วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กิจการวิทยุสมัครเล่นคืออะไร

กิจการวิทยุสมัครเล่นคืออะไร

หลายคนอาจจะเคยหรืออาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า "กิจการวิทยุสมัครเล่น" เลยก็ได้ บางคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้แต่ก็เป็นคำไม่เต็มเช่น นักวิทยุ หรือวิทยุสมัครเล่น เป็นต้น ในบทความเรื่องนี้เราจะได้มาคุยกันว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นนั้นที่แท้จริงนั้นคืออะไร

โดยทั่วไปแล้วถ้าเราพูดถึง วิทยุ ก็คือการติดต่อสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นตัวนำพาข้อมูลต่างๆ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมามีการทดลองมากมายตั้งแต่ เฮิรทซ์ (Heinrich Rudolf Hertz) ที่เป็นผู้ที่ค้นพบคลื่นไฟฟ้าเป็นคนแรก จนกระทั่ง มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) นำมาประยุกต์ใช้ในการติดต่อสื่อสารในระยะไกลได้เป็นครั้งแรก จนกระทั่งวิทยุสื่อสารถูกพัฒนามาหลายครั้งหลายครา ก็มีนักประดิษฐ์ที่ค้นคว้าและทดลองควบคู่กันมาอยู่ตลอด จวบจนวิทยุสามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ก็มีคนกลุ่มที่สนใจในวิทยาการนี้รวมตัวกัน เล่น ทอลองวิทยุ จนรวมตัวกันเป็นนักสมัครเล่นในแต่ละประเทศก็จะมีคนที่มีใจรักในเรื่องนี้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ละประเทศจึงมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อบริหารและดูแลการใช้ความถี่และกิจกรรมต่างๆ ของบุคคลเหล่านี้กันเอง ในประเทศไทยเดิมทีก็มีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ดูแลวิทยุสมัครเล่นจนกระทั่งในปัจจุบันผู้ที่ดูแลเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ นั่นเอง

วิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย

บรรดาผู้ที่สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่น ได้แก่ เจ้าหน้าที่สถานฑูตอเมริกา ทหาร ข้าราชการพลเรือน ได้รวมตัวก่อตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2507 แต่ในสมัยนั้นก็ยังไม่ได้มีการให้อนุญาตประชาชนคนทั่วไปได้ใช้วิทยุสื่อสารได้อย่างเสรีด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง (ในเวลานั้น มีผู้ก่อการร้ายอยู่ในหลายพื้นที่) ต่อมาในปี 2524 พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอให้พระองค์ท่านทรงมีพระราชวินิจฉัย ให้ภาคประชาชนสามารถใช้วิทยุสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ต้องแอบซ่อน ซึ่งท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสั่งว่า "ก็ดีสิ พวกเขาจะได้ภาคภูมิใจ" ทำให้ต่อมา พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ ได้ตั้ง ชมรมวิทยุอาสาสมัคร (VR คือ Voluntary Radio) ขึ้น ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ได้มีการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สมัยนั้นเรียกว่าต้องสอบกันด้วยคำตอบแบบเขียนบรรยาย ไม่ใช่เลือกคำตอบที่ถูกแบบในปัจจุบันนี้ และต้องผ่านการสอบประวัติจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติและจากกรมตำรวจ เรียกว่าเมื่อสอบผ่านแล้ว กว่าจะสอบประวัติกันเสร็จ ต้องรอกันข้ามเดือนหรือครึ่งค่อนปีกันเลยทีเดียว และในวันที่ 5 ธันวาคม 2524 กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้มีโครงการทดลองให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นโดยเปิดข่ายวิทยุอาสาสมัครขึ้นโดยเรียกว่า นักวิทยุอาสาสมัคร หรือ VR และผู้ที่จะเป็นสมาชิกจะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นด้วยนั่นเอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2530 กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ เรียกว่าถูกต้องตามกฏหมายอย่างแท้จริง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ซึ่งออกเป็นระเบียบของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530 ระเบียบนี้ทำให้ต้องมีการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เป็นตามสากล คือขึ้นต้นสัญญาณเรียกขานว่า HS ซึ่งหมายถึงประเทศไทย (ถ้าใครเคยขึ้นเครื่องบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น เครื่องของการบินไทย ก็จะเห็นว่ามีสัญญาณเรียกขานขึ้นต้นด้วย HS พ่นไว้ที่ปีกเช่นกัน) ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนระบบของสัญญาณเรียกขานจาก VR แล้วตามด้วยตัวเลขเป็น HS แล้วตามด้วยตัวเลขที่ระบุเขตของนักวิทยุสมัครเล่น แล้วตามด้วยตัวอักษรอีกสองหรือสามตัว โดยเว้นตัวอักษรสองตัวที่ขึ้นต้นด้วย A ไว้เป็นสัญญาณเรียกขานของสถานีควบคุมข่าย) ทำให้ VR001 เปลี่ยนเป็น HS1BA เรื่อยไป (VR คนสุดท้ายคือ VR2953)

