วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ทดสอบสายอากาศ ของแท้-ไม่แท้


สายอากาศแปลงกลับไปมาระหว่างพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้า และถ้าจะว่าไปแล้ว สายอากาศนับเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แปลงรูปพลังงานที่ง่ายที่สุดในโลกอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราดูอุปกรณ์แปลงพลังงานเช่น หลอดไฟ (แปลงจากพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่าง) ก็ทำยาก ต้องมีไส้หลอด มีการสูบอากาศออก หรือ บรรจุสายเคมี หรือ มอเตอร์ไฟฟ้า ที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลในรูปของแรงบิดและความเร็วรอบ ยิ่งซับซ้อน ต้องมีแม่เหล็ก มีขดลวด วุ่นวายโกลาหล หรือ โซล่าร์เซลล์ ที่แปลงจากพลังงานแสง (โฟตอน) เป็นพลังงานไฟฟ้า ก็ไม่ได้สร้างกันได้ง่าย หรือ ลำโพงที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นเสียงในรูปแบบของความดันอากาศ ก็ต้องมีแม่เหล็ก มีขดลวด มีกรวยลำโพง ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ

ในขณะที่ สายอากาศแบบไดโพล แค่เอาลวดความยาวเหมาะสมมาสองเส้น ต่อสายนำสัญญาณเข้าไป ก็ใช้งานได้สมบูรณ์แล้ว ง่ายกว่าเยอะเลยจริงไหม

ของแท้ และไม่แท้

สายอากาศที่วางขายกันอยู่ มีมากมายหลายรูปแบบ หลายการออกแบบ ทั้งโครงสร้างทางไฟฟ้าและทางกายภาพ วัสดุที่หลากหลาย มีผู้ผลิตจำนวนมาก บ้างก็เป็นต้นตำรับการออกแบบและสร้างขึ้น บ้างก็เป็นผู้ที่ลอกเลียนแบบเอาดื้อๆ ในขณะที่บางเจ้าก็เอามาดัดแปลงแก้ไขอีกนิดๆ หน่อยๆ แล้วขายในชื่อเดิม (ที่ไปลอกเขามานั่นล่ะ) หรือตั้งเป็นยี่ห้อตราสินค้าใหม่ของตัวเองก็มี จนบางทีเราแยกของแท้ หรือ ไม่แท้ ออกจากกันได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยแยกแยะได้คือเรื่องของ ราคา คุณภาพวัสดุ และความเป็นเจ้าของการออกแบบภายใต้ตราสินค้านั้นเป็นคนแรก ก็คงพอจะถือได้ว่าเป็นของต้นตำรับ (Original, Genuine)

ของตัวอย่าง#1 (ราคา 400 บาท)

ไม่นานมานี้ผมสั่งซื้อสายอากาศชัก (บางคนเรียก สไลด์ แต่คำภาษาต่างประเทศที่ถูกต้องคือ Telescopic) จากต่างประเทศมาต้นหนึ่ง (สารภาพตามตรงว่า 3 ต้นด้วยซ้ำ) ด้วยเห็นว่าราคาไม่แพง ตกต้นละ 400 บาทเท่านั้น และที่ก้นของมันเป็นขั้วแบบ SMA-male (ตัวผู้) ที่ไขเข้ากับขั้วสายอากาศของเครื่อง Icom ID-51 ได้อีกด้วย ดูภาพที่ 1



ภาพที่ 1 สายอากาศ telescopic
ราคา 400 บาท ที่สั่งซื้อมาทดลอง
ที่ตัวซองและโคนสายอากาศระบุรุ่น
RH-770

ผมทดลองทดสอบการรับเทียบกับสายอากาศยางที่แถมมากับตัวเครื่อง Icom ID-51 โดยคร่าวๆ ได้ผลดีทีเดียว คือรับสัญญาณได้มากขึ้นประมาณ 3-4 S meter ซึ่งผมทราบจากการทดสอบก่อนหน้าแล้วว่า สำหรับเครื่อง Icom ID-51 ของผมนั้น 1 S meter  จะบอกความแรงสัญญาณต่างกันได้ประมาณ 2.2 dB ดังนั้น 3-4 S meter ที่ต่างกันก็คงเป็นสัญญาณที่ต่างกันประมาณ 6.6 - 8.8 dB (ในทิศทาง/มุม ของคู่สถานีที่ผมทดสอบด้วย) เลยเชียว

