อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญมากในระบบสื่อสารด้วยความถี่วิทยุก็คือสายอากาศ ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานไปมา ระหว่างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แล้วแต่ว่าจะเป็นสายอากาศสำหรับส่งหรือสำหรับรับนั่นเอง
ส่วนใหญ่แล้วสายอากาศที่พวกเราคุ้นเคยและใช้กันส่วนมากจะเป็นสายอากาศที่เรียกว่าแบบเรโซแนนซ์ (Resonance Antenna) ไม่ว่าจะเป็นสายอากาศแบบ ไดโพล สลิมจิม ยากิ-อูดะ สายอากาศชัก สายอากาศยาง ควอด เลซี่-เอช เหล่านี้ล้วนเป็นสายอากาศแบบเรโซแนนซ์ทั้งสิ้น
สายอากาศแบบเรโซแนนซ์ (Resonance Antenna)
สายอากาศแบบนี้มักมีขนาดสั้นเมื่อเทียบกับความยาวคลื่นที่เราใช้งานมันอยู่ เมื่อเราป้อนสัญญาณให้มัน ศักดาไฟฟ้าที่จุดป้อนจะบังคับให้ประจุไฟฟ้า (อิเล็กตรอน) เคลื่อนที่ไปยังปลายสายอากาศอีกด้านหนึ่ง แต่ด้วยความสั้นของมัน (ไม่เกิน 1λ) และปลายอีกด้านหนึ่งไม่มีอะไรต่อเอาไว้ อิเล็กตรอนที่ถูกบังคับให้วิ่งไปเจอกับปลายทางที่ว่างเปล่าก็จะเดินทางสะท้อนกลับมา ทำให้เกิดภาวะเรโซแนนซ์ คือในทางวงจรไฟฟ้าแล้วเหมือนเป็นการอนุกรมกันระหว่างความเหนี่ยวนำไฟฟ้า (L) และความจุไฟฟ้า (C) และ Radiation Resistance (Rrad) ของสายอากาศนั่นเอง ดูภาพที่ 1 และ 2
ภาพที่ 1 สายอากาศไดโพล เป็น
ตัวอย่างที่ดีของสายอากาศแบบ
เรโซแนนซ์ ความยาวของตัวนำ
และการกางออกจากกันของตัวนำ
ทำให้เกิดความเหนี่ยวนำ
และความจุไฟฟ้าระหว่างกัน
ภาพที่ 2 วงจรสมมูลของสายอากาศไดโพล
ที่ความถี่เหมาะสม ขนาดของรีแอคแตนซ์
จากความเหนี่ยวนำ (XL) และจากความจุ
ไฟฟ้า (XC) ของตัวนำที่ใช้ทำสายอากาศ
จะเท่ากันแต่เครื่องหมายตรงกันข้ามกัน
นั่นคือเกิดสภาวะเรโซแนนซ์
จากภาพที่ 2 จะเห็นว่าเมื่อสายอากาศทำงานที่ตวามถี่เหมาะสม รีแอคแตนซ์จากความเหนี่ยวนำ (XL = jωL = j2πfL) และจากความจุไฟฟ้า (XC = 1/jωC = -j/ωC = -j/2πfC) ของตัวนำที่ใช้ทำสายอากาศจะมีขนาดเท่ากัน (คือ 2πfL มีค่าเท่ากับ 1/2πfC) แต่เพราะเครื่องหมายมันตรงกันข้ามกันจึงหักล้างกันไป (นี่ล่ะที่เรียกว่า เรโซแนนซ์) เหลือแต่ Rrad ทำให้เมื่อมองเข้ามาที่จุดป้อนจะเหลือแต่ความต้านทานการแพร่กระจายคลื่นหรือ Radiation Resistance (Rrad) เท่านั้น (ซึ่ง Rrad สำหรับสายอากาศไดโพลก็คือประมาณ 73 โอห์ม และโฟลเด็ดไดโพลจะเป็นประมาณ 4 เท่าของ 73 โอห์ม เมื่อตัวนำมีขนาดเล็ก-บางมาก ถ้าตัวนำที่ใช้ทำสายอากาศอ้วนขึ้น ค่านี้จะลดลงกว่า 73 โอห์ม)
สายอากาศแบบคลื่นเดินทาง (Traveling Wave Antenna)
ก่อนอื่นเรามาดูกันที่ชื่อของสายอากาศชนิดนี้กันเสียก่อน โดย traveling หมายถึงเดินทาง และ wave หมายถึงคลื่น รวมความแล้วก็หมายถึงสายอากาศที่มีคลื่นเดินทางอยู่ในตัวของมันโดยที่ไม่เกิดการสะท้อนกลับหรือเกิดก็น้อยมาก (ที่จริงเราบังคับได้ เราอาจจะอยากให้มันสะท้อนหรือไม่ มากน้อยอย่างไรก็ได้) และในทางไฟฟ้าแล้วสายอากาศนี้จะไม่เรโซแนนซ์ (คือ XL และ XC จะไม่หักล้างกันหมดไป) ดูภาพที่ 3
ภาพที่ 3 สายอากาศแบบคลื่นเดินทาง
หรือ Traveling Wave Antenna จะยาว
หลายความยาวคลื่น (λ) คลื่นจะเดินทาง
บนตัวนำไปจนสุดปลายของสายอากาศ
ถ้าเราต่อไว้ด้วยความต้านทานที่ถูกต้อง
