วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นกับรหัสมอร์ส


โดย คุณสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ  (E25JRP)
บรรณาธิการ จิตรยุทธ จุณณะภาต (HS0DJU)

สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นในประเทศไทย หากพูดถึงรหัสมอร์สแล้วทั้งคนพูดและคนฟังมักจะส่ายหัว ทำหน้าเหยเกเหมือนกินยาขมไปตามๆ กันเพราะได้รับการบอกเล่าจนเป็นความเชื่อกันมาว่า รหัสมอร์สนั้นเป็นเรื่องของนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางกับขั้นสูงเท่านั้น เป็นเรื่องที่หัดเอาไว้ใช้แค่ตอนสอบ ยากชนิดที่หัดกันเป็นปีๆ ยังไม่รู้ว่าจะคุยกับชาวบ้านเค้ารู้เรื่องหรือเปล่า  โบราณ ล้าสมัย ขนาดเมืองนอกเค้ายังเลิกสอบกันแล้ว ฯลฯ เรียกว่าส่ายหัวตั้งแง่กันตั้งแต่ประโยคแรกที่พูดกันเลยทีเดียวแต่ก็เป็นเรื่องแปลก ที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ยกเลิกการสอบรับ-ส่งรหัสมอร์สไปแล้วกลับมีชมรมหรือกลุ่มที่เปิดสอนรหัสมอร์สกันอยู่หลายแห่งแถมยังมีนักวิทยุสมัครเล่นดิ้นรนขวนขวายเสียเงินเสียทองไปลงเรียนไอ้เจ้าสิ่งที่ว่าล้าสมัยนี่ชนิดจองคิวล่วงหน้ากันไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเครื่องรับ-ส่ง ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้ในโหมด CW เพียงอย่างเดียวออกมาอีกหลายรุ่น นั่นหมายความว่ารหัสมอร์สน่าจะมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่ทำให้หลายๆ คนหลงใหลถึงขั้นโยนไมโครโฟนทิ้ง หันมาจับคันเคาะเพื่อคุยกับคนทั้งโลกแทน ซึ่งตามแบนด์แพลนของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าความถี่ช่วง 144.000 – 144.150 Mhz ได้รับการกำหนดจาก กสทช. ให้ใช้เพื่อการสื่อสารในโหมด CW เท่านั้น ซึ่งหลายๆ คนอาจจะเคยสแกนผ่านไปผ่านมา แต่ก็ไม่เคยได้ยินอะไร นอกจากเสียงแฟ่ดๆ เหมือนคนกดคีย์เปล่า หรือบางคนอาจจะเคยลองกดคีย์ออกอากาศพร้อมกับกดปุ่มบนไมโครโฟนเป็นเสียงตู๊ดๆ ต๊าดๆ เผื่อจะมีอะไรตอบกลับมา (สารภาพว่าผมเองก็เคยทำ) แต่ทุกอย่างก็เงียบกริบ จนบางทีก็แอบคิดว่า กสทช. จะจัดสรรให้มีความถี่สำหรับ cw ไปทำไม (ฟะ) ในเมื่อไม่เห็นมีใครเค้าใช้กันเลย

ผังความถี่ ต้นแบนด์ของย่าน
ความถี่ 2 เมตร ถูกจัดไว้สำหรับ
ใช้งานในโหมด CW โดยเฉพาะ


แต่จริงๆ แล้วก็มีนักวิทยุสมัครเล่นทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูงที่ใช้ความถี่ย่าน 144.000 – 144.150 Mhz สนทนากันด้วยโหมด CW กันอยู่เป็นประจำเกือบทุกวันเพียงแต่ด้วยรูปแบบการผสมคลื่นที่แตกต่างไปจากโหมด FM ที่เราคุ้นเคยทำให้เครื่องวิทยุทั่วไป ไม่สามารถได้ยินเสียงติ๊ดต๊าดที่เขาคุยกันได้จะได้ยินเพียงเสียงฟืดฟาด เหมือนมีคนกดคีย์เปล่าเล่นเป็นจังหวะเท่านั้นทีนี้มาถึงคำถามที่หลายๆ คนอาจจะสงสัย ว่าทำไมต้อง CW ในเมื่อเราก็สามารถติดต่อด้วยเสียงได้อยู่แล้ว ง่ายกว่า ไม่ต้องฝึกมากมาย คว้าไมค์ได้ก็ลุยกันเลย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ถูกครับเพียงแต่ว่าข้อดีของการสื่อสารในโหมด CW นั้นมีอยู่หลายประการ ทำให้ผมเชื่อว่าในฐานะนักวิทยุสมัครเล่นที่มีพันธกิจในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมที่จะเป็นเครือข่ายการสื่อสารในกรณีฉุกเฉินแล้ว นักวิทยุสมัครเล่นทุกคน “ควร” ที่จะมีทักษะในด้านการสื่อสารด้วยรหัสมอร์สติดตัวไว้ครับ

