โดย คุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ (E25JRP)บรรณาธิการ จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)
ข้อมูลจาก World Economic Forum ( https://www.weforum.org/agenda/2019/05/simply-
elegant-morse-code-marks-175-years-and-counting/ ) ระบุว่า ซามูเอล มอร์ส ได้พยายามคิดค้นวิธีการสื่อสารแบบใหม่ (ในยุคนั้น) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1832 โดยใช้เวลาพัฒนาอยู่ถึง 6 ปี กว่าจะสามารถกำหนดมาตรฐานรหัสได้ลงตัวและใช้เวลาในการวางโครงข่ายสายโทรเลขจนกระทั่งสามารถส่งสัญญานทางไกลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 โดยเป็นการส่งข้อความจากกรุงวอชิงตัน ดี ซี ถึงบัลติมอร์
ซึ่งถ้านับจากวันที่ซามูเอล มอร์สเริ่มคิดค้นรหัสมอร์ส ก็แปลว่าเจ้าเสียงดิดดาห์ที่เราใช้กันอยู่นี้กำลังจะมีอายุครบ 200 ปีในอีก 13 ปีข้างหน้านี่แล้วและหากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เกือบ 200 ปีของรหัสมอร์ส แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ฝึกยังไง เชิญครับวันนี้เราจะมาคุยกันถึงกระบวนการในการฝึกรหัสมอร์สกัน ซึ่งก็ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า
วิธีการในบทความนี้ เป็นวิธีที่ผู้เขียนใช้ในการฝึกของตัวเอง อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านเคยฝึกหรือได้รับการแนะนำมา ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะเหมาะกับวิธีการที่แตกต่างกันถือเสียว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็แล้วกันนะครับ
มีคนกล่าวว่า รหัสมอร์สนั้น Simple (ไม่ซับซ้อน), but not Easy (แต่ไม่ง่าย) ที่ว่า Simple นั้นเพราะในรหัสมอร์ส มีสิ่งที่เราใช้อยู่แค่ 3 อย่าง คือเสียงสั้น, เสียงยาวและการเว้นจังหวะ ประกอบกันเข้าเป็นรหัสเพียง 40 รหัส (ตัวอักษร A-Z ตัวเลข 0-9 และสัญลักษณ์พิเศษที่นิยมใช้อีก 4 ตัว) เท่านั้น ฟังแค่นี้ก็อาจจะรู้สึกว่า บ๊ะ! แค่ 40 ตัว ยังงี้มันก็ง่ายน่ะสิ หัดซักอาทิตย์สองอาทิตย์ก็น่าจะเอาไปเคาะคุยกับฝรั่งมังค่าเขาได้แล้วใจเย็นๆ ก่อนครับ เพราะถึงเวลาจริงๆ ถ้ามีใครบ้าจี้ฝึกรหัสมอร์สแค่สองสัปดาห์แล้วไปออกอากาศ มีโอกาสหมดกำลังใจปิดเครื่องนอนร้องไห้ ดีไม่ดีจะพาลเลิกเล่นเอาง่ายๆ เลย เพราะถึงมันจะ Simple แต่มันก็ไม่ได้ Easy อย่างที่คิดครับ
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับนักรหัสมอร์สมือใหม่ในการลงสนามจริงมักขะไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าเสียงที่เราได้ยินคืออักษรตัวไหนหรอกครับแต่อยู่ที่....เขาส่งมาเร็วจนฟังไม่ทัน เลยไม่รู้ว่าจะถอดรหัสยังไงมากกว่า ยิ่งส่งมาเป็นข้อความยาวๆ กว่าจะนั่งนับขีดนับจุด จับเรียงลำดับ ค้นความจำในสมองเขียนลงกระดาษได้ตัวนึง เค้าก็ส่งมาอีก 4 – 5 ตัวอักษรแล้ว กลายเป็นดินพอกหางหมู ยิ่งเยอะ มือไม้ก็ยิ่งพัลวันไปกันใหญ่ ถึงตอนนั้นเราจะรู้สึกว่า พอที!!