เราจะควบคุมการสะท้อนกลับของคลื่นได้
(ให้สะท้อน มากน้อย หรือไม่สะท้อนก็ได้)
จากภาพจะเห็นว่า สายอากาศ (ส่วนสีน้ำเงิน) ยาวมาก อาจจะหลายความยาวคลื่น (λ) ทำให้คลื่นเดินทางไปตามสายอากาศ ระหว่างเดินทางไปก็มีขนาดลดลงบ้าง (loss) มีการสะท้อนจากพื้นดินบ้าง โดยที่คลื่นที่เดินทางในดินและบนเส้นลวดโลหะที่ทำสายอากาศก็เร็วไม่เท่ากัน (ในดิน ช้ากว่า) และถ้าเราใส่ความต้านทาน (Terminating Resistance, R ในภาพที่ 3) ไดัถูกต้อง ก็จะไม่มีคลื่นสะท้อนกลับมาจากปลายสายอากาศ (โดยทั่วไป คือประมาณ 400-600 โอห์ม)
คุณสมบัติของสายอากาศแบบ Traveling Wave
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสายอากาศแบบนี้มีลักษณะพิเศษ 2-3 อย่างที่ชัดเจนคือ
- ใหญ่ ยาว เพราะมันต้องยาวหลายความยาวคลื่น (λ) ลองจินตนาการว่าถ้าเราใช้ความถี่ 14MHz ที่มีความยาวคลื่นประมาณ 20 เมตร เราอาจจะต้องมีสายกาศยาวสัก 80 เมตรเพื่อเป็น 4λ
- อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อน มีค่าสูง การต่อตรงๆ เข้ากับสายนำสัญญาณที่มีอิมพีแดนซ์จำเพาะ 50 หรือ 75 โอห์มจะทำให้เกิดการสะท้อนกลับมาก มีค่า VSWR ในสายนำสัญญาณสูง จึงต้องมีวงจรจูน (Tune) เพื่อปรับอิมพิแดนซ์เสียก่อน
- เนื่องจากไม่ใช่สายอากาศแบบเรโซแนนซ์ อิมพิแดนซ์ที่จุดป้อนจะมี Reactance ปนอยู่ด้วยมาก
- เนื่องจากเป็นสายอากาศแบบไม่เรโซแนนซ์ ทำให้มีแบนด์วิดธ์ (bandwidth) กว้าง สามารถทำงานด้านในช่วงความถี่ที่กว้าง
- ด้วยความ ใหญ่ ยาว และมีพื้นดินเป็นตัวช่วย (เรามักติดตั้งสายอากาศนี้ไว้สูงจากพื้นดิน 1 - 5 เมตรเท่านั้น) ทำให้มีทิศทางดีมาก (ดูภาพที่ 4) การมีทิศทางดีมากหมายถึงการมีเกนสูงขึ้นในทางใดทางหนึ่ง และแย่มากในทิศอื่น นั่นคือเราสามารถ "ไม่รับ" สัญญาณที่มาจากทิศทางที่เราไม่ต้องการได้ด้วย
ภาพที่ 4 สายอากาศแบบ Traveling Wave
มีทิศทางดีมาก สามารถตัดการรบกวน
จากทิศทางอื่นได้ดี
ตัวอย่างสายอากาศแบบ Traveling Wave
เล่าให้ฟังมาเป็นนาน เพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่าตกลงแล้วมีคนใช้สายอากาศชนิดนี้จริงๆ อยู่หรือไม่ คำตอบก็คือแน่นอนว่า มีสิครับ สายอากาศแบบนี้ที่เป็นที่รู้จักกันก็เช่น
- Beverage Antenna (สายอากาศแบบ เบเวอเรจ) มักใช้ "รับ" เป็นหลัก (ภาพที่ 5(a))
- Rhombic Antenna (สายอากาศแบบ รอมบิค) นี่เรียกได้ว่าเป็น King of Antenna เลยก็ได้ เพราะทั้งใหญ่โตมโหฬาร มีเกนสูงมาก (ระดับ 15-18 dB) และมีมุมยิงคลื่น (Elevation) ต่ำมากแม้ในย่านความถี่ HF (ภาพที่ 5(b))
ภาพที่ 5 ตัวอย่างสายอากาศแบบ Traveling Wave
ที่ใช้กันมากคือ Beverage และ Rhombic Antenna
สรุป
- สายอากาศแบบ Traveling Wave เป็นสายอากาศที่มีขนาดยาวมาก และไม่เรโซแนนซ์
- เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเรโซแนนซ์ทำให้มีแบนด์วิดธ์กว้าง
- และด้วยความใหญ่ของมัน จึงสามารถจัดการออกแบบรูปร่างให้มีทิศทางที่ดี (ตามมาด้วยเกนที่ดี) ได้
- แต่อิมพิแดนซ์ของสายอากาศนี้จะสูง จึงต้องมีการจูนก่อนการต่อเชื่อมเข้าสายนำสัญญาณแบบ 50 หรือ 75 โอห์ม
- สายอากาศชนิดนี้ บางแบบก็เหมาะกับการรับเท่านั้น ไม่ได้เหมาะกับการส่งด้วย
73 de HS0DJU (จิตรยุทธ จ.)