ในประเทศไทยก็คล้ายกับอีกหลายประเทศในโลกนี้คือมีการแบ่งระดับชั้นของนักวิทยุสมัครเล่น ออกเป็นหลายระดับ สำหรับประเทศไทยแล้วเราแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวก ความปลอดภัย และความสามารถในการดูแลการใช้ความถี่ ได้อย่างเหมาะสม
  • ขั้นต้น
สามารถใช้ความถี่รับ/ส่งในย่าน VHF (144.000 - 146.000 MHz) และรับฟังในย่าน UHF บางความถี่ได้ (ดูข้อ ๒.๓ ในราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗)
  • ขั้นกลาง
สามารถ ใช้ความถี่ทั้งหมดที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นสามารถใช้ได้และเพิ่มเติมด้วยความถี่ในย่าน HF อีกหลายความถี่ ซึ่งความถี่ในย่าน HF นี้สามารถใช้ติดต่อพูดคุยได้กับนักวิทยุอื่นทั่วโลก (ดูประกาศ ราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ด้านล่าง) การสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางในประเทศไทยจะมีการสอบการฟังรหัสมอร์สด้วย
  • ขั้นสูง
การสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเไทยเมื่อ 18 มิถุนายน 2559 ผู้ผ่านการสอบและแจ้งเลื่อนขั้นเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงจะสามารถใช้คลื่นความถี่ทั้งหมดที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางใช้และยังสามารถใช้กำลังส่งได้สูงกว่าที่นักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางสามารถใช้ได้ ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดใน ราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ด้านล่าง

ราชกิจจานุเบกษา ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗


ผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภท ต่าง ๆ จะต้องสอบได้ประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภทนั้น ๆ หรือ มีประกาศนียบัตรที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (เมื่อก่อนเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข) เทียบเท่า และยื่นขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นจาก กสทช. ซึ่งจะได้สัญญาณเรียกขานของประเทศไทย และสามารถใช้ความถี่ในย่านวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย

กิจการสากล

เนื่องจากการติดต่อทางคลื่นความถี่วิทยุ ในหลายโอกาสสามารถติดต่อได้ข้ามประเทศ ดังนั้นจึงมีการรวมตัวและควบคุมดูแลเพื่อให้นักวิทยุที่อยู่ในแต่ละประเทศมีระบบระเบียบในรูปแบบเดียวกัน ระบบระเบียบเหล่านี้มีรูปแบบอันเป็นสากลนั่นคือแทบทุกประเทศในโลกนี้มีองค์กรกลางที่ล้วนเป็นสมาชิกและรับรู้ระบบระเบียบที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในโลกนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ทำให้แทบทุกประเทศในโลกนี้มี "กิจการวิทยุสมัครเล่น" จะยกเว้นก็เพียงสองประเทศคือ เยเมน และ เกาหลีเหนือ เท่านั้นที่ไม่มีกิจการนี้ นั่นแปลว่าเมื่อเราเป็นนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยแล้วเราก็มีเพื่อนที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นอยู่อีกมากมายทั่วทั้งโลกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆ ประเทศ ยังมีข้อตกลงระหว่างกันทำให้นักวิทยุที่มีใบอนุญาตในประเทศหนึ่งสามารถขอใบอนุญาตในระดับเดียวกันกับประเทศที่มีข้อตกลงต่อกันได้อีกด้วย เช่น ประเทศไทยเองก็มีข้อตกลงเช่นนี้กับอีก 10 ประเทศ

วัตถุประสงค์ของกิจการวิทยุสมัครเล่น

แทบทุกประเทศในโลกนี้ล้วนมีกิจการวิทยุสมัครเล่น (จะเว้นก็เพียบสองประเทศดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น) และมักมีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน ในประเทศไทยแล้วกิจการวิทยุสมัครเล่นมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  1. เสริมสร้างประโยชน์ต่อสังคมและความปลอดภัยของชาติ
  2. ใช้เป็นข่ายสื่อสารสาธารณะสำรองในยามฉุกเฉินหรือเกิดภัยพิบัติ
  3. พัฒนาความรู้ด้านวิชาการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ
  4. ฝึกฝนพนักงานวิทยุให้มีความรู้ความชำนาญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
  5. เพิ่มพูนจำนวนพนักงานวิทยุสำรองไว้ใช้ประโยชน์ยามฉุกเฉิน
  6. สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยุระหว่างประเทศ

