โดย จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)
การติดต่อระหว่างนักวิทยุสมัครเล่นนั้นมีหลายโหมด ทั้งอนาล็อกและดิจิตอล แต่ละแบบก็ยังแบ่งแยกละเอียดออกไปอีกมาก แต่ที่นิยมกันก็คือโหมดเสียงพูด (phone) โหมด CW (รหัสมอร์ส) และดิจิตอล (เช่น RTTY และ FT-8 เป็นต้น)
ระยะเริ่มแรกของการติดต่อทางวิทยุ เราใช้โหมด CW หรือรหัสมอร์สกันก่อน ทำให้มีการประดิษฐ์รหัส Q หรือที่เรียกว่า Q-code ขึ้นเพื่อให้สะดวกและแม่นยำในการสื่อสาร แต่จะว่าไปก็ไม่ได้มีข้อห้ามในการเอามาใช้ในโหมดอื่นไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดหรือดิจิตอล (แม้ว่าจะไม่จำเป็น)
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะใช้งานรหัส Q แล้วก็ควรใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ใช้ถูกอยู่แล้ว เพียงแต่มีบางรหัสที่อาจถูกใช้ไม่ตรงตามความหมายที่แท้จริง เลยขอยกตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
QTR
ไม่ได้แปลว่า "เวลา" แต่เป็นการเทียบเวลาที่ถูกต้องใช้ได้ทั้งเป็นการถามและการตอบ ในการเคาะมอร์สเราจะเคาะตามด้วยเครื่องหมายคำถาม เช่น QTR? เป็นคำถามเวลาและต้องตอบด้วยเวลา แต่ในโหมดเสียงพูด ก็คงถามตรงๆ ก็ได้ว่าตอนนี้เป็นเวลาเท่าไร หรือ ตอนนี้ทำอะไรอยู่ การจะพูดว่า QTR นี้กำลังขับรถอยู่ นั้นจึงไม่ถูกต้อง
QRX
ก็ไม่ได้แปลว่า "รอเดี๋ยวนะ" คือจริงๆ ก็แปลว่ารอแหละครับแต่ จะต้องตามด้วยเวลา คือ จะกลับมาในเวลาใด ความถี่อะไร หรือ ถ้าใช้เป็นคำถามในรหัสมอร์สก็จะเคาะ QRX? ซึ่งจะหมายความว่า "ให้รอหรือ" ในโหมดเสียงพูดถ้าเราจะให้ใครรอก็คงบอกว่า "รอสักครู่นะครับ" หรือ "Please wait a minute" และในการใช้รหัสมอร์ส จะเคาะสัญลักษณ์เสียง (Prosign) <AS> (คือ ฟังเหมือนเสียงตัว A และ S แต่ว่าจะติดกันไปเลยไม่มีการเว้นระหว่างตัวอักษร) เราจะไม่เคาะว่า QRX
QRN-QRM
QRN หมายถึงการรบกวนจากธรรมชาติเท่านั้น เช่น จากประจุไฟฟ้าในอากาศ (เสียงซ่าเหมือนเสียงคั่วถั่ว) สัญญาณรบกวนจากฟ้าผ่า ฟ้าแลบ (ดัง กรอบแกรบ โครกคราก) เป็นต้น การรบกวนจากคน หรือเครื่องจักรเครื่องกลอะไรก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้น จะไม่รวมอยู่ด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็น QRM ดังนั้นถ้าเราถูกรบกวนจากหลอดไฟฟ้า แหล่งจ่ายไฟแบบสวิทชิ่ง มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบจุดระเบิดของรถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ หรือ Intermodulation ต่างๆ ก็นับว่าเป็น QRM ทั้งสิ้น
ถือว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังพอหอมปากหอมคอนะครับ ไว้ในโอกาสหน้า กลับมาคุยเรื่องต่างๆกันต่อนะครับ สำหรับวันนี้
QRU 73 จาก HS0DJU ครับ