แถบความถี่ของระบบ CW
นั้น แคบกว่าของการผสมคลื่น
แบบอื่นๆ มาก ทำให้พลังงาน
ถูกใช้อย่างคุ้มค่า ไม่กระจายไป
ในแบนด์วิธด์ที่กว้างๆ นั้น


ข้อดีอย่างแรกของการสื่อสารในโหมด CW ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือสามารถติดต่อได้ไกลกว่าการสื่อสารด้วยเสียง เนื่องจากในการสื่อสารด้วยเสียงนั้นเครื่องจะต้องผสมเสียงพูดของเราเข้าไปในคลื่นที่ออกอากาศ เกิดเป็น Upper SideBand และ Lower Sideband ทำให้แบนด์วิธกว้างส่งผลให้กำลังส่งของเครื่องมีภาระมากกว่าการส่งในโหมด CW เปรียบเหมือนนักกีฬากระโดดไกลที่ต้องหิ้วตุ้มน้ำหนักไว้ทั้งซ้ายขวาเวลากระโดดก็ย่อมจะไปได้ไม่ไกลเท่านักกีฬาที่มีแรงเท่ากันแต่ไม่ต้องแบกตุ้มน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งการสื่อสารในโหมด CW จะไม่มีการผสมอะไรเข้าไปในคลื่นที่ออกอากาศเลยทำให้กำลังส่งของเครื่องทำงานได้เต็มศักยภาพมากกว่าส่งผลให้ส่งสัญญานไปได้ไกลกว่า

จากการทดสอบในโหมด CW บนความถี่ย่าน VHF ด้วยกำลังส่ง 1 วัตต์ระหว่างสองสถานีที่อยู่ห่างกัน 20 กิโลเมตร (ปากเกร็ด - ตลิ่งชัน) ด้วยสายอากาศแบบรอบทิศทางสามารถติดต่อกัน ได้ RST ระดับ 589 ทั้งคู่ แถมยังมีสมาชิกรายงานว่าด้วยสายอากาศสไลด์ภายในอาคารก็ยังสามารถรับสัญญานได้ดีที่ระยะ 20 กิโลเมตร (บางแค) อีกด้วย และยิ่งในจังหวะที่อากาศเปิด สถานีที่กรุงเทพฯ ก็เคยใช้สายอากาศแบบรอบทิศทางติดต่อกับจังหวัดจันทบุรี ที่อยู่ห่างไปกว่า 250 กิโลเมตรได้มาแล้วข้อดีอย่างที่สองก็คือ เมื่อการสื่อสารในโหมด CW ใช้แบนด์วิธน้อยทำให้การรบกวนข้ามช่องน้อยลงไปด้วย เพราะในขณะที่โหมด FM ที่มีระยะห่างระหว่างช่องอยู่ที่ 12.5 kHz ยังพบการรบกวนจากความถี่ข้างเคียงได้ ในโหมด CW ระยะระหว่างช่องเพียงแค่ 1kHz ก็แทบจะไม่เกิดการรบกวนแล้วและข้อดีประการที่สามซึ่งผมเห็นว่าเหมาะกับนักวิทยุสมัครเล่นบ้านเราที่มักจะมีจุดอ่อนเรื่องสำเนียงภาษาอังกฤษ (ทั้งพูดและฟัง) ก็คือ การสื่อสารด้วยรหัสมอร์สในโหมด CW นั้นทุกอย่างมาเป็นตัวอักษรทำให้ตัดปัญหาเรื่องสำเนียงภาษาอังกฤษที่ฟังยากของเพื่อนจากประเทศอื่นๆ ยิ่งมี Q-Code และตัวย่อต่างๆ มาช่วยด้วยแล้วยิ่งทำให้การสื่อสารเป็นไปด้วยความง่ายดายขึ้นอีกมาก

เครื่องน้องใหม่
ICOM IC-9700
ที่ทำงานได้ในทุกโหมด


สำหรับเครื่องรับ-ส่งย่าน VHF ที่สามารถใช้งานโหมด CW ได้นั้นปัจจุบันก็สามารถหามาเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้นในราคาที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น ICOM IC-290  KENWOOD TM-255  ICOM IC-271  IC-275 ฯลฯ ซึ่งถึงจะเป็นเครื่องรุ่นเก่า อายุกว่า 20 ปี แต่ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วหรือถ้าใครที่ไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณ จะพุ่งไปหาน้องใหม่อย่าง ICOM IC-9700 ก็ไม่ว่ากันครับ
ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่ยังติดขัดเรื่องเครื่องแต่สนใจอยากจะฝึกรหัสมอร์สเพื่อเตรียมไว้สำหรับการสอบขั้นกลาง ในครั้งหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องการฝึกรับ - ส่ง รหัสมอร์สกันครับ