กิจกรรมของนักวิทยุสมัครเล่น

การเป็นนักวิทยุสมัครเล่นนั้นไม่จำเป็นว่าจะจำกัดกิจกรรมที่ทำอยู่แต่เพียงการพูดคุยทางวิทยุเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งอื่นๆที่อยู่รอบข้างด้วยเช่น
  • การประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อใช้งานเอง
บางครั้งเราอาจจะต้องการอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่มีรูปแบบการทำงานพิเศษเฉพาะที่ไม่สามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป นักวิทยุสมัครเล่นหลายคนมีความสามารถในการออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์เหล่านี้เขาก็สามารถทำขึ้นใช้เองเพื่อสนองความต้องการได้
  • การออกแบบระบบสื่อสารให้ทำงานได้ในแบบที่ต้องการ
หลายครั้งเราไม่ได้ติดต่อสื่อสารเฉพาะเสียงพูดคุยเท่านั้นแต่ยังมีการติดต่อสื่อสารในรูปแบบอื่นเช่นข้อมูลตัวเลขปริมาณต่างๆ ที่เราสามารถส่งผ่านโดยใช้คลื่นวิทยุได้เช่นระดับน้ำ อุณหภูมิ ตำแหน่ง ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม เป็นต้น และเมื่อเราสามารถส่งข้อมูลต่างๆ นอกจากข้อมูลเสียงพูดไม่ได้แล้วเราย่อมสามารถนำสิ่งเรานั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกมากมายทั้งการเฝ้าระวังไปจนกระทั่งถึงการควบคุมและพยากรณ์สิ่งต่างๆ ในอนาคต
  • การออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์ทางกลเพื่อใช้ประกอบกับสถานีวิทยุสมัครเล่น
สถานีวิทยุสมัครเล่นนั้นประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลายชนิดมากมายตั้งแต่ ตัวเครื่องวิทยุ แหล่งจ่ายไฟ สายนำสัญญาณ สายอากาศ อุปกรณ์ปรับความต้านทานของสายอากาศ และอื่นๆ ในหลายกรณีนักวิทยุสมัครเล่นต้องการที่จะมีอุปกรณ์เหล่านั้น ที่ทำงานได้ถูกต้องตรงใจของตัวเองคือไม่สามารถหาซื้อได้จากที่ใด หรือแม้แต่ต้องการสร้างขึ้นใช้เอง พวกเขาก็จะประดิษฐ์คิดทำขึ้นเอง
  • การแข่งขันต่างๆ เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น
นอกจากการใช้งานพูดคุยหรือส่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการแข่งขันในการติดต่อสื่อสารหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับสถานีที่อยู่ทางไกล หรือติดต่อสื่อสารให้ได้สถานีมากที่สุด ติดต่อสื่อสารกับสถานีที่อยู่ในหลายพื้นที่ให้ได้มากที่สุด หรือติดต่อสื่อสารในรูปแบบของเสียง ข้อมูลดิจิตอล หรือการใช้รหัสมอร์ส ไปจนกระทั่งการแข่งขันหาทิศทางของคลื่นวิทยุ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นกิจกรรมที่มีส่วนประกอบรอบข้างมากมาย ทั้งต้องใช้ความรู้ในการใช้งานวิทยุสื่อสารรวมทั้งได้ความรู้จากการใช้งานระบบสื่อสารไปในเวลาเดียวกัน

จำนวนของนักวิทยุสมัครเล่นไทย

ถ้าพูดถึงจำนวนของนักวิทยุสมัครเล่นแล้วประเทศไทยนับได้ว่าเรามีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว เรามีนักวิทยุสมัครเล่นจำนวนมากเป็นอันดับที่สามรองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น

บทบาทต่อสังคมของนักวิทยุสมัครเล่นไทย

เนื่องจากนักวิทยุสมัครเล่นมีความสามารถพิเศษในด้านการติดต่อสื่อสาร มีความรู้ มีความสามารถใช้งานเครื่องรับวิทยุ สามารถตั้งและดูแลสถานีวิทยุสมัครเล่นเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ในระยะทางไกล ด้วยประสิทธิภาพที่สูง มีความสามารถในการตั้งสถานีนอกพื้นที่ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือในยามเกิดภัยพิบัติ หลายครั้งจึงมีโอกาสรับใช้สังคมไม่ว่าจะครั้งคราวเกิดพายุเกย์เมื่อปี พศ.ศ 2532 หรือน้ำท่วมเมื่อปี 2538 และ 2554 เป็นต้น

นักวิทยุสมัครเล่นในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน นักวิทยุสมัครเล่นก็ยังคงพัฒนาปรับปรุงการสื่อสาร และระบบต่างๆ ที่อยู่รอบข้างระบบสื่อสาร เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ไว้ใจได้ สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็ว ถูกต้อง อย่างไม่หยุดยั้ง ในหลายกรณีสิ่งต่างๆ ที่นักวิทยุสมัครเล่นทดสอบ ทดลองเล่นๆ เป็นงนอดิเรกยังได้ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปอีกเยอะมาก

