็จะแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Electromagnetic Interference (การรบกวนจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า) หรือ EMI นั่นเอง

สัญญาณและสัญญาณรบกวน

การที่เราจะสามารถแยกสัญญาณที่ต้องการ (signal) ออกจากสัญญาณรบกวน (noise) ได้นั้น สัญญาณทั้งสองจะต้องมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เพราะถ้าสัญญาณทั้งสองนั้นมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างแล้วเราก็คงไม่สามารถสร้างวงจรหรือวิธีการง่ายๆ ในการแยกมันออกจากกันได้ ในกรณีนี้ความแตกต่างสำคัญคือ "ช่วงความถี่" เช่น สัญญาณที่เราใช้งานคือ 1 MHz แต่สัญญาณรบกวนอยู่ที่ 30MHz เราจะสามารถจัดการกับสัญญาณรบกวนได้ง่าย ยิ่งความถี่ห่างกันมากยิ่งจัดการได้ง่าย

รู้จักตัวเหนี่ยวนำกันสักนิด

เราทราบกันอยู่แล้วว่า ถ้าเราเอาลวดตัวนำไฟฟ้ามาพันเป็นขดลวด (แกนเป็นอากาศ) จะเกิดความเหนี่ยวนำทางไฟฟ้า (inductance) และถ้าเราพันขดลวดนั้นบนแกนเฟอร์ไร้ท์ ค่าความเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าจะสูงขึ้น ดูภาพที่ 2 ก และ ข

ภาพที่ 2 ก และ ข ขดลวดแกน
อากาศและขดลวดที่มี
แกนเป็นเฟอร์ไร้ท์

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของความต้านทานของขดลวดในอุดมคติจะเป็นรีแอคแตนซ์ (jXL)นั่นคือ ไม่มีการสูญเสียทางไฟฟ้าในตัวของมันเอง พูดง่ายๆ คือขดลวดทำตัวเหมือนสปริง มันรับพลังงานไฟฟ้าเข้าไปแล้วประเดี๋ยวก็ต้องจ่ายคืนกลับมา คือไม่สูญเสีย แปลง่ายๆ อีกทีว่าไม่ได้ลดทอนกำลังของสัญญาณอะไรได้นั่นเอง

กำจัดสัญญาณรบกวนได้อย่างไร

จากหัวข้อที่แล้ว คงเกิดความสงสัยว่า แล้วการที่เราพันขดลวดลงบนอะไรจะกำจัดสัญญาณรบกวนได้อย่างไร ถ้าแกนของขดลวดเป็นอากาศ (ภาพที่ 2 ก) อากาศมีความเป็นเชิงเส้นค่อนข้างสูง คงไม่เกิดผลในการกำจัดสัญญาณรบกวนใดๆ ได้นัก แต่เมื่อแกนเป็นเฟอร์ไร้ท์ ผลที่ได้เปลี่ยนไปมาก

เนื่องจากคุณสมบัติของเฟอร์ไร้ท์นั้นไม่เป็นเชิงเส้น นั่นคือคุณสมบัติของมันเปลี่ยนไปเมื่อ (1) ความถี่ และ (2) ขนาดสัญญาณ เปลี่ยนไป แต่เราจะสนใจคุณสมบัติของมันเมื่อความถี่เปลี่ยนไปมากกว่า ที่โดยปกติแล้วความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็ก (magnetic flux density, B มีหน่วยเป็น Wb/sq.m. หรือ Tesla) และความเข้มสนามแม่เหล็ก (magnetic field strength, H มีหน่วยเป็น A/m) สัมพันธ์กันคือ

B = μH ------- (สมการ 1)

ทั้ง B และ H เป็นปริมาณเวคเตอร์ คือมีทั้งขนาดและทิศทาง
μ (ออกเสียงง่ายๆ ว่า "มิว") เป็น Permeability ของวัสดุที่เส้นแรงแม่เหล็กไหลอยู่ (ในกรณีนี้ก็คือของแกนเฟอร์ไร้ท์) มีหน่วยเป็น Wb/A•m (Wb อ่านว่า เวบเบอร์) 

นั่นคือ เมื่อมีการพันขดลวดบนแกนเฟอร์ไร้ท์ กระแสในขดลวดจะสร้างความเข้มสนามแม่เหล็ก H และด้วยคุณสมบัติของเฟอร์ไร้ท์ที่มี μ ของมัน ทำให้เกิดความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็ก B ไหลหมุนวนในแกนเฟอร์ไร้ท์นั้น ดูภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ความหนาแน่นฟลักซ์
แม่เหล็ก B ในแกนเฟอร์ไร้ท์
ขึ้นอยู่กับความเข้มสนามแม่
เหล็ก H และ permeability μ