สายอากาศ ราคา 400 บาทนี้ทำงานได้ดี คุณภาพการสร้างถือว่าดีพอใช้ การรูด ดึง เข้าออกของท่อนต่างๆ ถือว่าแน่นหนาพอสมควร แม้จะไม่ราบรื่นแบบไร้ที่ตินัก เมื่อใส่สายอากาศเข้ากับเครื่องวิทยุ Icom ID-51 แล้ว จะเหลือช่องว่างระหว่างโคนของสายอากาศกับตัวเครื่องนิดหน่อย (ประมาณ 1.5 มม.)  วิธีแก้ไขของผมก็คือ ทำแหวนพลาสติกเล็กๆ อันหนึ่ง ติดอีพ็อกซีไว้ที่ฐานของสายอากาศชัก เมื่อไขเข้าไปจึงแนบสนิทได้ (ดูภาพที่ 2 และ วิดิโอ 1)




ภาพที่ 2 สายอากาศ#1
ไม่สามารถไขลงสุดให้ฐาน
แนบกับตัวเครื่องได้

วิดิโอ 1 เมื่อไขจนสุดเกลียว (ที่ทำไว้)
แล้ว สายอากาศ#1 จะไขลงไม่สุด


ด้านไฟฟ้า ผมลองวัด VSWR ของสายอากาศ#1 ได้ผลออกมาเป็นในภาพที่ 4 และ 5 จะเห็นว่าในย่าน VHF ได้ค่าที่น่าพอใจทีเดียว ในขณะที่ย่าน UHF ถือว่า "พอใช้" อย่างไรก็ตาม เน้นตรงนี้อีกสักครั้งว่า ค่าของ VSWR อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับความสามารถในการ รับ/ส่ง ของสายอากาศนั้นก็ได้นะครับ เพราะเรื่องความสามารถในการ รับ/ส่ง เราต้องทดสอบคนละวิธีการกัน (เช่น ทดสอบด้วยการใช้งานจริง หรือวัดด้วย Field Strength Meter)


ภาพที่ 3 VSWR ที่ความถี่ย่าน
2 เมตร ของสายอากาศ#1


ภาพที่ 4 VSWR ที่ความถี่ย่าน
70 เซนติเมตร ของสายอากาศ#1

ของตัวอย่าง#2 (ราคา 1,200 บาท)

หลังการหลงไหลได้ปลิ้มกับสายอากาศราคา 400 บาทที่ซื้อมา (สายอากาศ#1) ที่ทั้งถูก และใช้งานได้ดี ผมก็ช้อปปิ้งออนไลน์ต่อ จนพบสายอากาศหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่ราคากลับต่างกันมาก แถมเขียนไว้ว่า Genuine (ของแท้) ด้วย ในราคาประมาณ 1,200 บาท แว่บแรกก็คือในใจว่า เอ๊ะ หรือนี่จะเป็นของแท้จริงๆ ที่ของเรา 400 บาทที่ซื้อมานั้นไปลอกเลียนหรือก้อปปี้เอามาทำขายเอาตรงๆ แล้วถ้า 400 บาทมันดีขนาดที่ได้ทดลองใช้มาแล้ว (บอกตรงๆ ว่าพอใจมาก) เจ้า 1,200 บาทนี่มันจะเลอเลิศขนาดไหน ว่าแล้วก็ คลิกๆๆ เงินไป รอของอีกสองสัปดาห์ ก็ส่งมาถืง

เปิดซองที่แพ็คมาอย่างแน่นหนา (มีสายอากาศอันเดียวนั่นแหละ แหม ตั้ง 1,200 บาท จะทำเท่สั่งมา 3 อันแบบตอน 400 บาทก็คงไม่ไหวมั้ง) แว่บแรกที่เห็น เฮ้ย ซองเล็กกว่าแฮะ ดูภาพที่ 5 แล้วตัวสายอากาศล่ะ มันจะเท่ากันไหมเนี่ย (คิดมากไปหรือเปล่าเรา)


ภาพที่ 5 เปรียบเทียบซองของ
สายอากาศ#1 ราคาถูก (บน) และ
#2 Genuine ราคาสูง (ล่าง)
 จะเห็นว่าของราคาสูง ซองเล็กกว่า