ความภาคภูมิใจของนักวิทยุสมัครเล่นไทย

นอกจากความสนใจในเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ การช่วยเหลือสังคมแล้ว นักวิทยุสมัครเล่นไทยยังมีความภาคภูมิใจที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทยยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในกิจการวิทยุสมัครเล่นและมีพระปรีชาเป็นอย่างยิ่ง กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้ทูลเกล้าฯถวายสัญญาณเรียกขาน "VR009" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2524 ซึ่งด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คณะกรรมการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยุอาสาสมัคร ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง และสัญญาณเรียกขาน HS1A แด่พระองค์ท่านในเวลาต่อมา

เมื่อปี 2539 มีเหตุวาตภัยเกิดขึ้นในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีนักวิทยุสมัครเล่นต้องการออกไปช่วยเหลือประชาชน และติดต่อเข้ามายังศูนย์สายลม เพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเตรียมการต่างๆ ในขณะนั้น HS1A ทรงติดต่อเข้ามาเพื่อแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้อาสาสมัครในการออกไปช่วยเหลือประชาชน ทรงกล่าวว่า

“สิ่งสำคัญ คือ การไม่เข้าไปเป็นภาระของคนในพื้นที่ พร้อมเตรียมระบบเครื่องมือสื่อสารที่มีความพร้อม ด้วยการนำวิทยุในรถยนต์ไปติดตั้งในตัวเมือง โดยให้หาพื้นที่สูงติดกับเสาสัญญาณ เพื่อให้นักวิทยุที่เข้าไปในพื้นที่สามารถติดต่อออกมาได้”

พระองค์ท่านยังให้คำแนะนำถึงขั้นต้องเตรียมเรื่องแบตเตอรี่สำรองว่าต้องมีฉนวนหุ้มแบตเตอรี่ป้องกันไม่ให้โดนโลหะหรือเศษสตางค์ทำให้เกิดการลัดวงจรซึ่งจะทำให้ไม่มีพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้อีกด้วย

ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ สัญญาณจากฟ้า

โดยปกติแล้ว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี นักวิทยุสมัครเล่นจะร่วมกันถวายพระพรให้กับ HS1A ผ่านความถี่วิทยุสมัครเล่น ซึ่งในบางปีหลังจากที่นักวิทยุสมัครเล่นร่วมกันถวายพระพรเสร็จสิ้น และมีการกล่าวสรุปจำนวนนักวิทยุที่มาร่วมถวายพระพร หลังจากนั้นพระองค์ท่านได้ติดต่อเข้ามาและมีพระราชดำรัสขอบใจนักวิทยุที่มาอวยพรวันเกิดให้กับพระองค์ท่าน ซึ่งทุกคนตื่นเต้นดีใจที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการวิทยุสมัครเล่นตลอดมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 VR009
ทรงพระราชทานคำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุสายลม


อยากเป็นนักวิทยุสมัครเล่นทำอย่างไร

สำหรับท่านที่สนใจ ต้องการเป็นนักวิทยุนสมัครเล่นของไทย ทางราชการก็มีระเบียบในการกำหนดไว้ดังนี้
  1. มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่นที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด
  2. ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกให้ หรือเทียบเท่า
  3. สำหรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ผู้เข้าสอบจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ใน 4 หมวดวิชาคือ
วิชาที่ 1 ความรู้ทั่วไป กฎหมาย จริยธรรม ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น
วิชาที่ 2 การติดต่อสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่น รหัสและคำย่อต่างๆ การออกเสียงอักษร การจดบันทึกการสื่อสาร
วิชาที่ 3 ทฤษฎีต่างๆ สำหรับนักวิทยุสมัครเล่น เช่น ทฤษฎีไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ การทำงานของเครื่องรับ-ส่งวิทยุสื่อสาร สารอากาศและสายนำสัญญาณ การเดินทางของคลื่นวิทยุ เป็นต้น
วิชาที่ 4 หลักปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่น ด้านต่างๆ เช่นความปลอดภัย การใช้เครื่องมือวัด ความรู้ด้านการรบกวนของคลื่นวิทยุ
วิชาที่ 5 คุณธรรมและจริยธรรมของนักวิทยุสมัครเล่น

และภายหลังจากเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแล้ว ก็สามารถสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง และขั้นสูง ในลำดับต่อๆ ไปสำหรับท่านที่สนใจ ต้องการเป็นนักวิทยุสมัครเล่น หรือเป็นอยู่แล้วและต้องการเพิ่มพูนความรู้ ก็สามารถติดต่อเราเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้นะครับ

QRU 73
HS0DJU / KG5BEJ (จิตรยุทธ จุณณะภาต)