นี่ตูมาทำอะไรที่นี่กันเนี่ย สุดท้าย พอฟังไม่ออก ก็เลยส่งกลับไปว่า SRI 73 TU .. อึ้ง นิ่ง งงกันทั้งความถี่ กลายเป็นว่าไอ้ที่ฝึกมานั้น เป็นการฝึกไว้สอบ ไม่ได้ฝึกไว้ใช้ไปเสียได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ฝึกใหม่ๆ ทั่วโลกครับ จนในที่สุดก็มีคนคิดระบบการฝึกที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลที่สุดในปัจจุบันขึ้นมา นั่นคือการฝึกในระบบ Koch หรือ Koch Method ซึ่งคิดค้นขึ้นโดย Kudwig Koch นักจิตวิทยาชาวเยอรมันครับ
ระบบการฝึกของระบบ Koch
จะแตกต่างไปจากระบบที่เราเคยได้ยินมาในสมัยก่อนที่มักจะให้ผู้ฝึกจดจำรหัสของตัวอักษรต่างๆ จนครบก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น โดยระบบ Koch จะให้ผู้ฝึกเริ่มฟังรหัสในความเร็วที่ต้องการใช้งานจริง แต่จะเริ่มจากตัวอักษรแค่ 2 ตัวเท่านั้น (K และ M) เมื่อสามารถฟังและจับใจความได้เกิน 90% จึงจะเข้าสู่บทเรียนถัดไป ที่มีตัวอักษรเพิ่มขึ้นเป็น 3 ตัว อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง 40 บทเรียน โดยหากบทเรียนไหน ผู้ฝึกยังทำได้ไม่ถึง 90% ก็ให้ฝึกบทเรียนนั้นซ้ำไปเรื่อยๆด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ฝึกสามารถจดจำรหัสได้ในความเร็วใช้งานจริงแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องท่องจำขีดหรือจุด แต่จดจำด้วยเสียงที่ได้ยินเลย เรียกว่าพอหูได้ยินมือก็จดได้เลย ลดขั้นตอนในการถอดรหัสไปได้เยอะเลยครับ
เป็นการฝึกที่อาจจะออกตัวช้า แต่เป็นม้าตีนปลาย และนำไปใช้ได้จริงโดยการฝึกด้วยระบบ Koch นี้ สามารถทำได้ทั้งผ่าน App ที่ชื่อ KMT Pro (แอนดรอยด์) และ Koch Trainer (iOS) บนโทรศัพท์มือถือ, โปรแกรม G4FON บน Windows หรือผ่านเว็บไซต์ www.lcwo.net ซึ่งแต่ละอย่างก็มีข้อดีต่างกันไป คือ App บนโทรศัพท์มือถือก็สามารถที่จะฝึกนอกสถานที่ได้ง่ายขณะที่โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องต่ออินเตอร์เน็ตส่วนการฝึกผ่านเว็บไซต์ ก็จะมีลูกเล่นและการเก็บสถิติที่ละเอียดกว่ารวมถึงมีฟังก์ชั่นที่ใช้ฝึกการส่งรหัสมอร์สรวมอยู่ด้วยก็เลือกใช้ตามความสะดวกและความเหมาะสมได้เลยครับ โดยส่วนตัว ผมจะฝึกผ่าน App และเว็บไซต์ควบคู่กันไป โดยตั้งค่าความเร็วตัวอักษรไว้ที่ 20 wpm และตั้งค่าการเว้นช่องว่างระหว่างตัวอักษรไว้ที่ 15 wpm เพื่อให้มีเวลามากขึ้นอีกนิดในการจดลงกระดาษ