แต่ด้วยคุณสมบัติของเฟอร์ไร้ท์ ที่บางความถี่ เมื่อกระแสที่ไหลในขดลวดไหลกลับไปกลับมาที่ความถี่สูง อนุภาคของเฟอร์ไร้ท์จะไม่สามารถกลับขั้วแม่เหล็กภายในได้ทัน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Magnetic loss หรือ Hysteresis loss (ดูภาพที่ 4) ที่ความถี่นั้น (มักเป็นความถี่สูง บางความถี่ สำหรับเฟอร์ไร้ท์แต่ละ mix หรือส่วนผสม)

ภาพที่ 4 Magnetic Loss หรือ
Hysteresis Loss เกิดจากการ
ที่ H เปลี่ยนแล้ว B ไม่เปลี่ยน
ตามทันที คือมีการ "ฟลักซ์คง
ค้าง B" อยู่ในทุกรอบของการ
เปลี่ยนทิศสนามแม่เหล็ก

ในทางไฟฟ้าแล้ว การเกิดขึ้นของ Magnetic หรือ
Hysteresis Loss นี้ จะปรากฏเสมือน "ความต้านทาน" (AC Resistance, RAC) ทางไฟฟ้า ซึ่งจะต่างจาก Reactance ตรงที่ เมื่อกระแสไหลผ่านความต้านทานแล้วล่ะก็ จะเกิดการสูญเสีย (loss) ขึ้น คือกลายไปเป็นความร้อนนั่นเอง ดูภาพที่ 5

ภาพที่ 5 วงจรเสมือนทาง
ไฟฟ้าของขดลวดเมื่อพัน
ลงบนแกนเฟอร์ไร้ท์

RDC ในภาพคือความต้านทานของสายไฟที่พันบนแกนเฟอร์ไร้ท์ จะมีค่าต่ำมากใกล้ 0 Ω อยู่แล้ว
L เป็นความเหนี่ยวนำที่เกิดขึ้น จะมีค่ามากกว่าการพันลวดในขนาดและจำนวนรอบเท่ากันบนแกนอากาศ
CPAR คือ Parasitic Capacitance เป็นความจุไฟฟ้าแฝงเกิดจากการเสมือนมีตัวเก็บประจุ (ค่าความจุไฟฟ้าต่ำมากๆ) ระหว่างเส้นลวดที่พันเป็นขดลวด
RAC นี่คือตัวพระเอกของเรา ที่บางความถี่ บางรอบการพันลวด และชนิด (mix) ของเฟอร์ไร้ท์ ทำให้เกิด RAC ขึ้น (ซึ่งไม่ควรมี  มันควรเป็น 0Ω  แต่ด้วยคุณสมบัติของเฟอร์ไร้ท์ ทำให้มี RAC เป็นตัวแทนทางไฟฟ้าของการ Loss ไปเป็นความร้อนในแกนเฟอร์ไร้ท์นั่นเอง  ถ้าเราพันขดลวดบนแกนอากาศ RAC จะมีค่าเป็น 0Ω ตลอดย่านความถี่ เพราะอากาศมี Permeability ในช่วงความถี่ RF เป็นเชิงเส้นมาก) 

มองภาพง่ายๆ ที่เกิดขี้น

อธิบายไปยาวมาก อาจจะยังงงอยู่บ้าง เรามาลองดูภาพง่ายๆ ที่เกิดขึ้นดีกว่า ถ้าเราเอาลวดตัวนำสัญญาณร้อยผ่านรูเฟอร์ไร้ท์ (ถือเป็นการพัน 1 รอบ) และ สัญญาณที่วิ่งในลวดตัวนำนั้นมีทั้งสัญญาณที่ความถี่ต่ำ (สมมติ 5 MHz) และมีสัญญาณรบกวนที่ความถี่ 30MHz ปนไปด้วย ด้วยคุณสมบัติของชนิดของเฟอร์ไร้ท์ที่เราเลือก ทำให้เกิด Magnetic Loss ที่ความถี่ 30MHz ในขณะที่ไม่มี Magnetic Loss ที่ความถี่ 10MHz ทำให้สัญญาณรบกวนถูกกำจัด(แปลง)ไปเป็นการสูญเสียในรูปความร้อนในแกนเฟอร์ไร้ท์ (ใช่แล้ว แกนเฟอร์ไร้ท์จะร้อนขึ้นเล็กน้อยด้วย แต่น้อยมาก เพราะกำลังทางไฟฟ้าของสัญญาณรบกวนก็คงไม่ได้มากมายหลายวัตต์อะไรนัก) ดูภาพที่ 6

