วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

มือใหม่ติดต่อต่างประเทศต้องรู้อะไรบ้าง

 
 เพื่อนๆ นักวิทยุสมัครเล่นหลายท่านอาจจะได้รับการ "อัพเกรด" คือสอบเลื่อนขั้นจากพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นไปเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางหรือสูง และมีโอกาสหรืออยากติดต่อกับเพื่อนในต่างประเทศ หรือแม้แต่กับเพื่อนชาวไทยด้วยกันในย่านความถี่ HF ต้องไม่ลืมว่า สัญญาณช่วงคลื่น HF นั้นเดินทางสะเทิ้นฟ้าสะท้อนดินไปได้ไกลหลายประเทศ ในการใช้ความถี่จึงควรต้องเดินตามกติกาสากลไว้ ไม่เช่นนั้นเพื่อนๆ ในต่างประเทศอาจจะสับสนและทำให้การติดต่อเป็นไปด้วยยากความลำบากได้

ผมพยายามสรุปจุดต่างๆ ที่สำคัญไว้ดังนี้ เพื่อนๆ ลองดูนะครับ เป็นไปไม่ได้ที่จะครอบคลุมทั้งหมด แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เริ่มติดต่อต่างประเทศได้อย่างไม่เคาะเขินนะครับ

1.ก่อนจะใช้ความถี่ ถามก่อนเสมอว่าความถี่ว่างไหม
Is this frequency in use? หรือเคาะ QRL? ในโหมด CW 

ถ้าความถี่นั้นไม่ว่าง อาจจะมีคนตอบว่า Yes (แปลว่า มีผู้ใช้งานอยู่จ้า) เราก็ไปหาช่องอื่น 

ในทางกลับกัน ถ้าเราเปิดความถี่ว่างๆ อยู่ ไม่มีเราหรือคนอื่นใช้งาน แล้วมีใครมาถาม Is this frequency in use? หรือมีใครเคาะ QRL? ในโหมด CW ก็ไม่ต้องไปตอบหรือเคาะอะไรไปนะครับ ปล่อยเงียบๆ ไป) 

2.เคารพ Band plan ตามที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. และไม่เลือกใช้ความถี่ที่ Sideband ของเราหลุดออกนอกย่านความถี่สมัครเล่นที่เราได้รับอนุญาต (SSB คือ 3 KHz, FM 12.5KHz เป็นต้น) 


3. เป็นที่รู้กันว่าต้นแบนด์ (ประมาณ 50 KHz แรก) ของเกือบทุกย่านความถี่ HF มักเป็นที่สำหรับเพื่อนๆ มาใช้กันในโหมด CW พยายามหลีกเลี่ยงในการใช้โหมดอื่น 


4.ต้องรู้ว่า บางความถี่ถูกใช้งานเป็นภาคส่งของ Beacon (14.100, 18.110, 21.150, 24.930, 28.200 MHz เป็นต้น) เราไม่ควรใช้งานที่ความถี่เหล่านี้หรือใกล้เคียงที่ sideband เราจะไปรบกวนได้


5.ถ้ามีเพื่อนติดต่อกันอยู่ แล้วเราต้องการแทรกเข้าไป หรือมีเพื่อน CQ อยู่แล้วเราต้องการติดต่อเข้าไป ให้ขานสัญญาณเรียกขานของเรา 1 หรือ 2 ครั้ง อย่าไปบอกว่า ขอติดต่อด้วยครับ (ไม่ว่าในในภาษาใดๆ) 


6.ถ้าเราหมุนความถี่ไปได้ยินสถานีที่ขานแต่สัญญาณเรียกขาน (เรารับเขาได้คนเดียว) ไม่ว่าจะโหมดอะไร นั่นคือเขาพยายามตอบสถานีอื่น (ที่เรารับไม่ได้) โดยการขานสัญญาณเรียกขานของเขาเอง อย่าแทรกเข้าไป (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) ให้เขาติดต่อกันไปจะดีกว่า หรือรอให้เขาติดต่อกันเสร็จแล้วเราจึงติดต่อเข้าไป 


7.การบอกและถามชื่อเป็นเรื่องปกติของวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ ดังนั้นบอกชื่อเราได้ และถามชื่อเขาได้ (ชื่อ คือ Operator name, Handle name, my name ได้หมด) ไม่ต้องเขิน แล้วอย่าไปโกรธเขานะครับ ในทางสากลแล้วสัญญาณเรียกขานเป็นเหมือนเพียง "ทะเบียนรถของสถานี" เท่านั้นเอง เพื่อนๆ เขาก็มักอยากรู้ว่าใครขับรถนั้นด้วย จึงมักถามชื่อซึ่งเป็นสิ่งระบุตัวตนจริงๆ  จึงเป็นเรื่องปกติมากๆ


8.หลายๆ การติดต่อโดยเฉพาะการ CQ แล้วมีผู้ติดต่อเข้ามามาก มักมีการใช้ Split mode คือ คนเรียก CQ จะไปฟังการตอบรับที่ความถี่อื่น ปกติมักเป็นความถี่ที่สูงขึ้นไปกว่าที่เขาเรียก CQ มา โดยจะบอกว่า "UP" ถ้าเราได้ยินแบบนั้น ในโหมดเสียงพูด (phone) เขาจะไปฟังที่ความถี่ 5KHz สูงขึ้นไป และได้ยินการเคาะ UP ในรหัสมอร์ส (cw) เขาจะไปฟังที่ความถี่ 1 KHz สูงขึ้นไป เราเองก็ต้องตามไปส่งให้ถูกความถี่ที่เขารับฟังอยู่ด้วย ทั้งนี้ ในบางครั้งอาจจะมีการบอกว่า UP TEN ในโหมดโฟน หรือเคาะ UP2 ในโหมด CW ก็ได้


9.ในการทักทายกัน เราจะสวัสดีตอนเช้า บ่าย เย็น กับคู่สถานี ต้องคอยระวังว่าเวลาของเขาและเราไม่ตรงกัน ก็ต้องบอกสวัสดีให้ถูกตามเวลาของคู่สถานีเรา แม้ว่าแรกๆ อาจจะฟังแปลกๆ ที่เราบอก Good afternoon เขา แต่คู่สถานีบอก Good morning เรา แต่เดี๋ยวก็ชินไปเองว่าต้องคอยดูว่าเวลาของคู่สถานีเป็นเวลาใด


10.บางช่วงความถี่ มีแถบความถี่แคบมาก (เช่น 100KHz หรือน้อยกว่า) แบนด์เหล่านี้มักจะอนุญาตให้ใช้งานในโหมดที่ Sideband แคบๆ เท่านั้นเช่น CW หรือ Digital mode ต้องระวังให้ดี


เพื่อนๆ ก็ลองศึกษาให้ชำนาญ แล้วติดต่อต่างประเทศให้เพื่อนต่างชาติรู้จักเพื่อนๆ ในประเทศไทยเราเยอะๆ  ขอให้โชคดีในการติดต่อ มีเพื่อนมากมายทั่วโลกทุกท่านนะครับ 

73 de HS0DJJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)