นอกเหนือจากการฝึกผ่านระบบ Koch แล้ว หากมีเวลา ผมก็อยากให้ลองเพิ่มประสบการณ์ด้วยการฟังการ QSO ในสถานการณ์จริงด้วยโดยเราสามารถค้นหาคลิปใน youtube ด้วยคำว่า cw qso (อาจจะเพิ่มคำว่า first หรือ qrs หรือ slow เข้าไปในคำค้นหาด้วย เพื่อให้เราได้ฟังการ QSO ที่ไม่เร็วจนเกินไป) ซึ่งข้อดีของการฝึกผ่านคลิปใน youtube คือเราสามารถฟังซ้ำได้ และหลายๆ คลิปจะมี subtitle เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบได้ ว่าสิ่งที่เราถอดข้อความมาถูกต้องครบถ้วนแค่ไหน
สิ่งสำคัญในการรับรหัสมอร์สให้ได้ผลดีก็คือ พยายามทำทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อหูได้ยินรหัส จงจดให้ได้โดยเร็ว เรียกว่า ฟังเสียงแล้วตัวอักษรตัวไหนแว้บมาในหัวก็จดลงไปเลย
จงเชื่อสัญชาตญานแรกของตัวเองไว้ก่อน
แน่นอนว่าช่วงแรกความผิดพลาดย่อมจะมีมาก แต่จงจำไว้ว่า นี่เป็นแค่การฝึกความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และจะเกิดขึ้นแน่นอนอย่างที่สองก็คือ หากตัวไหนที่ฟังแล้วนึกไม่ออก นึกไม่ทัน อย่าไปหมกมุ่นกับมันครับ ผ่านแล้วผ่านเลย เว้นไปก่อนเพราะยังมีคำที่กำลังหลั่งไหลตามมาให้เราถอดรหัสอีกมาก หากมัวห่วงหน้าพะวงหลัง สุดท้ายจะพังไปทั้งแถบ เละถึงแม้ว่าเราจะพลาดในการรับตัวอักษรบางตัวเราก็ยังสามารถจับสาระสำคัญของข้อความได้อยู่ เช่น TN_ F_R CAL_ U_ _ST IS 5_9 5N_ ซึ่งผมเชื่อว่าแม้จะรับข้อความได้แค่นี้เราก็สามารถบอกได้ว่าคู่สนทนาต้องการสื่อสารอะไรสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ความสม่ำเสมอครับ ไม่ว่าคุณจะมีภารกิจยุ่งแค่ไหนจงพยายามหาเวลาวันละ 20 นาทีเพื่อฝึกซ้อม จะเป็นระหว่างขับรถ อาบน้ำ
หรือจะเป็นช่วงก่อนนอนก็ได้ เพราะเรากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ภาษาใหม่ ทักษะใหม่ ซึ่งการจะฝังทักษะเข้าไปในสมองได้ จำเป็นต้องทำซ้ำจนกลายเป็นอัตโนมัติ (ผมเคยฝึกจนหลอนถึงขึ้นพิมพ์ตัว H ด้วยการกดแป้นตัว H สี่ครั้งสั้นๆ มาแล้ว)
ซึ่งหากเว้นว่างห่างหายไปหลายๆ วัน อาจจะต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก และการฝึกวันละ 20 นาทีทุกวันจะดีกว่าการฝึกสัปดาห์ละครั้งรวดเดียว 3 ชั่วโมงและสิ่งที่สำคัญที่สุดๆๆๆๆๆ ก็คือ....จงสนุกกับมันครับ
เพราะนี่คือกิจกรรมของนักวิทยุ “สมัครเล่น” หากไม่สนุกเราย่อมจะไม่สมัครใจที่จะทำ และหากไม่สนุก ก็ย่อมจะไม่ใช่การเล่น ถ้าหากระหว่างฝึกเกิดความเครียดขึ้นมา ก็พักสักหน่อยไปหาอะไรรื่นเริงบันเทิงใจทำซะ เมื่อสบายใจแล้วค่อยวกกลับมาสนุกกับมันใหม่จะทำให้เราอยู่กับการฝึกได้นานขึ้นครับในครั้งหน้าเราจะมาคุยเรื่องการฝึกรหัสมอร์สกันต่อในระดับที่แอดวานซ์ขึ้นไปอีกนิดแต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้น ผมเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันเอาเป็นว่าคอยติดตามอย่างสนุกสนานแล้วกันนะครับ