ภาพที่ 6 สัญญาณที่มีสัญญาณ
รบกวนความถี่สูงปนมา เมื่อ
ไหลผ่านแกนเฟอร์ไร้ท์ จะเกิด
magnetic loss ที่ส่วนของ
สัญญาณรบกวนความถี่สูง
ทำให้สัญญาณรบกวนถูก
กำจัดออกไปได้

มารู้จัก μ ของแกนเฟอร์ไร้ท์อีกนิด

หลังจากที่เราพอจะเห็นภาพว่าเฟอร์ไร้ท์กำจัดสัญญาณรบกวนความถี่สูงออกไป (เป็นความร้อน) ได้อย่างไรแล้ว เรามาดูตัวแปรสำคัญที่เป็นคุณสมบัติของเฟอร์ไร้ท์ที่ทำให้เกิดความต้านทานเสมือนขึ้นมาได้ นั่นคือค่า Permeability หรือ μ ซึ่งค่าของมันจริงๆ แล้วเป็นจำนวนเชิงซ้อน  ไม่เป็นเชิงเส้น  และเปลี่ยนไปตามความถี่ (ดูภาพที่ 7)

μ = μ' - j μ" ----- (สมการ 2)

μ' ส่วนจริงของ μ
μ" ส่วนจินตภาพของ μ

เมื่อเส้นลวดพันบนแกนเฟอร์ไร้ท์จะเกิดอิมพิแดนซ์จากความเหนี่ยวนำ L (Inductance) ผิดไปจากความเหนี่ยวนำของขดลวดที่แกนเป็นอากาศ (L0) คือ

Z = j ω L0 (μ' - j μ") ---- (สมการ 3)

นั่นคือขึ้นกับ μ ด้วย
และ μ ก็เป็นจำนวนเชิงซ้อนเสียด้วยสิ
จากสมการ 3 (-j คูณ j ได้ 1) เราได้

Z = j ω L0 μ' + ω L0 μ" ----- (สมการที่ 4)

จะเห็นว่า เทอมขวาสุดของสมการที่ 4 ไม่มี j ในทางคณิตศาสตร์คือมันแสดงความเป็น ความต้านทาน หรือ Resistance ที่สูญเสียเป็นความรัอนได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านนั่นเอง

ต้วอย่าง Permeability (μ) ของเฟอร์ไร้ท์

เฟอร์ไร้ท์มีหลายชนิด หลายส่วนผสมมาก (เราเรียกว่า "mix" หรือ "material") โดยแบ่งออกเป็น 3 อย่างหลักๆ คือ

(1) NiZn (นิเกิล-ซิงค์)
เช่น mix 43, 52, 61 เป็นต้น พวกนี้มี Permeability เริ่มต้น (ความถี่ต่ำเช่น 100-1,000 Hz) น้อยกว่า 850

(2) MnZn (แมงกานีส-ซิงค์)
เช่น mix 31, 73, 75, 77, 78 พวกนี้มี Permeability เริ่มต้นสูงกว่า 850

(3) Iron Powder
เช่น mix 2 เป็นต้น (ที่จริงจะบอกว่าเป็นเฟอร์ไร้ท์กับเขาด้วยก็ไม่ถูกเสียทีเดียว) พวกนี้มี Permeability ต่ำ (mix 2 มีค่า μ เพียง 10)  อิ่มตัวที่ความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กสูง จึงเหมาะกับการใช้ทำอุปกรณ์กำลัง แต่ไม่มีลักษณะของ μ' และ μ" ที่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ EMI suppression

เราดูตัวอย่างของ μ ของบาง mix หรือ material กัน ซึ่งประกอบไปด้วย μ' (ส่วนจริง) และ μ" (ส่วนจินตภาพ)





ภาพที่ 7 Permeability ของ mix
แบบต่างๆ ทั้ง Nizn (43,
61) และ MnZn (75, 77)
(เครดิตภาพจาก www.fair-rite.com)

อิมพิแดนซ์เชิงซ้อนของขดลวดในแกนเฟอร์ไร้ท์

คราวนี้เรามาดูอิมพิแดนซ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราเอาเส้นลวดตัวนำลอดผ่านแกนเฟอร์ไร้ท์ ดูภาพที่ 8 จะเห็นว่า อิมพิแดนซ์ค่อนข้างซับซ้อนและขึ้นกับความถี่ เส้นลวดที่ลอดหรือพันแกนเฟอร์ไร้ท์เองมีความต้านทานต่ำมากอยู่แล้ว ดังนั้นส่วนของ R (Resistance, ความต้านทาน) ที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมาจากการ loss หรือการสูญเสียจาก Magnetic loss หรือ Hysteresis loss หรือสิ่งที่ μ" สะท้อนออกมานั่นเอง