ถ้าเทียบขนาดแล้ว จะเห็นว่าของแพงกว่านั้นมีขนาดเมื่อหดลงสุด "สั้นกว่า" อันที่ถูกกว่าเล็กน้อย (ดูภาพที่ 6) แต่เมื่อยืดทุกท่อนของสายอากาศทั้งสองออกจนหมด ขนาดจะเท่ากันพอดีเป๊ะ และหลังจากทดลอง ดึง ดัน ยืด หด อยู่สองสามครั้ง พบว่าสายอากาศ#2 (ราคา 1,200 บาท) แน่นหนาแต่ลื่นไหลได้ราบเรียบกว่า การเคลือบผิวของสายกาศ (โครเมี่ยม) สายอากาศทีแพงกว่าดูหนากว่า

ภาพที่ 6 ขนาดของตัวสายอากาศ
#1 ของราคาถูก (บน) และ #2
Genuine ซึ่งราคาสูงกว่า (ที่โคน
ของสายอากาศระบุ RH-770S)
จะเห็นว่าเมื่อหดสั้นสุดจะยาวไม่เท่ากัน

สายอากาศ#2 ที่ดูเป็นสายาอากาศต้นฉบับ (Genuine) มีราคาสูงกว่า เมื่อติดตั้งเข้ากับเครื่องวิทยุ Icom ID-51 จะสามารถไขสายอากาศลงไปได้สุด ฐานของสายอากาศแนบสนิทกับตัวเครื่องวิทยุ ทำให้รับแรงที่มากระทำได้ดีกว่า ดูภาพที่ 7 และ วิดิโอ 2

ภาพที่ 7 สายอากาศ#2 Genuine
สามารถไขเข้ากับขั้วของ Icom ID-51
ได้สุด ทำให้สนิทแน่น รับแรงได้ดี
โดยไม่ต้องหาแหวนพลาสติกมารอง


วิดิโอ 2 สายอากาศ#2 ที่ราคาสูงกว่า
สามารถไขลงได้สนิทแนบแน่น ดูแล้ว
แข็งแรงกว่า


ลองเอาสายอากาศ#2 ที่ราคาสูงกว่า มาวัด VSWR ปรากฏว่า ที่ย่านความถี่ 2 เมตร VSWR ดูสูงกว่าสายอากาศต้นที่ถูกกว่าเล็กน้อย  แต่จุดที่มี VSWR ต่ำสุดอยู่ที่ความถี่ประมาณ 147MHz และค่าต่ำมาก (ดูภาพที่ 8) และเมื่อวัดที่ความถี่ย่าน 70 เซนติดเมตร ค่า VSWR กลับดูสูงกว่าของสายอากาศ#1 ที่ราคาถูกกว่าอยู่พอควร  (ดูภาพที่ 9)


ภาพที่ 8 VSWR ที่ความถี่ย่าน
2 เมตร ของสายอากาศ#2


ภาพที่ 9 VSWR ที่ความถี่ย่าน
70 เซนติเมตร ของสายอากาศ#2

อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบการใช้งานสายอากาศ#1 (400 บาท) กับสายอากาศ#2 (1,200 บาท) ในการใช้งานจริงในย่าน 2 เมตร ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ดูวิดิโอที่ 1



วิดิโอที่ 1 การทดสอบสายอากาศ
#1 และ #2 พบว่าใช้งานได้ดีพอกัน
และดีกว่าสายอากาศยางที่มากับเครื่อง
Icom ID-51 อย่างชัดเจน

สรุป

ด้วยโครงสร้างที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก ทำให้การสร้าง และผลการใช้งานสายอากาศทั้งสองแบบ (ที่มีราคาต่างกันมาก) ไม่ต่างกันจนสังเกตเห็นได้ ในขณะที่สายอากาศต้นที่ราคาต่ำกว่าอาจจะให้ผลการวัด VSWR ดูจะดีกว่าในย่าน UHF ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามนี่อาจจะเป็นผลจากการสุ่มตัวอย่างได้มาซึ่งของที่ ดี/ไม่ดี จำเพาะที่เป็นตัวอย่างที่นำมาทดลองนี้ก็ได้ ข้อดีของสายอากาศตามตัวอย่างในต้นที่ราคาสูงกว่า มีคุณภาพการผลิตดีกว่า และเมื่อติดตั้งเข้าไปกับเครื่อง Icom ID-51 แล้วจะแนบแน่นสนิทกับตัวเครื่อง ไม่ต้องรองแหวนให้วุ่นวาย การตัดสินใจเลือกใช้ก็แล้วแต่นักวิทยุสมัครเล่นแต่ละท่านครับ

แล้ว พบกันใหม่ในเรื่องดีๆ ที่จะนำมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันอีกในคราวต่อๆ ไปครับ
73 DE HS0DJU (จิตรยุทธ จุณณะภาต)