ภาพที่ 8 อิมพิแดนซ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อพันตัวนำบนแกนเฟอร์ไร้ท์
ส่วน RAC คือส่วนที่เราต้องการ
ในการลด EMI

เมื่อเราเลือก mix ของเฟอร์ไร้ท์ต่างกัน จะทำให้ได้ตำแหน่งของ R (Resistance หรือความต้านทานที่สูญเสียได้), X (Reactance หรือ ความต้านทานแบบจินตภาพ จะไม่สูญเสีย), และ Z (Impedance หรือ อิมพิแดนซ์ที่คือ R + jX) ที่ความถี่ต่างๆ กัน

"หลักการก็คือ เราต้องเลือก mix ให้อิมพิแดนซ์มี R มากที่ความถี่ของสัญญาณรบกวน"

แนวทางการเลือก mix เพื่อกำจัดสัญญาณรบกวน

โดยทั่วไปแล้ว mix แบบ NiZn จะมี μ ต่ำที่ความถี่ต่ำ (เรียกว่า µi) โดยธรรมชาติมันจึงมี μ" สูงขึ้นที่ความถี่สูง และเมื่อเอาลวดตัวนำพันเข้าไปหรือลอดเข้าไป จะได้วงจรเสมือนที่มี R (RAC) ทำให้ใช้กรองสัญญาณรบกวนที่ช่วงความถี่สูง (เช่น 20MHz - 3GHz)

ในทางกลับกัน mix แบบ MnZn จะมี μ สูงตั้งแต่ที่ความถี่ต่ำเลย โดยธรรมชาติมันจึงมี μ" และ R (หรือ RAC) สูงที่ความถี่ต่ำกว่าแบบ NiZn (เมื่อความถี่สูงขึ้นไปอีกหน่อย ค่า μ" จะเริ่มตกลง มันก็เหมือนหมดสภาพ R สูงนั้นไปที่ความถี่สูงๆ) ทำให้ใช้กรองสัญญาณรบกวนที่ช่วงความถี่ต่ำลงมา (เช่น 250KHz - 300MHz)

ภาพที่ 9 แสดงแนวทางเลือก
mix ของเฟอร์ไร้ท์ในการกำจัด
สัญญาณรบกวนที่ความถี่ต่างๆ

หวังว่า เพื่อนๆ ผู้อ่าน จะได้ความรู้เกี่ยวกับหลักการทำงานของเฟอร์ไร้ท์ในการนำไปใช้กำจัดสัญญาณรบกวนที่เรียกว่า EMI ออกไปนะครับ

สรุป
  1. สัญญาณรบกวนแบบ EMI คือการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถเกิดจากสิ่งแวดล้อมเข้ารบกวนระบบหรือเกิดจากระบบของเราแล้วออกไปกวนภายนอก ทั้งคู่เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัด
  2. เฟอร์ไร้ท์มี Permeability เชิงซ้อน ทำให้ขดลวดที่พันกับมันมีคุณสมบัติที่ความถี่ต่างๆ ต่างกันไป ที่ "บางความถี่" จะมี Magnetic Loss หรือ Hysteresis Loss มาก ทำให้เสมือนมี R สมมูล (Equivalent Resistance) ค่ามาก (หลายโอห์ม) ทำให้เกิดการสูญเสียของกำลังของสัญญาณรบกวนไปในรูปความร้อนในแกนเฟอร์ไร้ท์และถูกกำจัดทิ้งไป
  3. "บางความถี่" ในข้อ (2) ด้านบนขึ้นกับชนิดของ mix ถ้าเป็น MnZn จะเป็นที่ความถี่ต่ำ ถ้าเป็น NiZn จะเป็นที่ความถี่สูง
  4. ยิ่งความถี่ของสัญญาณกับของสัญญาณรบกวนห่างกันมาก การกำจัดสัญญาณรบกวนจะง่าย
  5. ที่จริงเราสามารถพันลวดได้หลายรอบบนแกนเฟอร์ไร้ท์ หรือ ร้อยเฟอร์ไร้ท์แบบโดนัทหลายอันเพื่อเพิ่มผลการกำจัดสัญญาณรบกวนได้ แต่คุณสมบัติทางไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปได้มากด้วย

แล้วพบกับบทความดีๆ ในคราวต่อไปนะครับ สำหรับวันนี้ 
73 de HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)